‘McDonald’s’ กางแผนธุรกิจ ทุ่มงบ 2.4 พันล้านดอลลาร์ ลุยขยายสาขา 1,500 แห่งทั่วโลก พร้อมรับมือต้นทุนพุ่งสูง ก่อนเตรียมงบอีก 150 ล้านดอลลาร์ เข้าช่วยเหลือแฟรนไชส์ในยุโรป รับมือเงินเฟ้อ
Reuters รายงานว่า ภาวะเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยที่ท้าทายของ McDonald’s แบรนด์ฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่สัญชาติอเมริกัน หลังก่อนหน้านี้ได้ปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อช่วยเพิ่มยอดขายและกำไร ซึ่งสวนทางกับผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมลดค่าใช้จ่ายลง ทำให้นักลงทุนต่างเฝ้าจับตาดูสัญญาณจาก McDonald’s ถึงเรื่องการพิจารณาคุมเข้มค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างผลกำไรในปี 2023
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เงินเฟ้อดันต้นทุนร้านอาหารพุ่งไม่หยุด McDonald’s-Starbucks งัดความได้เปรียบมีอำนาจต่อรองวัตถุดิบ ส่วนรายเล็กปรับตัวได้เร็วกว่า
- อั้นไม่ไหว! McDonald’s ในญี่ปุ่น ขอปรับราคารอบ 2 ทำ ‘เบอร์เกอร์-ชุดเมนูสุดคุ้ม’ ขึ้นกว่า 80% รับต้นทุนพุ่งไม่หยุด
- ซีอีโอ McDonald’s เผยเตรียมเลย์ออฟพนักงานบางส่วน เล็งนำนวัตกรรมเข้ามาแทนที่เพื่อหนุนการเติบโต
คริส เคมป์ซินสกี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร McDonald’s กล่าวว่า ภาพรวมผู้บริโภคที่เข้ามาใช้จ่ายในร้านทั้งยุโรปหรืออเมริกา มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ถ้าเทียบจากที่เคยคาดการณ์เอาไว้เมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา แม้จะอยู่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่คาดว่าปี 2023 อัตราเงินเฟ้อจะไม่รุนแรงมากนัก แม้อาจซบเซานานกว่ายุโรป
สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 4 ปี 2022 ที่ผ่านมา ตามรายงานยอดขายสาขาเดิมทั่วโลกเพิ่มขึ้น 12.6% ถือว่าสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 8.6% ซึ่งมาจากแรงหนุนของตลาดในอเมริกาและยุโรปที่ยังแข็งแกร่ง โดยสามารถเติบโต 10.3% แม้ผู้บริโภคจะมีรายได้น้อยลง ทำให้ยอดสั่งซื้อต่อบิลลดลง แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคได้กลับมาใช้บริการที่ร้านถี่ขึ้น เมื่อเทียบกับ 2 ไตรมาสก่อนหน้า
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร McDonald’s กล่าวต่อถึงแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ บริษัทเตรียมลงทุนกว่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (7.8 หมื่นล้านบาท) เพื่อใช้ขยายสาขาร้านอาหารครั้งใหญ่กว่า 1,900 แห่งทั่วโลก โดยแบ่งเป็นร้านที่บริษัทลงทุนเอง 400 สาขา และของแฟรนไชส์ซีประมาณ 1,500 สาขา
อย่างไรก็ตามต้องติดตามสถานการณ์ต้นทุนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา McDonald’s ในอเมริกา ได้ขึ้นราคาเมนูอาหารกว่า 10% โดยปัจจุบัน เบอร์เกอร์เริ่มต้น 5.39 ดอลลาร์สหรัฐ (176 บาท) เพื่อให้สอดรับกับราคาต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น แต่ยังถือว่าราคาถูกกว่าคู่แข่งในตลาด ทำให้กลุ่มเมนูบิ๊กแมคและนักเก็ตได้รับการตอบรับอย่างมาก
นอกจากนี้ McDonald’s ได้เตรียมใช้งบ 100-150 ล้านดอลลาร์ (3-4 พันล้านบาท) ช่วยเหลือผู้ประกอบการแฟรนไชส์ในยุโรป เพราะต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่สูงขึ้นอาจทำให้กระแสเงินสดมีปัญหา แต่จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป
อ้างอิง: