องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยถึงกรณีการพบผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 จำนวน 2 รายในกัมพูชาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เชื้อไวรัสที่ตรวจพบจัดอยู่ในกลุ่ม 2.3.2.1c ซึ่งมีลักษณะเป็นไวรัสประจำถิ่น แพร่ระบาดภายในประเทศหรือพื้นที่หนึ่ง โดยมีความคล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ที่แพร่ระบาดในสัตว์ปีกแถบอาเซียน ตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งแตกต่างจากเชื้อกลุ่ม 2.3.4.4b ที่พบการแพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศแถบตะวันตก
โดย WHO ยังระบุอีกว่า กัมพูชาเคยรายงานถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกภายในประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2003 ก่อนที่จะมีรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนกตามมาเป็นระยะๆ จนถึงปี 2014 ซึ่งกรณีการตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่ในครั้งนี้ นับเป็นการตรวจพบการติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ในมนุษย์ครั้งแรกในรอบ 9 ปีของกัมพูชา
หนึ่งในผู้ป่วยไข้หวัดนกเป็นเด็กหญิงวัย 11 ปี ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดไพรแวง ทางตอนใต้ของกัมพูชา โดยตรวจพบการติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนที่จะเข้ารักษาอาการปอดอักเสบรุนแรงที่โรงพยาบาลเด็กแห่งชาติ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์
เบื้องต้นมีการตรวจหาการติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ในผู้ใกล้ชิดเด็กหญิงรายดังกล่าวทั้งหมด 12 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ 8 รายไม่มีอาการใดๆ ขณะที่อีก 4 รายมีอาการต้องสงสัย โดยพบว่าพ่อของเด็กหญิงรายนี้ตรวจพบการติดเชื้อไข้หวัดนก แต่ไม่มีการแสดงอาการใดๆ อีกทั้งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าติดเชื้อด้วยวิธีการใด ขณะที่อีก 11 รายที่เหลือ มีผลตรวจหาการติดเชื้อไวรัส H5N1 และ SARS-CoV-2 เป็นลบ ไม่พบการติดเชื้อแต่อย่างใด
WHO เผยว่า นับตั้งแต่ปี 2003 จนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2023 กัมพูชารายงานการตรวจพบผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 ทั้งหมด 58 ราย เสียชีวิต 38 ราย คิดเป็น 66% ของผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบทั้งหมด โดยผู้ป่วย 9 รายและเสียชีวิต 7 ราย เกิดขึ้นในปี 2003-2009 ขณะที่ผู้ป่วย 47 รายและเสียชีวิต 30 ราย เกิดขึ้นในปี 2010-2014 ส่วนสถิติผู้ป่วยไข้หวัดนกทั่วโลกอยู่ที่ 873 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 458 ราย พบการรายงานใน 21 ประเทศ
โดย WHO คาดการณ์ว่า การตรวจพบการติดเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงอาจทำให้พบการติดเชื้อในมนุษย์เพิ่มขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกในมนุษย์ที่สามารถใช้กันได้อย่างแพร่หลาย WHO จึงแนะนำให้ทุกคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับนกหรือสัตว์ปีก ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เพื่อลดความเสี่ยงหากติดเชื้อหวัด
ภาพ: Tang Chhin Sothy / AFP
อ้างอิง: