หลังจากสตรีมทาง Netflix ได้เพียงหนึ่งวัน Jung_E ภาพยนตร์แอ็กชันไซไฟจากเกาหลีใต้ก็ทะยานขึ้นสู่อันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา และยืนระยะอันดับหนึ่งในอีก 30 พื้นที่ทั่วโลก พร้อมกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะผู้ที่คาดหวังฉากแอ็กชันตระการตาตามหน้าหนัง แต่เนื้อหากลับกลายเป็นเรื่องดราม่าครอบครัว และในบางช่วงก็ออกจะยืดยาดชวนง่วงเสียด้วยซ้ำ
จะว่าไปแล้วถ้าได้ดูงานเก่าๆ ของผู้กำกับยอนซังโฮ ทั้ง Train to Busan (2016), Peninsula (2020) และ Hellbound ซีรีส์ทาง Netflix ในปี 2021 ก็มักจะเล่าประเด็นเรื่องครอบครัวสอดแทรกเอาไว้ภายใต้ความสนุกตื่นเต้น หากแต่ที่ผ่านมามีความกลมกล่อมลงตัวมากกว่า แตกต่างจาก Jung_E ที่หนังเปิดหัวปิดท้ายด้วยฉากแอ็กชัน ในขณะที่กลางเรื่องดำดิ่งไปกับการศึกษาตัวละครจนอารมณ์ของหนังไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร
Jung_E ว่าด้วยเรื่องราวของโลกในอนาคตที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง จนมนุษย์ต้องไปตั้งถิ่นฐานในอวกาศ และแบ่งออกเป็นสองฝ่ายจนกลายเป็นสงครามอวกาศ โดยมีผู้คนจำนวนหนึ่งที่ยังคงอยู่บนโลก คอยทำหน้าที่สร้างอาวุธสำหรับประเทศคู่สงคราม ซึ่งเรื่องราวส่วนใหญ่เล่าจากมุมมองของ ยุนซอฮยอน (คังซูยอน) นักวิจัยที่กำลังหมกมุ่นอยู่กับการสร้างทหาร AI หากแต่โปรเจกต์นี้สร้างขึ้นมาจากคนจริงๆ นั่นคือ ยุนจองอี (คิมฮยอนจู) แม่ของเธอ อดีตวีรสตรีสงครามที่อยู่ในอาการโคม่ามาตลอด 35 ปี ที่น่าเศร้ากว่านั้น ระบบทุนนิยมยังคงตามไปหลอกหลอนถึงโลกอนาคต และกำลังลดทอนคุณค่าของจิตวิญญาณในรูปแบบของเทคโนโลยี AI จนทำให้เธอหาทางปลดปล่อย Jung_E ให้เป็นอิสระ
หนังเปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่ทำให้ ยุนจองอี ต้องเข้าสู่อาการโคม่าด้วยฉากแอ็กชันตระการตา ก่อนจะพบว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในโลกเสมือน และเป็นส่วนหนึ่งของการทดลอง โดยที่ ยุนซอฮยอน ต้องทนดูความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของแม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างเช่น ฉากจองอีเวอร์ชัน AI ตื่นขึ้นมาในสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ และกรีดร้องเมื่อเห็นแขนขาที่หายไปโดยไม่มีใครพูดอะไร ในที่สุดซอฮยอนก็เริ่มตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของจิตวิญญาณของแม่ผ่านหุ่นยนต์ที่ใช้ทดลอง โดยดูเหมือนว่าผู้สร้างต้องการย้ำให้เห็นในประเด็นนี้ เรื่องราวส่วนใหญ่จึงวนเวียนอยู่ในห้องทดลอง และอยู่กับฉากซ้ำๆ เหมือนจะให้คนดูมีอารมณ์ร่วม แต่กลับกลายเป็นความน่าเบื่อ
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาก็ใส่ประเด็นดราม่าที่น่าสนใจว่าด้วยเรื่องระบบสัญญาขายวิญญาณ ซึ่งคนรวยสามารถมีชีวิตอยู่ได้ตลอดไปโดยใส่ความคิดไว้ในร่างกายสังเคราะห์ และสิทธิเหมือนของมนุษย์ทุกอย่าง ส่วนชนชั้นกลางที่จ่ายน้อยกว่าจะได้สิทธิน้อยลง และต้องยินยอมให้รัฐบาลใช้ข้อมูลบางส่วนของสมองเพื่อการวิจัย และมีตัวเลือกคือความคิดและความทรงจำของเราพร้อมขายให้กับทุกคน ตรงจุดนี้ชวนตั้งคำถามว่าตัวตนของมนุษย์คืออะไร และจะอยู่อย่างไรในวันที่วิวัฒนาการก้าวล้ำไปข้างหน้า
ส่วนในตอนท้ายของเรื่องที่หุ่น Jung_E ไม่ได้มีรูปลักษณ์เหมือนยุนจองอีอีกต่อไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่ทั้งตัวละครในเรื่องและคนดูจะรู้สึกผูกพันกับหุ่นยนต์ตัวนี้ด้วยจิตวิญญาณบางอย่าง ซึ่งน่าจะเป็นอีกประเด็นที่ผู้กำกับต้องการสอดแทรก นอกเหนือจากความพยายามเชื่อมโยงความผูกพันของผู้หญิงคนหนึ่งต่อแม่ของเธอ ผ่านเนื้อหาที่ว่าด้วยวิทยาการโลกอนาคต
มีหลายอย่างของ Jung_E ที่ทำให้เรานึกถึงหนังไซไฟคลาสสิกหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Blade Runner (1982), Alita: Battle Angel (2019), Elysium (2013) และ I, Robot (2004) ที่บางฉากตอนท้ายเรื่องแทบจะถอดแบบออกมาเลยทีเดียว แต่กลิ่นอายความเป็นแอ็กชันไซไฟทั้งหมดกลับจืดจาง เพราะความไม่กลมกล่อมระหว่างเรื่องน่าเศร้าของซอฮยอนและจองอีตอนกลางเรื่อง ซึ่งก็น่าจะมาจากการแยกส่วนกันอย่างชัดเจนระหว่างประเด็นดราม่าและแอ็กชันจนไม่ผสานเป็นเนื้อเดียวกัน
นอกเหนือจากเนื้อหาที่มีเรื่องดราม่าน่าเศร้าแล้ว เรื่องนี้ยังเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของคังซูยอน ผู้รับบทเป็นลูกสาวในเรื่อง โดยที่เธอห่างหายจากวงการภาพยนตร์ไปนับ 10 ปี ก่อนจะรับแสดงในเรื่องนี้ และเสียชีวิตหลังจากถ่ายทำเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว
ถึงแม้จะมีจุดบกพร่องหลายอย่าง แต่ Jung_E ก็ยังมีข้อดีตรงที่ได้เห็นความพยายามของผู้กำกับยอนซังโฮ ที่พยายามหาแง่มุมใหม่ๆ ใส่เข้าไปประเภทหนังแมสๆ พร้อมสร้างเขตแดนใหม่ๆ ให้กับหนังไซไฟ และอีกอย่างที่อดชื่นชมไม่ได้คือผลงาน CG ของเกาหลีที่ตอนนี้ไล่ตามฮอลลีวูดแค่ไม่กี่อึดใจ
รับชมตัวอย่างได้ที่