เหตุการณ์สำคัญช่วงท้ายของหนังเรื่อง The Fabelmans ผลงานล่าสุดของ Steven Spielberg ยืนยันข้อเท็จจริงที่แฟนๆ ของคนทำหนังเจ้าของฉายาพ่อมดฮอลลีวูดน่าจะรับรู้กันถ้วนหน้าอยู่แล้วว่า ถ้าหากจะมีคนทำหนังที่เจ้าตัวได้รับอิทธิพลทั้งความนึกคิดและจิตวิญญาณมากกว่าเพื่อน ใครคนนั้นก็คือ John Ford ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นคนทำหนังอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล และ Spielberg ก็หยิบยืมทั้งสไตล์การนำเสนอ แนวคิดเรื่องเส้นขอบฟ้า รวมถึงฉากบางฉากจากหนังหลายเรื่องของ Ford มาแทรกไว้ในหนังของตัวเอง
The Man Who Shot Liberty Valance (1962)
และหนังของ John Ford เรื่องหนึ่งที่ดูเหมือน Spielberg ยึดโยงกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะมันถูกเลือกไปอ้างถึงในหนังอย่างน้อยสองเรื่อง อันได้แก่ Munich (2005) และสดๆ ร้อนๆ The Fabelmans ก็คือหนังบุกเบิกตะวันตกเรื่อง The Man Who Shot Liberty Valance (1962) ซึ่งลองนึกเล่นๆ ความชื่นชอบนี้น่าจะไม่ได้ปราศจากเหตุผล เป็นไปได้ว่าหนังของ Ford เรื่องนี้น่าจะมีส่วนไม่มากก็ไม่น้อยในการหล่อหลอมฟูมฟัก หรือแม้กระทั่งปลูกฝังความคิดให้เขาค้นพบตัวเอง และบางที นั่นเป็นเหตุผลที่นำพาให้ Spielberg พูดถึงหนังของ Ford เรื่องนี้อย่างมีความหมายพิเศษใน The Fabelmans
สั้นๆ ง่ายๆ The Man Who Shot Liberty Valance เล่าเรื่องนักกฎหมายหนุ่มที่เดินทางจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกด้วยหวังว่าเขาจะช่วยเปลี่ยนชุมชนเล็กๆ ให้หลุดพ้นจากบ้านป่าเมืองเถื่อน แต่จนแล้วจนรอด เขาไม่เพียงถูกอันธพาลเจ้าถิ่นที่ชื่อ Liberty Valance (Lee Marvin) ลงไม้ลงมือสะบักสะบอม ปืนและการใช้กำลังยังคงเป็นระบบกฎหมายและวิถีปฏิบัติของดินแดนแห่งนี้ แต่ก็นั่นแหละ ชื่อหนังก็ให้เงื่อนงำที่น่าฉงนสนเท่ห์และแอบซ่อนปริศนาโดยอ้อม และเมื่อเรื่องสิ้นสุดลง พระเอกของเราผู้ซึ่งรูปโฉมภายนอกดูปวกเปียกอ่อนแอ กลับถูกกล่าวขวัญในฐานะผู้สยบจอมวายร้ายลงได้อย่างราบคาบ
ว่าไปแล้ว ฉากที่ตัวเอกของเรื่อง Sammy Fabelman (Gabriel LaBelle) ต้องย้ายโรงเรียนใหม่และพบเจอกับพวกหัวโจกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา ก็นับเป็นสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างจากสิ่งที่นักกฎหมายหนุ่มข้างต้นต้องเผชิญ และประมวลความเป็นไปได้ แทบไม่มีทางที่เด็กเนิร์ดไม่สู้คนและไม่มีทักษะด้านกีฬาอย่างเขาจะกำราบนักบูลลี่เหล่านั้นได้อย่างไร แต่มองในมุมกลับ น่าเชื่อว่าลึกๆ แล้ว Sammy ก็คงจะมีหนังเรื่อง The Man Who Shot Liberty Valance เป็นเสมือนแรงบันดาลใจ และพูดแล้วก็พูดเลย บทสรุปของเหตุการณ์ดังกล่าวก็ลงเอยไปในทิศทางคล้ายคลึง
