ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในหลากมิติ สะท้อนได้จากผลการดำเนินงานที่สามารถทำกำไรสุทธิได้สูงถึง 14,195 ล้านบาท เติบโตแบบก้าวกระโดดขึ้น 36% จากปีก่อนหน้า อีกทั้งยังสามารถบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ได้ดี จนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้เสียปรับลดลงจาก 2.98% มาอยู่ที่ 2.73% ถือเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
ด้านความแข็งแกร่งและเสถียรภาพทางการเงิน ttb ยังมีความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงและเป็นลำดับต้นๆ ของอุตสาหกรรม โดยอัตราส่วน CAR และ Tier 1 ณ สิ้นปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20.0% และ 16.3% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5%
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb เล่าถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD ว่า เป็นผลมาจากการวางกลยุทธ์ของธนาคารที่มุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย และการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ไปพร้อมๆ กับการดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางในเชิงรุก จนทำให้พอร์ตสินเชื่อมีคุณภาพดี หนี้เสียลดลง และทำให้ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ ลดลง จนหนุนให้ผลกำไรและสถานะทางการเงินของธนาคารเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
“หนทางสู่ความสำเร็จของเราไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ระหว่างทางมีทั้งอุปสรรคและความท้าทายให้ต้องฟันฝ่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโควิดได้สร้างผลกระทบต่อลูกค้าธนาคารในวงกว้าง ขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีก็ทำให้เราต้องเร่งลงทุนและพัฒนาด้านดิจิทัล ทั้งสองเรื่องนี้ถือเป็นโจทย์ที่เราต้องเผชิญไปพร้อมๆ กับการรวมกิจการ แต่เราก็สามารถผ่านมาได้” ดร.เอกนิติ ระบุ
เดินหน้าสร้าง Financial Well-being
ดร.เอกนิติ กล่าวว่า วิสัยทัศน์ที่ ttb ยึดมั่นมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาคือ การเป็นธนาคารที่สร้างชีวิตทางการเงินที่ดีให้กับคนไทยทั้งประเทศ หรือ ‘The Bank of Financial Well-being’ เนื่องจากธนาคารเชื่อว่า สุขภาพทางการเงินที่ดีในทุกวัน คือพื้นฐานสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของชีวิตทุกคน
ประธานกรรมการ ttb เปิดเผยว่า ในช่วงที่สถานการณ์โควิดแพร่ระบาดรุนแรง ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าทั้งกลุ่มธุรกิจและรายย่อยไปมากกว่า 750,000 ราย และในปี 2566 นี้จะเดินหน้าให้ความช่วยเหลือต่อ โดยเน้นไปที่การรวบหนี้ (Debt Consolidation) บัตรเครดิต หรือ Personal Lone (P-Loan) ด้วยสินเชื่อบ้านแลกเงินหรือสินเชื่อรถแลกเงิน เพื่อลดภาระอัตราดอกเบี้ยของลูกหนี้ลงจากปัจจุบัน
“ที่ผ่านมารวบหนี้ให้ลูกค้าไปแล้ว 1,700 ราย ช่วยประหยัดดอกเบี้ยไปได้ราว 240 ล้านบาท ปีนี้เราจะผลักดันเรื่องนี้ต่อ โดยใช้จุดแข็งของเราคือการมีฐานสินเชื่อรถยนต์และบ้านที่มีขนาดใหญ่” ดร.เอกนิติ กล่าว
อีกหนึ่งภารกิจเพื่อช่วยให้ลูกค้าและคนไทยมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ซึ่ง ttb จะผลักดันควบคู่กันไปในปีนี้คือ การให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) โดยปัจจุบันธนาคารได้ทำอยู่ในหลายช่องทาง เช่น โครงการ fintips by ttb ที่เป็นแหล่งรวมเคล็ดลับทางการเงินสำหรับกลุ่มคนเจน Y และคนรุ่นใหม่ บนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของ ttb และโครงการ finbiz by ttb ที่เน้นเสริมความรู้ทางธุรกิจแบบเจาะลึกให้กับลูกค้า SMEs
ด้านความคุ้มค่าของการเป็นลูกค้า ttb ดร.เอกนิติ กล่าวว่า ธนาคารมุ่งส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้า ต่อยอดจากที่ได้นำเสนอมาแล้วก่อนหน้านี้ เช่น บัญชี ttb all free ผลิตภัณฑ์เงินฝากที่มอบความคุ้มครองชีวิตและอุบัติเหตุฟรีให้กับผู้ที่มีเงินฝากในบัญชีตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าที่ได้รับความคุ้มครองนี้อยู่ราว 2 ล้านรายแล้ว
นอกจากนี้ธนาคารยังตั้งเป้าจะใช้ข้อมูลต่างๆ ที่มีทั้งภายในและภายนอกธนาคารในการวิเคราะห์ลูกค้าแต่ละราย (Data Driven Approach) เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมผ่านช่องทางดิจิทัล พร้อมกับนำจุดแข็งที่มีในแต่ละด้านของผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อขยายธุรกิจที่ตอบโจทย์ลูกค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ มนุษย์เงินเดือน คนมีรถ และคนมีบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ธนาคารมุ่งจะสร้างชีวิตทางการเงินให้ดีขึ้นในปี 2566
เตรียมพร้อมรับมือคู่แข่งใหม่
ดร.เอกนิติ เปิดเผยว่า ในปีนี้ ttb มีแผนจะใช้งบลงทุนด้านดิจิทัลแบงกิ้งไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท หลังจากในปีที่ผ่านมาธนาคารได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน ttb touch พร้อมปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจ โดยจัดตั้งทีม ttb spark เพื่อเสริมแกร่งบริการด้านดิจิทัล
“ยุทธศาสตร์ระยะปานกลางถึงระยะยาวของเราจะยังเน้นเรื่อง Digital-First Experience และจะเลือกทำในสิ่งที่เราชำนาญ โดยในปีนี้จะมีการเปิดตัว Ecosystem Play ซึ่งจะเป็นบริการทางการเงินที่ครบวงจรสำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ มนุษย์เงินเดือน คนมีรถ และคนมีบ้าน” ดร.เอกนิติ กล่าว
ประธานกรรมการ ttb ยังระบุด้วยว่า ธนาคารได้ศึกษาเรื่อง Virtual Bank หรือธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ที่จะเข้ามาเพิ่มการแข่งขันในระบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ามาระยะหนึ่งแล้ว โดยพบว่า ต้นทุนต่อรายได้ หรือ Cost to Income ของ Virtual Bank โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 30-40% ขณะที่ต้นทุนต่อรายได้ในปัจจุบันของ ttb อยู่ที่ 45% ทำให้ธนาคารต้องเร่งปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต
“การรวมกิจการทำให้เกิด Cost Synergy ทำให้ค่าใช้จ่ายดำเนินงานของธนาคารปรับตัวลดลง แต่ก็ยังสูงกว่าของ Virtual Bank ดังนั้นเรื่อง Cost Synergy จะเป็นสิ่งที่เราต้องเดินหน้าต่อ โดยเราคาดหวังจะใช้ความเข้มแข็งของ Ecosystem Play เป็นตัวช่วยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน” ดร.เอกนิติ ระบุ
ดร.เอกนิติ กล่าวอีกว่า จุดเด่นของ Virtual Bank คือความรวดเร็วและคล่องตัวในการปรับตัว จึงเชื่อว่าการตั้งทีมดิจิทัล ttb spark และ ttb spark academy ออกมาจะทำให้ ttb ปรับตัวได้เร็วขึ้นและแข่งขันได้ ขณะเดียวกันยังมองว่าธนาคารแบบดั้งเดิมยังมีข้อได้เปรียบ Virtual Bank ในแง่ของเครือข่าย
“ภาพของโลกการเงินในอนาคตจะเปลี่ยนไป การแข่งขันจะสูงขึ้นจากการเข้ามาของ Virtual Bank เราจึงต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้ การแข่งขันถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันทำให้เราต้องปรับตัวและผู้ที่ได้ประโยชน์คือลูกค้า ซึ่งตอบโจทย์เรื่องการเป็นธนาคารที่ต้องการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยของเรา” ประธานกรรมการ ttb กล่าว
สู่ธนาคารเพื่อความยั่งยืน
นอกจากกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแล้ว กระแสเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ถูกวางไว้ในยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนองค์กรของ ttb
ดร.เอกนิติ ระบุว่า ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะผนวกแนวคิดความยั่งยืนเข้ากับการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน และต้องมั่นใจว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนต่างได้รับทั้งผลประโยชน์และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบจากการดำเนินธุรกิจของธนาคาร โดยปัจจุบันธนาคารมีกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืน 4 ด้าน ดังนี้
ความยั่งยืนทางธุรกิจ
ธนาคารมีแผนจะเปลี่ยนผ่านไปสู่โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การเติบโตทางการเงินในระยะยาวและปลูกฝังการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบ โดยมีลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจด้วยแนวคิด Make REAL Change ธนาคารต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตของลูกค้าดีขึ้น โดยส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านดิจิทัลแบงกิ้ง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมในแต่ละช่วงชีวิต
ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ธนาคารมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้จัดสรรเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ด้วยหลักการธนาคารเพื่อความยั่งยืน ธนาคารได้นำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มาร่วมพิจารณาในการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สินเชื่อสีเขียว สินเชื่อสีฟ้า สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ตราสารหนี้สีเขียว และตราสารหนี้สีฟ้า
“ttb ถือเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของไทยที่ออกตราสารหนี้สีเขียวและสีฟ้า (Green Bond & Blue Bond) โดยในปีที่ผ่านมาเรามีการออกตราสารหนี้ทั้งสีเขียวและสีฟ้ารวมกัน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสามารถปล่อยสินเชื่อสีเขียวในปีที่ผ่านมาได้มากกว่า 13,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ 4,500 ล้านบาท” ประธานกรรมการ ttb ระบุ
ความยั่งยืนด้านสังคม
ttb มองว่า สังคมที่ยั่งยืนสำหรับธนาคารคือ การดูแลพนักงานของตัวเองให้มีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน เสริมสร้างความรู้ทางการเงินให้สังคมมีสุขภาพการเงินที่ดี และมีการส่งเสริมการเข้าถึงทางการเงิน รวมถึงพัฒนาสังคม ชุมชนและเยาวชน
บรรษัทภิบาลและจรรยาบรรณทางธุรกิจ
การกำกับดูแลด้วยคุณธรรมและจริยธรรมและการบริหารจัดการความเสี่ยงเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และสร้างความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือของธนาคาร อีกทั้งธนาคารยังให้ความสำคัญกับการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า
“ด้วยยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน รวมถึงการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราเชื่อมั่นว่า ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb จะสามารถเดินหน้าสู่ธนาคารที่เป็นผู้นำด้านการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งในวันนี้และอนาคต” ดร.เอกนิติ กล่าวสรุป