*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์เรื่อง Tár*
หลังจากห่างหายไปเกือบ 2 ทศวรรษ สำหรับผู้กำกับมากวิสัยทัศน์ Todd Field ที่หวนคืนสู่จอเงินอีกครั้งพร้อมกับภาพยนตร์ลำดับ 3 อย่าง Tár ที่ล่าสุดส่งให้ตัวเขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม เคียงคู่กับ Cate Blanchett นักแสดงหลักของเรื่องที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำหญิง
นอกจากนี้ Tár ยังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม กำกับภาพยอดเยี่ยม และลำดับภาพยอดเยี่ยมอีกด้วย
แม้จะเป็นผู้กำกับที่ไม่ได้มีผลงานออกมาให้คนดูได้เชยชมบ่อยนัก เพราะนับตั้งแต่ที่เขาเริ่มวาดฝีไม้ลายมือในฐานะผู้กำกับ ชื่อของ Field กลับปรากฏให้เห็นอยู่บนจอภาพยนตร์ก่อนหน้านี้เพียงแค่ 2 เรื่องเท่านั้น ซึ่งก็คือ In the Bedroom ในปี 2001 และ Little Children ในปี 2006
แต่หากมองดูจากผลลัพธ์และรายชื่อรางวัลที่เข้าชิงต่างๆ ก็คงกล่าวได้อย่างไม่เกินจริงว่าถึงแม้ Field จะเป็นผู้กำกับที่นานทีปีหนจะโผล่มาสักครั้ง แต่ผลงานของเขาล้วนเต็มไปด้วยคุณภาพและมนตร์เสน่ห์บางอย่างที่ชวนให้ผู้ชมได้ขบคิดกันอย่างลุ่มลึกอยู่เสมอ ซึ่งผลงานเรื่องล่าสุดอย่าง Tár ก็เป็นดั่งใบเบิกทางที่อัดแน่นด้วย ‘ความคิด’ และ ‘วิธีการ’ ของตัวเขาเอง
แม้ผลงานของ Field ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาที่แตกต่างกันไปคนละทิศทาง แต่แง่หนึ่งที่มักจะถูกถ่ายทอดออกมาอยู่เสมอคือ เรื่องของความไม่เพียบพร้อมในตัวมนุษย์ หรือหากกล่าวอย่างรวดเร็ว ผลงานของเขาส่วนใหญ่มักพาคนดูไปสำรวจและตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ ศีลธรรม ไปจนถึงกรอบบรรทัดฐานของสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งรวมไปถึงผลงานเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Tár ด้วยเช่นกัน
เรื่องราวของภาพยนตร์ว่าด้วย Lydia Tár (Cate Blanchett) วาทยากรสาวอัจฉริยะผู้มีชื่อเสียง จนใครหลายคนต่างคิดว่าในอนาคตเธออาจขึ้นมาเทียบเคียงกับ Gustav Mahler หรือ George Szell ได้อย่างไม่ยากเย็น แต่แล้วสิ่งที่ Field พาผู้ชมไปสำรวจกลับหาใช่จุดสูงสุดของตัวเธอ แต่เป็น ‘จุดสิ้นสุด’ และ ‘ร่วงหล่น’ ของวาทยากรสาวผู้นี้
หากมองเผินๆ ตัวละครอย่าง Lydia อาจเป็นวาทยากรมากความสามารถที่ทุกคนต่างก็ให้การยอมรับ แต่อีกด้านเธอก็ใช้ความสามารถที่มีเสริมสร้าง ‘อำนาจ’ ให้กับตัวเอง และใช้สิ่งนั้นกับผู้ที่ต่ำต้อยกว่าตนด้วยการดูถูกเหยียดหยาม ไม่สนใจความรู้สึก ไปจนถึงล่อลวงเด็กสาวภายในวงออร์เคสตราของตัวเอง
แต่สิ่งที่ Field นำเสนอกลับไม่ใช่การตัดสินว่าตัวละครอย่าง Lydia เป็นคนที่ดีหรือไม่ดี ตรงกันข้ามเขาเลือกที่จะพาผู้ชมเข้าไปสำรวจถึงรากลึกภายในตัวของวาทยากรสาว ควบคู่ไปกับคำนิยามของ ‘อำนาจ’ ที่มีอยู่ในทุกยุคทุกสมัย ผ่านบทสนทนาที่เกิดขึ้นภายในเรื่องอย่างใกล้ชิดแทน
