“เรื่องยาเสพติด พรรคภูมิใจไทยมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ เราต้องแก้ไขด้วยการแก้กฎหมาย จากนี้ใครครอบครองยาบ้า 1 เม็ดเท่ากับเป็นผู้เสพ และ 2 เม็ดขึ้นไปเป็นผู้จำหน่าย เตรียมลงนามเร็วๆ นี้ อะไรที่เป็นความสุขของประชาชน เราพร้อมทำ อะไรที่เป็นความทุกข์ของประชาชน เราพร้อมแก้ไข ที่ผ่านมาภูมิใจไทยทำงานไม่เกรงใจใคร เราเกรงใจอยู่คนเดียวคือประชาชน” คือถ้อยคำปราศรัยของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย บนเวทีระหว่างลงพื้นที่หาเสียงที่ใต้ทางด่วนชุมชนวัดมะกอกส่วนหน้า เขตพญาไท เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา
การแก้ไขร่างกฎหมายกฎกระทรวงฯ ครั้งนี้ อนุทินได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนอีกครั้งว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำลังเตรียมประกาศมติของคณะกรรมการกำกับ ควบคุม ป้องกันยาเสพติด เพื่อมาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม ก่อนยื่นให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วยพิจารณาเป็นกฎกระทรวง
หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เช่น เฮโรอีน น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 300 มิลลิกรัม เมทแอมเฟตามีน ปริมาณไม่ถึง 15 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึง 1.5 กรัม หรือคำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ไม่ถึง 375 มิลลิกรัม แอมเฟตามีนหรือยาบ้า ปริมาณไม่ถึง 15 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึง 1.5 กรัม
ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 เช่น โคคาอีน น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 600 มิลลิกรัม ฝิ่น น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 15 กรัม และยาเสพติดให้โทษประเภท 5 น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 135 กรัม
ส่วนวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 เช่น คาทิโนน คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกิน 0.5 กรัม ไซโลซีน ไม่เกิน 0.1 กรัม ไซโลไซบีน ไม่เกิน 0.1 กรัม และประเภท 2 เช่น เคตามีน คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกิน 0.5 กรัม ซูโดอีเฟดรีน ไม่เกิน 5 กรัม และไนตราซีแพม ไม่เกิน 0.3 กรัม
ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. …. เพื่อใช้เป็นการพิจารณาให้โอกาสแก่ผู้เสพยาเสพติดที่ครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อการเสพ โดยไม่ถือเป็นโทษความผิดร้ายแรง สามารถพิจารณาให้รับการบำบัดรักษาแทนการรับโทษจำคุกได้
ดังนั้นการเพิ่มโทษมาสำหรับผู้ที่ครอบครองยาบ้าเกิน 1 เม็ดให้ถือเป็นผู้ค้าทันที จึงเกิดปรากฏการณ์ที่มีทั้งแรงต้านและแรงสนับสนุนในทันที
ในมุมของคนที่สนับสนุนมองว่า สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการที่จะปราบยาเสพติดอย่างจริงจัง แต่ในมุมของกลุ่มต้านนั้นกลับมองการแก้ปัญหาครั้งนี้เป็นการผลักผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาไปเป็นอาชญากร ซึ่งนำไปสู่ช่องโหว่ทางกฎหมายอีกมากมาย
THE STANDARD รวบรวมทุกความคิดเห็น ดังนี้
นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แสดงความคิดเห็นว่า นโยบายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าของประเทศไทยนั้น วางอยู่บนหลักการที่ว่าต้องแยกผู้เสพออกจากผู้ค้า โดยถือว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา ไม่ใช่อาชญากร ซึ่งเห็นว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่วิธีการที่ใช้ในการแยกตัวผู้เสพออกจากผู้ค้าที่ผ่านมามีปัญหาอยู่มาก
นพ.วาโยระบุต่อไปว่า ที่ผ่านมางานวิจัย การศึกษา และสถิติ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ บ่งชี้ตรงกันว่า การใช้หลักกฎหมายแบบสันนิษฐานไว้ก่อนเช่นนี้ ไม่ได้ผลในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดี และยังก่อให้เกิดผลในทางกลับกันคือ คดียาเสพติดและจำนวนผู้ต้องขังคดีค้ายาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้น เกิดการผลักให้ผู้เสพซึ่งควรเป็นผู้ป่วยกลายเป็นผู้ค้าแทน
ดังนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะปรับเกณฑ์จาก 15 หน่วยการใช้เป็น 2 เม็ดให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้ค้า อาจยิ่งทำให้เกิดปัญหาช่องโหว่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ไม่สมกับเจตนารมณ์ในการเอาผู้ป่วยมาเข้ารับการบำบัด และยิ่งซ้ำเติมปัญหาคนล้นคุก
นพ.วาโยยังกล่าวอีกว่า นโยบายที่เน้นการแยกผู้เสพออกจากผู้ค้าเป็นแนวทางที่เหมาะสมอยู่แล้ว แต่เกณฑ์ที่ใช้หลักกฎหมายแบบสันนิษฐานไว้ก่อนมีปัญหาช่องโหว่มากเกินไป หากสามารถปรับวิธีพิจารณาให้กลับสู่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามหลักกฎหมายอาญาทั่วไปได้ จะช่วยให้เกิดกระบวนการแยกผู้เสพออกจากอาชญากรตัวจริงได้จริงๆ ตามเจตนารมณ์ของการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตั้งแต่แรกเริ่ม
เช่นเดียวกับ รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด แสดงความเป็นกังวลว่า กรณีนี้อาจทำให้ผู้เสพได้รับโทษเกินความจำเป็น และไม่ได้เข้ารับการบำบัดรักษา อีกทั้งผู้เสพ เมื่อถูกจับจะเข้าไปอยู่รวมกับผู้ค้า จนสร้างเครือข่ายยาเสพติดหลังพ้นโทษ ภาครัฐจึงต้องปิดช่องโหว่นี้ด้วย
ในมุมของผู้สนับสนุนนั้น สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวสนับสนุน พร้อมมองว่าอาจเป็นที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผู้รับผิดชอบการบำบัดรักษาโดยตรง เห็นว่าแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรสาธารณสุขอาจได้รับอันตรายจากผู้ป่วยที่เสพยาจนมีอาการหลอน จึงคิดว่าควรจะนำคนที่เสพยาส่งเข้าเรือนจำไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยของบุคลากร
สมศักดิ์กล่าวอีกว่า ส่วนตัวแล้วไม่มีสิทธิที่จะบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ด้วยสถานการณ์ขณะนี้ และเห็นว่าไม่สามารถบำบัดผู้เสพได้ทัน ดังนั้น แนวทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดี
ส่วน สฤษดิ์ มงคลธรรม ประธานชุมชนวัดมะกอกกลางสวนกล่าวว่า โดยส่วนตัวรู้สึกดีที่อนุทินได้กล่าวปราบยาเสพติดอย่างจริงจัง พร้อมมองว่า ไม่ว่าจะ 1 เม็ด หรือ 2 เม็ด ก็ไม่ดีทั้งนั้น เพราะรอบข้างของตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 107 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการออกร่างกฎกระทรวงนั้น
ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมคณะกรรมการบำบัดและรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 และมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 รวมทั้งการประชุมคณะกรรมการทางแพทย์ ระหว่างกรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข มีข้อสรุปตรงกันว่า การมียาเสพติดที่เดิมกำหนดไว้กี่เม็ด จึงเป็นช่องโหว่ให้ผู้ค้ายาเสพติดได้
สำหรับข้อดีจะเห็นว่า จะทำให้ประชาชนเกิดความระมัดระวังว่ายาเสพติดเป็นภัยต่อชีวิตและทำให้ผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาได้มากขึ้น พร้อมยืนยันว่าระบบการรักษาและบำบัดผู้ติดยาเสพติดขณะนี้ไม่มีปัญหา และยืนยันว่าไม่มีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล
นพ.โอภาสยังกล่าวถึงผลกระทบทางสุขภาพของผู้เสพยาเสพติดมีตั้งแต่ 1 เม็ดขึ้นไป เมื่อมีการกำหนดจำนวนเม็ด ทำให้ประชาชนบางส่วนเข้าใจผิด ซึ่งในความเป็นจริงมีผลตั้งแต่การเสพเม็ดแรก