อย่างที่นักดูหนังคงรับรู้รับทราบ The Fabelmans ก็คือหนังอัตชีวประวัติของ Steven Spielberg นั่นเอง แม้ว่าเอาเข้าจริงๆ ตัวละครในเรื่องจะใช้ชื่อสมมติ นัยว่าเพื่อกันพื้นที่สำหรับการเสกสรรปั้นแต่งและจินตนาการ แต่สถานะของการเป็นร่างทรงหรืออวตารของบรรดาตัวละครก็ต่อติดและเชื่อมโยงกับบุคคลเป็นจริงอย่างง่ายดายและแทบไม่มีอะไรบิดพลิ้ว
ข้อน่าสังเกตก็คือ ในฐานะคนทำหนัง ‘ประพันธกร’ ผู้ซึ่งมีทั้งสไตล์และลายเซ็นที่เป็นตัวเองตั้งแต่เริ่มต้น หนังของ Spielberg แทบทุกเรื่องล้วนแล้วมีส่วนเสี้ยวของความเป็นอัตชีวประวัติ ไม่โดยตรงก็อ้อม แต่ประเด็นก็คือ ขณะที่หนังเหล่านั้น (Duel, Jaws, Close Encouters of the Third Kind, E.T. the Extra-Terrestrial, Empire of the Sun, Catch Me If You Can, Indiana Jones the Last Crusade ฯลฯ) ดำรงอยู่ได้ด้วยคุณค่าต่างๆ นานาของตัวมันเอง (แนวเรื่องและตัวเรื่องที่บอกเล่า, มายากลทางด้านภาพยนตร์, ต้นฉบับที่ใช้ดัดแปลง ฯลฯ) The Fabelmans น่าจะมีสถานะที่แตกต่างออกไป พูดอีกอย่างก็คือ สมมติว่านี่เป็นเพียงแค่หนังที่เล่าเรื่องของเด็กหนุ่มสักคนที่ตกหลุมรักการทำหนัง และไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ Spielberg คุณค่า ความหมาย ตลอดจนพลังงานของหนังก็คงจะลดน้อยถอยลงไปเยอะทีเดียว
เพราะอย่างนี้นี่เอง The Fabelmans จึงเป็นหนังที่แนบแน่นกับความเป็น Steven Spielberg มากที่สุด (และเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่เขามีเครดิตเขียนบท) และอย่างหนึ่งที่แน่ๆ มันไม่ใช่หนังที่สร้างเพื่อเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ของคนทำหนังที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลก อันที่จริงแล้ว มันคือการเดินทางของคนทำหนังสูงวัยย้อนกลับไปสำรวจบาดแผล ความเจ็บปวดขื่นขมในช่วงชีวิตที่เพิ่งเริ่มต้น และการที่เจ้าตัวไม่เพียงค้นพบว่าภาพยนตร์สามารถใช้เป็นเครื่องเยียวยาความโศกเศร้าและชอกช้ำได้น่าอัศจรรย์ หนุ่มน้อยยังได้เรียนรู้ว่าในท่ามกลางชีวิตที่วายป่วงและควบคุมไม่ได้ นี่เป็น ‘โลก’ ใบที่เขาสามารถเจ้ากี้เจ้าการให้ทุกสิ่งเป็นไปตามที่ออกแบบและจัดวาง ไล่เรียงตั้งแต่การกำหนดรถไฟเด็กเล่นประสานงาตอนไหนและอย่างไร จนถึงการเปลี่ยนให้ไอ้หนุ่มห่วยแตกที่พบเจอกลายเป็น ‘พระเอกรูปงาม’
มีฉากเล็กๆ ช่วงต้นเรื่องที่ Mitzi (Michelle Williams) แม่ของ Sammy (ซึ่งก็คือแม่ของ Spielberg นั่นแหละ) ผู้ซึ่งบุคลิกของเธอเต็มเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา ต้องหัวเสียในทันทีที่ Burt (Paul Dano) สามีของเธอบอกว่าเขาได้งานใหม่และครอบครัวต้องย้ายข้ามประเทศจากนิวเจอร์ซีย์ไปแอริโซนา และวิธีที่เธอใช้เบี่ยงเบนความโกรธ (และโศกเศร้า) ก็ด้วยการชวนลูกๆ ขับรถออกนอกบ้านเพื่อไปตามล่าพายุทอร์นาโดซึ่งกำลังอาละวาดไม่ใกล้ไม่ไกลพอดี (ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีแม่ดีๆ ที่ไหนเขาทำกัน) ประเด็นก็คือฉากนี้จบลงอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยเมื่อ Mitzi ต้องยอมจำนนต่อสถานการณ์ และสิ่งที่เธอได้แต่พูดสะกดจิตตัวเอง และยังขอให้เด็กๆ ร่วม ‘สวดภาวนา’ ไปด้วย ก็คือประโยคที่ว่า “Everything happens for a reason” หรืออีกนัยหนึ่ง ทุกอย่างที่อุบัติขึ้นล้วนมีเหตุผลแอบซ่อนอยู่เบื้องหลัง และนั่นรวมถึงเรื่องร้ายๆ ด้วยเช่นกัน
กล่าวสำหรับ Sammy (ซึ่งก็คือตัว Spielberg) เรื่องร้ายๆ ที่รุมเร้าไม่ได้จำกัดเฉพาะการต้องย้ายบ้านครั้งแล้วครั้งเล่า หรือการมีสถานะเป็นคนยิวเพียงหนึ่งเดียวของชุมชนและโรงเรียนซึ่งทำให้เขาตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจาก E.T. แต่ว่าไปแล้ว ‘พายุทอร์นาโด’ ลูกใหญ่ที่สุดที่เจ้าตัวต้องรับมือก็คือการได้พบว่าแม่มีคนอื่น และคนอื่นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เพื่อนสนิทของพ่อนั่นเอง มิหนำซ้ำ วิธีการค้นพบโดยบังเอิญก็ยิ่งทำให้หนุ่มน้อยอยู่ในภาวะน้ำท่วมปากอย่างเลี่ยงไม่ได้
ลองสมมติเล่นๆ ว่า Spielberg มีชีวิตที่สุขและทุกข์ตามอัตภาพเหมือนเด็กทั่วๆ ไป (และไม่ได้บ้านแตกสาแหรกขาดตามที่เกิดขึ้นในโลกความจริง) ผู้ชมจะได้ดูหนังที่ถ่ายทอดสภาวะโดดเดี่ยวและการถูกทอดทิ้งได้โน้มน้าวชักจูงและจับขั้วอารมณ์ความรู้สึกผ่านผลงานอย่าง E.T., Empire of the Sun, A.I. Artificial Intelligence, Catch Me if You Can, The Terminal ฯลฯ หรือไม่ หรือการที่เขาเติบโตโดยมีพ่อเป็นเนิร์ดวิทยาศาสตร์และแม่เป็นนักเปียโน มันส่งผลหรือไม่อย่างไรกับการเป็นคนทำหนังที่ฝีไม้ลายมือจัดจ้านและครบเครื่องทั้งในความเป็นช่างเทคนิคที่คล่องแคล่วและศิลปินที่ล้ำเลิศ
บางที ประโยคของ Mitzi ก็ไม่ได้ฟังดูสิ้นหวังเกินไป ทุกอย่างล้วนมีเหตุผลแอบซ่อน ทั้งเรื่องดีๆ และเรื่องแย่ๆ
และไหนๆ ก็ไหนๆ วัตถุพยานที่ใช้แสดงถึงความเป็นคนทำหนังที่ ‘ร่ายเวทมนตร์คาถาๆ ได้ราวพ่อมด’ ของ Spielberg ก็คือหนังของเขาทุกเรื่องนั่นเอง (ย้อนกลับไปถึงหนัง 8 มม. สมัครเล่น) และนั่นรวมถึง The Fabelmans ที่เล่าเรื่องซึ่งกินเวลาสองชั่วโมงครึ่งได้อย่างชนิดติดปีกโบยบิน หรืออีกนัยหนึ่ง คนดูไม่ได้อยู่ในฐานะคนเฝ้าสังเกตการณ์ แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่บอกเล่าและรู้สึกเกี่ยวข้องกับตัวละครอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