ฉากแรกเริ่มของเรื่องที่บอกเล่าถึงสรรพคุณของ Lydia ควรจะเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในฐานะความสำเร็จของเธอ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งผู้ชมก็น่าจะสัมผัสได้ว่าบทสนทนาที่เกิดขึ้นอยู่บนเวทีอาจไม่ได้มีแค่เรื่องของความสำเร็จเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการเสียดสีและเหน็บแหนมผู้ที่ด้อยกว่าผ่านคำพูดของเธอด้วย
นอกจากนี้ยังมีหลายฉากที่หญิงสาวมักจะใช้อำนาจบาตรใหญ่ของตัวเองโดยที่ไม่สนใจใยดีผู้อื่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวเธอพร้อมที่จะบดขยี้ความรู้สึกของคนคนหนึ่งได้มากแค่ไหนในวันที่เธอมีอำนาจ แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายของเรื่องก็ล้วนเป็นผลพวงที่เกิดจากการใช้อำนาจเพื่อตัวเองด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนตั้งคำถามกลับมายังคนดูถึงความไม่จีรังของอำนาจที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด และผลพวงจากการใช้สิ่งเหล่านั้นเพื่อตัวเองก็อาจมีบทสรุปที่ดูตกต่ำจนน่าใจหาย
ไม่เพียงเท่านั้น คำถามสำคัญจริงๆ คือการที่เราจะสามารถยอมรับในตัวตนของศิลปินคนหนึ่งได้มากแค่ไหน หากศิลปินคนนั้นมีรสนิยมชมชอบความรุนแรง เหยียดเชื้อชาติ ไปจนถึงล่อลวงเยาวชน ฯลฯ ผลงานของเขาจะยังมีคุณค่าอยู่หรือไม่ และถึงที่สุดเราจะสามารถแยะแยะความต่างระหว่าง ‘ความสามารถ’ กับ ‘พฤติกรรมอันด่างพร้อย’ ได้มากเพียงใด
และไม่ว่าคำตอบ ‘ส่วนบุคคลของผู้ชม’ จะเป็นเช่นไร สิ่งหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือการแสดงของ Cate Blanchett ในบทบาทของ Lydia Tár ที่เรียกได้ว่าน่าจดจำและมีเสน่ห์อย่างถึงที่สุด เพราะการแสดงของเธอทำให้คนดูสัมผัสได้ถึงความอันตรายบางอย่างที่ถูกซุกซ่อนเอาไว้อยู่ภายใน โดยที่ยังคงความเป็นธรรมชาติและสมจริงได้อย่างน่าประทับใจราวกับเธอเป็นตัวละครนั้นจริงๆ
ถึงแม้ Tár จะมีวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่ค่อย ‘ประนีประนอม’ กับคนดูนัก แต่หากมองลึกลงไป เรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นกับตัวของวาทยากรสาวอย่าง Lydia หรือคนรอบข้าง ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงบริบทสังคมในยุคปัจจุบันได้อย่างคมคาย
โดยเฉพาะเมื่อคนที่อยู่บนยอดพีระมิดใช้ ‘อำนาจ’ ในการกระทำบางสิ่งบางอย่างที่สังคมไม่อาจยอมรับ แต่จนแล้วจนรอดสุดท้ายการกระทำเหล่านั้นก็ส่งผลย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองจนทุกสิ่งทุกอย่างที่สั่งสมมาพังทลายหายสิ้นไปในชั่วข้ามคืน และสุดท้ายเราในฐานะคนในสังคมก็อาจจะต้องเป็นคนตัดสินคุณค่าของพวกเขาด้วยตัวของเราเองไม่วันใดก็วันหนึ่ง
Tár เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่างได้ที่