×

นายกสมาคมวิศวกรฯ วิเคราะห์เหตุอาคารก่อสร้างย่านพระราม 9 ทรุดตัว อาจเกิดจากระบบค้ำยันมีปัญหา-สร้างโดยวิธีลัด

โดย THE STANDARD TEAM
13.02.2023
  • LOADING...

วันนี้ (13 กุมภาพันธ์) อมร พิมานมาศ ศาสตราจารย์สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ได้วิเคราะห์บทเรียนทางวิศวกรรมและแนวทางแก้ปัญหาจากเหตุอาคารถล่มซ้ำซาก จากเหตุการณ์อาคาร 5 ชั้นถล่มระหว่างก่อสร้างชั้นดาดฟ้า (ชั้นที่ 5) ของอาคารย่านพระราม 9 จนทำให้มีผู้บาดเจ็บเมื่อวานนี้ (12 กุมภาพันธ์)

 

อมรกล่าวว่า อาคารหรือโครงสร้างถล่มระหว่างก่อสร้างไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง จนเรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่ซ้ำซาก เช่น การพังถล่มของนั่งร้านก่อสร้างโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งแถวถนนพระรามที่ 4 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หรือชิ้นส่วนสะพานกลับรถถนนพระรามที่ 2 หล่นลงมาในเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งมีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

 

สำหรับเหตุการณ์อาคาร 5 ชั้นล่าสุดนี้ สังเกตจากการก่อสร้างอาคารข้างเคียงในโครงการเดียวกันพบว่าระบบโครงสร้างอาคารเป็นพื้นไร้คาน ซึ่งจุดอ่อนของโครงสร้างระบบนี้มักอยู่ตรงที่ข้อต่อระหว่างพื้นกับเสา สังเกตได้จากการพังถล่มที่เกิดขึ้น พื้นหลุดแยกจากเสาแล้วถล่มลงมากองข้างล่าง การพังถล่มเกิดขึ้นในระหว่างที่เทคอนกรีตชั้นที่ 5 จึงมีข้อสันนิษฐานสาเหตุทางวิศวกรรมได้หลายปัจจัย แต่ทั้งนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุป เช่น

 

  1. จำนวนนั่งร้านและค้ำยันไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำหนักคอนกรีตได้
  2. การติดตั้งหรือประกอบค้ำยันไม่ครบทุกชิ้นส่วนหรือไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน
  3. ประเภทของค้ำยันไม่เหมาะสมต่อการรับน้ำหนักคอนกรีต
  4. ฐานรองรับค้ำยัน (พื้นที่อยู่ชั้นถัดลงไป) ยังไม่แข็งแรงหรือยังไม่ได้อายุ
  5. การเทคอนกรีตกระจุกตัว คนงานเกลี่ยกระจายน้ำหนักคอนกรีตไม่ทัน
  6. ขั้นตอนการก่อสร้างถูกต้องตามแบบหรือการก่อสร้างลัดขั้นตอนหรือไม่
  7. การออกแบบและการใช้วัสดุที่เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่

 

ดังนั้นสาเหตุที่ทำให้อาคารถล่มจะเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือหลายสาเหตุร่วมกัน จะต้องรวบรวมข้อมูลหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป

 

อมรกล่าวต่อไปว่า ในทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การออกแบบและการก่อสร้างอาคารที่สูง 5 ชั้น เข้าข่ายเป็นวิศวกรรมควบคุม จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 และกฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดว่าสำหรับการก่อสร้างอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป หรือโครงสร้างของอาคารที่ชั้นหนึ่งชั้นใดมีความสูงตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป หรืออาคารที่มีช่วงคานตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไป จะต้องมีวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกรมาทำการออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง โดยวิศวกรออกแบบจะต้องได้รับใบอนุญาตระดับสามัญวิศวกรขึ้นไป และวิศวกรคุมงานจะต้องได้รับใบอนุญาตระดับภาคีวิศวกรขึ้นไป หากวิศวกรละเลยในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักวิชาการก็อาจมีความผิดทางจรรยาบรรณ และอาจได้รับโทษสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาต นอกเหนือจากการได้รับโทษทางแพ่งและอาญา

 

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา อมรกล่าวว่า การก่อสร้างย่อมมีมาตรฐานในการทำงาน และการก่อสร้างอาคาร 5 ชั้นในระบบพื้นไร้คานก็ไม่ได้ถือว่าซับซ้อนมาก และที่ผ่านมามีการก่อสร้างอาคารลักษณะนี้มาแล้วเป็นจำนวนมาก ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ โดย

 

  1. วิศวกรที่เกี่ยวข้องจะต้องบังคับใช้มาตรฐานทางวิศวกรรมอย่างเคร่งครัด
  2. ผู้ประกอบการจะต้องจัดหาทรัพยากร เช่น นั่งร้านและค้ำยันให้เพียงพอ และควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับแรก
  3. หน่วยงานภาครัฐจะต้องตรวจตราหรือจัดนายตรวจสุ่มตรวจสถานที่ก่อสร้างที่เสี่ยงจะไม่ปลอดภัย และสั่งระงับการก่อสร้างหากตรวจพบ
  4. องค์กรทางวิชาชีพจะต้องกำกับการทำงานของวิศวกร และดำเนินการทางจรรยาบรรณแก่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหลักวิชาชีพหรือละเลยต่อการทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X