เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่สถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขัดข้อง ที่กระทบต่อการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ใน 4 ช่องทาง ประกอบด้วย โมบายล์แบงกิ้ง อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง เอทีเอ็ม และสาขา ในรอบปี 2565
จากการรวบรวมข้อมูลของ THE STANDARD WEALTH พบว่า ในภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์มีการขัดข้องรวมกันทั้งสิ้น 89 ครั้ง คิดเป็นระยะเวลารวมกัน 204 ชั่วโมง แบ่งเป็นระบบโมบายล์แบงกิ้งขัดข้อง 65 ครั้ง นาน 158 ชั่วโมง, อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง 4 ครั้ง นาน 11 ชั่วโมง, เอทีเอ็ม 11 ครั้ง นาน 13 ชั่วโมง และสาขา 12 ครั้ง นาน 22 ชั่วโมง
โดยเมื่อแยกเป็นรายธนาคารพบว่า ธนาคารที่มีปัญหาระบบขัดข้องมากที่สุดคือ ธนาคารทหารไทยธนชาต รวมตลอดปี 2565 ขัดข้อง 30 ครั้ง รวมระยะเวลาขัดข้องสูงถึง 96 ชั่วโมง แบ่งเป็นระบบโมบายล์แบงกิ้งขัดข้อง 22 ครั้ง นาน 87 ชั่วโมง, อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง 2 ครั้ง นาน 5 ชั่วโมง, เอทีเอ็ม 3 ครั้ง นาน 2 ชั่วโมง และสาขา 3 ครั้ง นานรวม 2 ชั่วโมง
ตามมาเป็นอันดับ 2 คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ มีปัญหาระบบล่มรวม 18 ครั้ง รวมเป็นระยะเวลา 16 ชั่วโมง โดยทั้งหมดเป็นการขัดข้องของระบบโมบายล์แบงกิ้ง ขณะที่อันดับ 3 ตกเป็นของธนาคารกรุงไทย ที่ตลอดทั้งปีเกิดระบบขัดข้องรวม 13 ครั้ง คิดเป็นระยะเวลา 19 ชั่วโมง แบ่งเป็น ระบบโมบายล์แบงกิ้ง 9 ครั้ง นาน 13 ชั่วโมง, ตู้เอทีเอ็ม 2 ครั้ง นาน 3 ชั่วโมง และสาขา 2 ครั้ง นาน 3 ชั่วโมง
อย่างไรก็ดี ในอีกมุมหนึ่งก็มีธนาคารที่ดูแลระบบได้ค่อนข้างดี มีปัญหาน้อยเช่นกัน โดยพบว่าในปีที่ผ่านมา ธนาคารเกียรตินาคินภัทรไม่มีปัญหาระบบล่มเลยแม้แต่ครั้งเดียว ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยมีปัญหาระบบโมบายล์แบงกิ้งขัดข้องเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในช่วงต้นปี
หากนำตัวเลขของปี 2565 ไปเทียบกับสถิติในปี 2564 ที่ THE STANDARD WEALTH ได้เคยรวบรวมไว้ จะพบว่าปัญหาระบบโมบายล์แบงกิ้งขัดข้องมีความถี่และระยะเวลาเพิ่มขึ้นจาก 59 ครั้งต่อ 112 ชั่วโมง เป็น 65 ครั้งต่อ 158 ชั่วโมง ขณะที่ปัญหาระบบขัดข้องในด้านอื่นปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน โดยปัญหาระบบอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งลดลงจาก 17 ครั้งต่อ 43 ชั่วโมง เหลือ 4 ครั้งต่อ 11 ชั่วโมง ส่วนปัญหาเอทีเอ็มขัดข้องลดลงจาก 18 ครั้งต่อ 31 ชั่วโมง เหลือ 11 ครั้งต่อ 13 ชั่วโมง
ทั้งหมดนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการทำธุรกรรมการเงินที่เปลี่ยนไปของคนไทย ซึ่งนิยมหันมาทำธุรกรรมบนมือถือมากขึ้น และใช้เงินสดลดน้อยลงนั่นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารออมสิน เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได จ่ายสูงสุด 4.5% และ 10% หวังส่งเสริมการออมระยะยาว
- ส่องแบงก์รัฐ-พาณิชย์ ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ เท่าไรกันบ้าง? หลัง กนง. ประชุมนัดแรกของปี 2566
- คลอดแล้ว! เกณฑ์ ‘Virtual Bank’ ธปท. จำกัดไลเซนส์แค่ 3 ราย เผยมีผู้สนใจแล้ว 10 ราย เล็งประกาศผลกลางปีหน้าก่อนเริ่มให้บริการจริงปี 68
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร