Fake โกหก…ทั้งเพ คือภาพยนตร์ไทยซึ่งกำลังจะมีอายุครบ 20 ปีในปีนี้ ว่าด้วยความสัมพันธ์ของเพื่อนผู้ชาย 3 คน และผู้หญิง 1 คน แม้จะไม่ใช่หนังไทยทำเงินถล่มทลายหรือมีคำวิจารณ์ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ Fake โกหก…ทั้งเพ ก็มีสิ่งน่าจดจำมากมายที่น่าพูดถึง โดยเฉพาะการพาไปสำรวจชีวิตมนุษย์ในยุค Y2K ทั้งความคิด ความรู้สึก แฟชั่น รวมถึงพัฒนาการของเมืองกรุงเทพฯ ในหนังเรื่องนี้ น่าประทับใจและน่าหวาดกลัวในเวลาเดียวกัน
Fake โกหก…ทั้งเพ คือภาพยนตร์โรแมนติกดราม่าที่ออกฉายเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2003 โดยสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของผู้กำกับผู้ล่วงลับอย่าง อั๋น-ธนกร พงษ์สุวรรณ ว่าด้วยเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน 3 คนอันได้แก่ เบ (รับบทโดย เผ่าพล เทพหัสดิน ณ อยุธยา), โป้ (รับบทโดย ลีโอ พุฒ-พุฒิพงศ์ ศรีวัฒน์) และ ซุง (รับบทโดย เรย์ แมคโดนัลด์) ที่กำลังเผชิญหน้ากับความรู้สึกกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อ ปวีณา (รับบทโดย อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ) โดยหนังจะเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครผู้ชายทั้งสาม และให้ผู้ชมเป็นผู้ปะติดปะต่อเรื่องเล่าเหล่านั้นด้วยตัวเอง
บันทึกกรุงเทพฯ
ฉากหลังของ Fake โกหก…ทั้งเพ นั้นเล่าเรื่องในช่วงปี 2000 ต้นๆ ซึ่งในตอนแรกเริ่มนั้นผู้กำกับของเรื่องอย่าง อั๋น-ธนกร พงษ์สุวรรณ ใช้ชื่อโปรเจกต์นี้ว่า ‘บันทึกกรุงเทพฯ’ หรืออีกชื่อหนึ่ง ‘ผู้ชายปัจจัย 4’ โดยเขาเริ่มเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ในช่วง 4-5 ปีก่อนหนังออกฉาย ใช้วิธีการวางโครงเรื่องที่เอาคาแรกเตอร์ของนักแสดงนำมาเป็นลำดับแรก ไม่ได้เน้นที่พล็อตเรื่อง สะสมข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ของนักแสดงนำทั้งหมดมาประยุกต์ให้กลายเป็นเนื้อเรื่องทั้งหมด ซึ่งรายชื่อของนักแสดงนำทั้ง 3 อย่าง เรย์ แมคโดนัลด์, พุฒิพงศ์ ศรีวัฒน์ (ลีโอ พุฒ) และ เผ่าพล เทพหัสดิน ณ อยุธยา (ต้า บาร์บี้) ถูกระบุไว้ตั้งแต่แรกเริ่มโปรเจกต์ และก่อนหน้าจะมาเสนอโปรเจกต์นี้กับทางสหมงคลฟิล์มฯ เขาได้เคยเสนอให้กับทางฟิล์มบางกอกมาก่อนด้วย
สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่อง Fake โกหก…ทั้งเพ พาผู้ชมไปสำรวจคือ ตัวละครที่ต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางเมืองใหญ่ และกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ทั้งกับตัวเองและความสัมพันธ์รอบตัว และยิ่งฉากหลังของเรื่องเป็นโลกหลังยุค Y2K เรายิ่งได้เห็นพัฒนาการของโลกที่เปลี่ยนไป ทั้งเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ สภาพสังคม ทัศนคติของคน ที่แม้จะผ่านมานานเกือบ 20 ปีเต็ม แต่เราเชื่อว่ามันยังคงมีความเกี่ยวโยงกับยุคปัจจุบันได้อยู่ ไม่ว่าจะเรื่องเซ็กซ์ ความรัก ความรู้สึก หรือแม้แต่ความเคว้งคว้างของชีวิตที่ต้องดิ้นรนในเมืองใหญ่ของตัวละครหลัก
บิ๊กไอเดียคือความสัมพันธ์ที่มันซับซ้อน
บิ๊กไอเดียในภาพยนตร์เรื่องนี้คือเรื่องความรักและความสัมพันธ์ประเภทอย่างในเพลง ‘ลบไม่ได้ช่วยให้ลืม’, ‘ชั่วคราวหรือค้างคืนตลอดไป’ หรือเพลง ‘หรือฉันคิดไปเอง’ ซึ่งมันยังสามารถเชื่อมโยงกับผู้ชมในยุคนี้ได้แน่นอน และหนังเองก็ล้วนแสดงให้เห็นความสัมพันธ์และความรู้สึกเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมาผ่านตัวละครนำทั้ง 4 คน
ตัวละครหลักทั้งสี่ต่างวนเวียนมาเจอกัน สัมพันธ์กัน และจากกัน และสิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้พิเศษมากขึ้นคือการเล่าเรื่องของแต่ละตัวละครให้มีสีและโปรดักชันในแบบของตัวเองอย่างชัดเจน เช่น เบ (ต้า เผ่าพล) ที่กำลังจมอยู่ในความเศร้า พาร์ตของเขาจะเป็นสีฟ้าทั้งหมด, โป้ (ลีโอ พุฒ) ที่กำลังเอ็นจอยกับเซ็กซ์และชีวิต พาร์ตของเขาจะเป็นสีเหลือง ขุ่นไปด้วยความสับสนและความว้าวุ่นใจ และ ซุง (เรย์ แมคโดนัลด์) พาร์ตของเขาจะเป็นสีแดงที่สื่อสารถึงความรัก ความไม่แน่นอน ความไม่ชัดเจน จินตนาการที่ร้อนแรง
แฟชั่นแห่งยุค และพัฒนาการของกรุงเทพฯ
นอกเหนือจากตัวภาพยนตร์จะดำเนินเรื่องด้วยพื้นหลังของยุคต้น 2000 แล้ว สิ่งที่จะเห็นได้ชัดอย่างมากคือแฟชั่นในภาพยนตร์ ที่ทำให้หวนคิดถึงความเท่ ความเก๋ ของสิ่งที่กำลังเป็นกระแสพูดถึงอยู่ในปัจจุบันนี้คือความ Y2K ซึ่งบทบันทึกในหนังเรื่อง Fake โกหก…ทั้งเพ เราจะได้เห็นฟากตัวละครหลักฝ่ายชายไม่ได้สวมใส่เสื้อผ้าหวือหวา มีเพียงเสื้อยืด กางเกงยีนส์เท่ๆ ที่ใส่ให้หลุดก้นสักหน่อย และที่ชัดเจนมากๆ คือคาแรกเตอร์เฉพาะของนักแสดงนำชายทั้งสาม ที่ทำให้องค์รวมของบรรยากาศในเรื่องมันดูเท่เสียเหลือเกิน
ความเรียบง่ายนั้นตรงกันข้ามกับตัวละครของ อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ หญิงผู้โดดเด่นเพียงผู้เดียว เธอมักจะปรากฏตัวในหลายๆ ลุคที่เย้ายวนน่ามอง โดยเฉพาะการเลือกใส่เสื้อ Sleeveless ทั้งคอปีน คอเต่า เสื้อแขนกุด มาเป็นไอเท็มหลักอยู่เสมอ ก่อนจะคอมพลีตลุคด้วยส้นสูง และกางเกงยีนส์บ้าง หรือกระเป๋าทรงบาแกตต์สักใบคล้องไหล่ ก็นับว่าเป็นภาพของยุคสมัยที่หลายๆ คนจดจำได้ บ่งบอกให้เห็นแฟชั่นที่สนุกสนานและหลากหลายในช่วงเวลานั้น
ทั้งนี้ ฉากหลังของกรุงเทพฯ ใน Fake โกหก…ทั้งเพ ทำออกมาได้เหงา ลึกลับ และน่าค้นหาอย่างมาก ในช่วงปีที่เมืองใหญ่กำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วยเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน เราจึงได้เห็นภาพของกรุงเทพฯ ในมุมมองที่ว่างเปล่า สวยงาม เหงาๆ และมีภูมิทัศน์ที่แปลกตา เช่น การที่ตัวละครวิ่งอยู่ในอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน ภาพของตึกระฟ้าสูงใหญ่มากมาย รถไฟฟ้าบีทีเอสที่ดูเป็นของใหม่มากๆ ในตอนนั้น หรือภาพของสำนักงาน ท้องถนน สถานบันเทิง ที่ล้วนแล้วแต่บันทึกวันเวลาของยุคสมัยไว้ได้อย่างน่าชม
“ผมอยากจะเล่าถึงบรรยากาศของกรุงเทพฯ ผมเป็นคนกรุงเทพฯ และใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ผมอยากจะพูดถึงมันแบบไม่ได้พูดตรงๆ อยากพูดถึงบรรยากาศของมันแบบที่มันเป็นจริงๆ และในแบบที่ผมรู้สึก กรุงเทพฯ อาจจะเป็นตัวละครตัวหนึ่งในหนังเรื่องนี้ นอกเหนือจาก เบ โป้ ซุง และปวีณา เมืองกรุงเทพฯ เป็นตัวละครที่มีอยู่ตลอดทั้งเรื่อง และมันก็มีบทสนทนาของตัวมันเองโดยที่เราไม่ต้องไปเขียนให้” อั๋น ธนกร ผู้กำกับเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับเว็บไซต์ SiamZone เกี่ยวกับความเชื่อมโยงของกรุงเทพฯ และหนังเรื่องนี้
ความหวังและความหวาดกลัวของช่วงวัย
หนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้กำกับ อั๋น ธนกร อยากสื่อสารออกมาผ่านหนังเรื่องนี้ คือการนำเสนอชีวิตของคนหนุ่มวัย 20 ต้นๆ ที่กำลังว้าวุ่นกับความเปลี่ยนแปลงของชีวิต แม้จะถูกฉาบผ่านการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ แต่ในความจริงแล้ว ข้อความที่อยู่ระหว่างบรรทัดใน Fake โกหก…ทั้งเพ คือตัวละครที่กำลังมีความหวังและความหวาดกลัวต่อการมีชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ และกรุงเทพฯ ก็คือตัวละครอย่าง ปวีณา ที่เข้ามาทำให้ตัวละครนำทั้ง 3 คนนั้นหวั่นไหว หวาดกลัว แม้แต่มีความหวังก็ตาม
ผู้กำกับ อั๋น ธนกร เคยให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ไว้ว่า เขารู้สึกว่า กรุงเทพฯ ก็เหมือนปวีณา เพราะบางทีเราก็เหมือนจะรักมันได้ บางทีก็อยากให้เมืองรักเราบ้าง เปรียบเหมือนสิ่งที่กะเกณฑ์และคาดเดาไม่ได้ แต่ไม่ว่าปวีณาหรือกรุงเทพฯ จะปฏิบัติตัวต่อตัวละครนำอย่างไร สุดท้ายสิ่งที่ตัวละครมีนั้นคือ ‘ความหวัง’ หวังให้เธอรัก หรือหวังที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนี้ได้อย่างมีความสุขนั่นเอง
“ตัวละครทั้ง 3 คนยังไม่รู้ว่าชีวิตของตนจะดำเนินไปทางไหน ถึงแม้บางคนจะมีงานทำ แต่ก็ไม่มีความมั่นคงนัก คือมันมีทั้งความเคว้งคว้างและความหวาดกลัว ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร จะตกงานเมื่อไหร่ พรุ่งนี้จะมีงานต่อไปมั้ย ผมเองก็กลัวเหมือนกัน มันเป็นความกลัวของคนรุ่นนี้นะผมว่า” อั๋น ธนกร กล่าวถึงผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา
Fake โกหก…ทั้งเพ ยังมีโอกาสได้ไปร่วมฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศมากมาย ทั้ง Vancouver International Film Festival ในปี 2003 ที่ตอนนั้นก็มีหนังอย่าง Last Life in the Universe ของ เป็นเอก รัตนเรือง เข้าฉายด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติเป็น 1 ใน 5 หนังไทยที่ถูกเลือกไปฉายในเทศกาล Stockholm International Film Festival ในปีเดียวกัน ร่วมกับ 15 ค่ำ เดือน 11, คืนไร้เงา, สยิว และ องค์บาก และ Singapore International Film Festival ในช่วงปีที่หนังออกฉาย
เรียกว่าเป็นผลงานแรกที่โดดเด่นมากๆ ของผู้กำกับ อั๋น-ธนกร พงษ์สุวรรณ ซึ่งก่อนที่เขาจะเข้ามานั่งแท่นผู้กำกับ เขาเริ่มต้นการทำงานในวงการภาพยนตร์ในฐานะรีพอร์ตเตอร์ที่คอยจดบันทึกการถ่ายทำในกองภาพยนตร์เรื่อง เกิดอีกทีต้องมีเธอ (1995) ของผู้กำกับ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ก่อนจะค่อยๆ ได้รับโอกาสทำงานกับผู้กำกับคนอื่นๆ เช่น เป็นผู้ช่วยผู้กำกับของ เรียว-กิตติกร เลียวศิริกุล และ ออกไซด์ แปง โดยอั๋นได้ฝึกฝนงานสุดหินจากผู้กำกับเหล่านี้มาอย่างมากมาย และเขายังมีผลงานอื่นๆ ตามมาอีกทั้ง เอ็กซ์แมน แฟนพันธุ์เอ็กซ์ (2004), โอปปาติก เกิดอมตะ (2007), ท้าชน (2009) และ ซิงเกิลเลดี้ เพราะเคยมีแฟน (2015) ก่อนที่เขาจะลาลับไปในปี 2020 ที่ผ่านมา
ใครที่ยังไม่เคยสัมผัสบรรยากาศของภาพยนตร์เรื่องนี้ ไปร่วมสำรวจโลกของมนุษย์ Y2K กันแบบเข้มๆ ใน Fake โกหก…ทั้งเพ ได้ทาง Netflix ต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
อ้างอิง:
- https://sahamongkolfilm.com/saha-movie/fake-movie-2546/
- https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%9…
- https://www.siamzone.com/movie/news/1227
- https://alchetron.com/Fake-(2003-film)
- https://twitter.com/tamroyfilm/status/1383772044660154369
- https://kodungmovie.com/movies/fake/
- https://pantip.com/topic/30261130