ส่วนข้อกังวลเรื่องผู้ต้องหาจะล้นสถานที่กักขังหรือไม่นั้น นพ.โอกาสกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข ระบบการรักษาของกระทรวงสาธารณสุขคำนึงถึงปริมาณผู้ใช้ยาเสพติด ส่วนการคุมขังนั้นกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เป็นผู้พิจารณา แต่คำนึงถึงเพียงปริมาณการใช้ว่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างไร
รัฐบาลประยุทธ์ 6 ปี ใช้งบปราบยาเสพติด 3.4 หมื่นล้าน
ที่ผ่านมาปัญหายาเสพติดเป็นหนึ่งในปัญหาที่แก้ไขยากที่สุด ตลอดระยะเวลาของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการป้องกันและปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ตั้งแต่ พ.ศ. 2560-2566 กว่า 34,943,329,600 บาท
ส่วนงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านยาเสพติดโดยตรง ได้รับการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2557-2566 ประมาณ 25,129,473,100 บาท
จากการสืบค้นตั้งแต่ พ.ศ. 2560-2565 มติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแก้ปัญหายาเสพติดจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีถูกบันทึกไว้ทั้งสิ้นจำนวน 1,610 เรื่อง นอกจากนี้ พ.ศ. 2562 ปัญหายาเสพติดก็เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและด้านความมั่นคง ซึ่งมีการแถลงต่อรัฐสภาไว้อย่างชัดเจน
ทว่ารายงานจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ที่ว่าด้วยเรื่องยาเสพติด ประเภทสังเคราะห์ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การพัฒนาและความท้าทาย พ.ศ. 2565 ว่า จำนวนยาบ้าที่ยึดครองได้เมื่อ พ.ศ. 2563-2564 มีปริมาณเพิ่มขึ้น
พร้อมระบุว่า ยาเสพติดในปัจจุบันนั้นมีราคาถูกลงจนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดย พ.ศ. 2564 สามารถยึดยาบ้าแบบเม็ดได้ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 1 พันล้านเม็ด คิดเป็นน้ำหนักกว่า 172 ตัน สูงกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ยึดได้ 143 ล้านเม็ดถึง 7 เท่า
206,361 คือตัวเลขผู้ต้องขังยาเสพติดปี 2566
ขณะที่สถิติผู้ต้องราชทัณฑ์คดีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดทั่วประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 206,361 ราย เป็นชาย 182,821 ราย และเป็นหญิง 23,541 ราย คิดเป็นร้อยละ 82.7 ของผู้ต้องขังเด็ดขาด เมื่อเทียบผู้ต้องขังทั่วประเทศอยู่ที่ร้อยละ 65.1
แต่หากนับผู้ต้องขังที่ถูกฝากขังระหว่างการสืบสวนสอบสวนหรือสู้คดีในชั้นศาล จะมีผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดจำนวนมากถึง 33,716 คน คิดเป็นร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบผู้ต้องขังทั่วประเทศอยู่ที่ร้อยละ 12.8
สำนักข่าวอิศรารายงานอ้างอิงข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยสถิติจำนวนผู้ต้องขังปี 2553-2563 ย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้ต้องขังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2557 โดยมีสถิติสูงถึง 300,000 รายต่อปี และในปี 2563 มีผู้ต้องขังมากถึง 356,509 คน สวนทางกับเรือนจำภายในประเทศไทยที่สามารถรับผู้ต้องขังได้ราว 200,000 คนเท่านั้น
อีกทั้งข้อมูลจาก World Population Review เว็บไซต์ข้อมูลเชิงสถิติ รายงานอัตราการจำคุกแยกตามประเทศปี 2023 ระบุว่า 10 อันดับประเทศที่มีผู้ถูกคุมขังมากที่สุด ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย เป็นรองจีนและอินเดีย ด้วยจำนวน 309,282 คน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า มีผู้ต้องขังล้นคุกเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยที่ประเทศไทยอยู่ที่ 445%
อย่างไรก็ตาม สังคมยังคงจับตาการแก้กฎกระทรวงสาธารณสุขครอบครองยาบ้าจำนวนมากว่า 1 เม็ดขึ้นไปเป็นผู้ค้าว่า จะทำให้เกิดผู้ต้องขังล้นคุกซึ่งเป็นอีกความกังวลใจของสังคมหรือไม่