×

เอ็มดีใหม่ ‘GGC’ ประกาศทุ่ม 2.5 พันล้านบาท ลุยธุรกิจใหม่ ‘กลุ่มปลายน้ำ’ ต่อยอดฐานธุรกิจเดิม หวังปั้น EBITDA แตะ 3 พันล้านบาทใน 3 ปี

23.02.2023
  • LOADING...
กฤษฎา ประเสริฐสุโข

เอ็มดีใหม่ ‘บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล’ หรือ GGC เปิดกลยุทธ์ใหม่ ประกาศรุกธุรกิจ ‘กลุ่มปลายน้ำ’ ทุ่มเงินลงทุนปีนี้ 2.5 พันล้านบาท หวังต่อยอดฐานธุรกิจเดิม หวังปั้น EBITDA ใน 3 ปีโต 2 เท่า แตะ 3 พันล้านบาท พร้อมตั้งเป้าปี 2573 ดัน EBITDA โตเพิ่มเป็น 5 พันล้านบาท

 

กฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ GGC เปิดเผยว่า บริษัทวางกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ คือ ‘The New Chapter of GGC to be the Sustainable Growth Business’ โดยตั้งเป้าหมายจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA) ใน 3 ปีข้างหน้า หรือปี 2569 เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.7 พันล้านบาท เพิ่มเป็นประมาณ 3 พันล้านบาท และตั้งเป้าหมายในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 5 พันล้านบาท โดยมีปัจจัยสร้างการเติบโตจากแผนที่จะขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจกลุ่มใหม่ๆ ที่เป็นปลายน้ำมากขึ้น ซึ่งมีอัตรากำไรสูงกว่าธุรกิจหลักเดิมของบริษัทคือธุรกิจต้นน้ำ หรือเป็นธุรกิจโภคภัณฑ์ (Commodity)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ทั้งนี้ ธุรกิจกลุ่มใหม่จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

 

  1. กลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel Business)  
  2. ธุรกิจเคมีชีวภาพ (Biochemical Business) 
  3. ธุรกิจส่วนประกอบอาหารและโภชนเภสัช (Food Ingredient & Nutraceutical Business) 

 

โดยในปี 2573 ตั้งเป้าหมายสัดส่วนของ EBITDA ที่มาจากธุรกิจกลุ่มใหม่ๆ อยู่ที่ประมาณ 60% จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 10-15% โดยลดสัดส่วน EBITDA จากกลุ่มธุรกิจ Commodity ลงเหลือสัดส่วนประมาณ 40% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 85-90%   

 

สำหรับงบลงทุนในปีนี้บริษัทตั้งไว้ที่ประมาณ 2.5 พันล้านบาท โดยจัดสรร 2 พันล้านบาทสำหรับรองรับการลงทุนในธุรกิจ 3 กลุ่มใหม่ ซึ่งเป็นการลงทุนที่จะใช้เงินลงทุนไม่สูง เนื่องจากเป็นการต่อยอดจากฐานธุรกิจเดิมที่สามารถนำผลิตภัณฑ์เดิมของบริษัทที่ผลิตได้มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าปลายน้ำ ส่วนงบลงทุนที่เหลืออีก 500 ล้านบาท จะใช้สำหรับการซ่อมบำรุงและปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงงานเดิม

 

สำหรับรายละเอียดการลงทุนกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ มีดังนี้ 

 

ธุรกิจกลุ่มที่ 1 คือเชื้อเพลิงชีวภาพ ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนในธุรกิจผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (Biojet Fuels) เพื่อเป็นการสนับสนุนน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels) 

 

ปัจจุบันมีการพิจารณาอยู่ 2 ทางเลือก คือ 1. การใช้น้ำมันพืชเหลือใช้แล้วจากการทำอาหาร 2. การใช้เอทานอลที่บริษัทสามารถผลิตเอง ซึ่งกำลังศึกษาถึงความเหมาะสม ทั้งในด้านของตลาดและเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการผลิต โดยจะมีการร่วมมือกันกับ บมจ.ปตท. หรือ PTT ที่ผลิตน้ำมันอากาศยานอยู่แล้ว โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนของข้อสรุปการลงทุนได้ภายในปีนี้ 

 

ธุรกิจกลุ่มที่ 2 คือธุรกิจเคมีชีวภาพ บริษัทมีแผนงานจะขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมากขึ้น เช่น ไบโอพลาสติก (Biodegradable Plastic) คือ พลาสติกจะผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ  อีกทั้งยังเดินหน้าขยายโครงการ ‘นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์’ เฟส 2 ที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปี 2567 และสามารถทดสอบระบบของโรงงงานได้ จากนั้นจะสามารถผลิตสินค้าและรับรู้รายได้เข้ามาในปี  2567 

 

ธุรกิจกลุ่มที่ 3 คือธุรกิจส่วนประกอบอาหารและโภชนเภสัช ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรต่างชาติราว 2-3 ราย เพื่อร่วมกันศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน ทั้งในกลุ่มสินค้ายา เครื่องสำอาง และอาหารเสริม โดยมีการศึกษาทั้งแนวทางในการสร้างแบรนด์สินค้าเอง หรือรับจ้างผลิต (OEM) โดยคาดว่าจะเห็นข้อสรุปความชัดเจนในช่วงไตรมาส 3/66 ซึ่งเป็นการต่อยอดเพื่อให้สามารถเข้าใกล้กลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น 

 

กฤษฎากล่าวต่อว่า ปริมาณขายรวมทุกผลิตภัณฑ์ในปีนี้จะเติบโตขึ้นจากปีก่อนที่ 4.35 แสนตันต่อปี โดยธุรกิจไบโอดีเซล (B100) จะเติบโต 20-30% จากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นจากนโนบายสนับสนุนไบโอดีเซลจากรัฐบาล ขณะที่ธุรกิจแฟตตี้แอลกอฮอล์ (FA) ปริมาณขายปีนี้จะทรงตัวจากปีก่อน เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตของบริษัทใช้เต็มกำลัง 100% อยู่แล้ว 

 

“กรณีที่รัฐบาลประกาศปรับสูตรราคาไบโอดีเซล B100 จะมีผลให้ราคาประกาศปรับลดลงนั้น การบริหารจัดการของบริษัทในปีที่ผ่านมา บริษัทเคยให้ส่วนลดกับลูกค้าผู้ขายน้ำมันที่ค่อนข้างสูง แต่จากนี้ไปบริษัทก็จะให้ส่วนลดแบบสมเหตุสมผลมากขึ้น เพื่อทำให้ส่วนต่างราคาขายของบริษัทยังรักษาระดับไว้ให้สอดคล้องกับช่วงที่ผ่านมาได้ ส่วนกรณีที่มีการปรับค่าการตลาดของดีเซลให้ดีขึ้น เข้าใจว่าบริษัทน้ำมันจะได้ประโยชน์ส่วนนี้ไป ในส่วนของ GGC ไม่ได้กระทบโดยตรง” 

 

ขณะที่ราคาแฟตตี้แอลกอฮอล์ (FA) ในปีนี้จะเห็นการผันผวน หลังจากปีที่แล้วราคาปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรงอยู่ที่ประมาณ 2,000 ดอลลาร์ต่อตัน จากซัพพลายที่ไม่เพียงพอ แต่ในปีนี้ผู้ผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์ (FA) ที่เคยหยุดไปก่อนหน้านี้จะกลับมาผลิต ส่งผลให้มีซัพพลายกลับมาเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น และอาจจะมีปัจจัยกดดันจากภาพรวมเศรษฐกิจรวมที่เป็นช่วงสภาวะถดถอยกดดันภาพรวมของราคาแฟตตี้แอลกอฮอล์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X