สองส่วนที่น่าพูดถึงเป็นพิเศษในแง่กลวิธีการนำเสนอของ The Fabelmans ได้แก่มุมมองที่คนทำหนังเลือกถ่ายทอด ซึ่งไม่เพียงแค่อบอุ่นและอ่อนโยน หากยังสะท้อนถึงการตกผลึกอย่างคนที่ผ่านร้อนหนาวมายาวนาน ข้อสำคัญ แทบไม่มีใครเป็นผู้ร้ายของเรื่อง นั่นรวมถึงตัวละครที่มีส่วนทำให้ชีวิตครอบครัวของเขาล่มสลาย อีกส่วนได้แก่การแสดงของนักแสดงทุกคน ซึ่งโดยอ้อม มันก็ไม่ใช่เครดิตของนักแสดงโดยลำพัง ต้องนับรวมผู้กำกับในฐานะวาทยากรผู้ควบคุมวง พูดง่ายๆ นอกจากไม่มีตัวโน้ตผิดเพี้ยน สรรพสำเนียงของทุกบันไดเสียงก็ยังไพเราะเพราะพริ้ง และแน่นอนว่าสองสามคนที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ก็คือ Gabriel LaBelle ที่ยิ่งดูก็ยิ่งเหมือน Spielberg และวิธีการแสดงออกของเขาก็ช่วยให้พวกเรามองเห็นตัวตนของผู้กำกับในแง่มุมที่คมชัด
อีกคนหนึ่งก็คือ Michelle Williams ผู้ซึ่งทำให้เชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยในบท ‘แม่ที่บ้าบอคอแตกที่สุดคนหนึ่งในโลกภาพยนตร์’ และความเป็นเด็กที่ไม่ยอมโตของเธอก็กลายเป็นดีเอ็นเอที่ส่งผ่านไปถึงลูกชาย
แต่ก็นั่นแหละ ตัวขโมยซีนจริงๆ ได้แก่ Judd Hirsch ในบุคลิกของตัวละครลึกลับที่จู่ๆ ก็โผล่มาแล้วก็จากไป และการใช้โมโนล็อกที่พรั่งพรูของคาแรกเตอร์นี้ (ซึ่งว่าไปแล้ว นี่เป็นหนึ่งในไม้ตายของ Spielberg มาแต่ไหนแต่ไร ย้อนกลับไปถึงฉากที่ Robert Shaw อวดบาดแผลจากปลาฉลามใน Jaws) ผ่านการแสดงที่ฉูดฉาดบาดตาของ Hirsch ซึ่งส่งให้เขาได้ชิงรางวัลออสการ์สมทบชายยอดเยี่ยม ก็บอกให้รู้ว่าชายชรามองเห็น Sammy ได้ทะลุปรุโปร่งมากกว่าที่หนุ่มน้อยมองเห็นตัวเอง และไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร บทชายชราเปรียบได้กับ Wake Up Call ที่กระทุ้งให้ Sammy ตระหนักว่าภาพยนตร์สำหรับเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่งานอดิเรกยามว่าง หรือเรื่องสนุกๆ ขำๆ อีกต่อไป
ในแง่ของสถิติตัวเลข The Fabelmans เป็นหนังยาวลำดับที่ 34 ของ Steven Spielberg ในช่วงวัย 76 ปี ดังที่เอ่ยถึงก่อนหน้า นี่ผลรวมของการทำหนังอันแสนนาน ถ้าเริ่มนับหนึ่งที่ Duel (1971) หนังยาวเรื่องแรก ระยะเวลาก็ราวๆ 51 ปี แต่สำรวจจากสิ่งที่ The Fabelmans บอกเล่า Sammy (หรือ Spielberg) เริ่มต้นทำหนังตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย หรือราว 12 ขวบ ตัวเลขต้องมากกว่าครึ่งศตวรรษแน่นอน ไม่มากไม่น้อย ถ้าจะมีสักประโยคที่ใช้สรุปความสัมพันธ์ที่ดูดดื่มและลึกซึ้งนี้อย่างรวบยอด ก็คงต้องขอยืมถ้อยคำของ อากิระ คุโรซาวะ คนทำหนังชั้นครูที่เคยพูดถึงตัวเอง มาใช้อธิบายในเชิงเทียบเคียง
และนั่นคือ ถ้าหากเอาตลอดทั้งชีวิตของ Steven Spielberg เป็นตัวตั้ง แล้วลบด้วยหนัง ผลลัพธ์ก็เท่ากับศูนย์
The Fabelmans (2022)
กำกับ: Steven Spielberg
ผู้แสดง: Michelle Williams, Paul Dano, Seth Rogen, Gabriel LaBelle, Judd Hirsch
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ภาพ: Universal Pictures