×

‘ก.ล.ต.-แบงก์ชาติ’ ย้ำ Utility Token ต้องไม่เป็นสื่อกลางชำระเงิน เตรียมคลอดเกณฑ์กำกับในอีก 2 เดือน

25.01.2023
  • LOADING...

วันนี้ (25 มกราคม) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้ (Utility Token พร้อมใช้) ในตลาดแรกและตลาดรอง ก่อนจะประกาศหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับในอีก 2 เดือนข้างหน้า พร้อมเน้นย้ำว่า Utility Token แต่ละประเภทจะต้องไม่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน (Mean of Payment: MOP)

 

จากการประชุมครั้งที่ 3/2565 ของคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล ‘Utility Token พร้อมใช้’ ทั้งในส่วนของตลาดแรกและตลาดรอง เพื่อวางแนวทางกำกับดูแลให้สอดคล้องกับลักษณะ ความเสี่ยง พัฒนาการ และการใช้งาน และมีกลไกคุ้มครองผู้ซื้อขายที่เพียงพอเหมาะสม โดยยังคงสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล

 

ก.ล.ต. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (Focus Group) และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลทั่วไปในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 และได้นำความเห็นและข้อเสนอแนะมาพิจารณาประกอบกับแนวทางการกำกับดูแลในต่างประเทศ เพื่อทบทวนหลักการปรับปรุงแนวทางกำกับดูแลดังกล่าว ก่อนจะออกแนวทางการกำกับดูแล Utility Token พร้อมใช้ ที่มีการปรับปรุงแล้ว เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565

 

 

นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายนวัตกรรมทางการเงิน ก.ล.ต. กล่าวว่า การออก Utility Token ในกลุ่มที่ 1 ยังทำได้ตามปกติ รวมทั้งการวางขายตามตลาดซื้อขาย แต่ผู้ออกไม่สามารถจะนำมาลิสต์บนศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยน (Exchange) ได้

 

“ส่วนอีกกลุ่มคือ Crypto Asset สิ่งสำคัญคือการให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนอย่างครบถ้วน ผู้ออกจำเป็นจะต้องขอใบอนุญาตและดำเนินการผ่าน Portal และที่สำคัญต้องไม่เป็น MOP เพราะอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน”

 

ปัจจุบัน Utility Token ในกลุ่มที่ 1 ที่ลิสต์อยู่บน Exchange ต่างๆ มีจำนวน 12 เหรียญ จะได้รับการยกเว้นให้ลิสต์ต่อไปได้ แต่หลังจากนี้จะไม่สามารถลิสต์เพิ่มได้แล้ว ขณะเดียวกัน โทเคนต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้จะต้องปรับปรุงให้เข้ากับเงื่อนไขใหม่

 

ด้าน ณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในมุมของ ธปท. ได้ร่วมหารือว่า Utility Token ไม่ควรจะเป็น MOP หรือสื่อกลางในการชำระราคา ซึ่งเป็นหลักการเดิมที่หารือกับหน่วยงานต่างๆ มาตลอด

 

“ธปท. ไม่อยากเห็นการใช้ Digital Asset เพื่อชำระราคาทั่วไป เพราะความเสี่ยงต่อประชาชนทั่วไปหรือร้านค้าจากความผันผวนของมูลค่า รวมทั้งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันดำเนินการอยู่บนเงินบาท”

 

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแล Utility Token พร้อมใช้ ที่มีการปรับปรุงแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะ วัตถุประสงค์การใช้งาน และความเสี่ยงของ ‘Utility Token พร้อมใช้’ แต่ละประเภท ในช่วง 1 เดือนหลังจากนี้ ก่อนที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในอีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้า หรือในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้

 

สำหรับหลักการกำกับดูแลที่สำคัญแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

 

Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย

 

  1. ‘Utility Token พร้อมใช้ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอุปโภคบริโภค’ เช่น บัตรกำนัลดิจิทัลที่ออกในรูปของโทเคน โทเคนที่ให้สิทธิในการแลกบัตรคอนเสิร์ต และงานศิลปะ รูปภาพ เพลง แสตมป์ หรือวิดีโอในรูปแบบ Non-Fungible Token (NFT) ซึ่งมีการให้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ถือ NFT และ
  2. ‘Utility Token พร้อมใช้ ที่ใช้แทนใบรับรอง (Certificate) หรือแสดงสิทธิต่างๆ’ เช่น ใบรับรองพลังงานทดแทน ใบกำกับภาษี และโฉนดที่ดิน

 

 

สำหรับ Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1 จะได้รับยกเว้นการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน และยกเว้นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยโทเคนดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (MOP) ตามแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด* และผู้ออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล (Issuer) จะต้องไม่เปิดให้มีการฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับผลตอบแทน (Staking) เว้นแต่เป็นการ Staking เพื่อการลงคะแนนเสียง (Voting) หรือเข้าร่วมกิจกรรม หรือเพื่อได้รับผลตอบแทนจากกิจกรรมใน Ecosystem

 

นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำ Utility Token กลุ่มที่ 1 มาจดทะเบียนซื้อขาย และห้ามนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการเกี่ยวกับ Utility Token ดังกล่าว

 

 

Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย Utility Token พร้อมใช้ ประเภทอื่นนอกจากกลุ่มที่ 1 เช่น

 

  1. Utility Token ที่ให้สิทธิในการเข้าถึงสินค้าและบริการบน Distributed Ledger Technology (DLT) รวมทั้ง Decentralized Finance (DeFi)
  2. Utility Token พร้อมใช้ ประจำศูนย์ซื้อขายฯ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้งานบนศูนย์ซื้อขายฯ ในการชำระค่าธรรมเนียม เป็นส่วนลดค่าธรรมเนียม ใช้สะสมเพื่อเลื่อนระดับสมาชิก โดยในแต่ละระดับจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน (Exchange Token)
  3. Utility Token พร้อมใช้ ที่ให้สิทธิออกเสียงเพื่อปรับเปลี่ยนหรือตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการทางธุรกิจ (Governance Token) และ
  4. Utility Token พร้อมใช้ ประจำโครงการที่ให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะ Centralized Finance (CeFi) เป็นต้น

 

สำหรับ Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 ที่ประสงค์จะนำไปจดทะเบียนบนศูนย์ซื้อขายฯ ต้องได้รับอนุญาตการเสนอขายจาก ก.ล.ต. โดยผู้เสนอขายต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) และหนังสือชี้ชวน รวมทั้งเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ทั้งนี้ โทเคนดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเป็น MOP ตามแนวทางที่ ธปท. กำหนด และผู้ออกเสนอขายจะต้องไม่รับ Staking เว้นแต่เป็นการ Staking ในลักษณะที่กำหนด ได้แก่ การใช้เป็นกลไกยืนยันธุรกรรม เพื่อการลงคะแนนเสียง เข้าร่วมกิจกรรม หรือเพื่อได้รับผลตอบแทนจากกิจกรรมใน Ecosystem

 

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลศูนย์ซื้อขายฯ เพื่อให้มีความเหมาะสม เช่น หลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) และหลักเกณฑ์การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Trading Rule) และหลักเกณฑ์การติดตามและตรวจสอบสภาพการซื้อขาย (Market Surveillance) ด้วย

 

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแล Utility Token พร้อมใช้ ไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. และระบบกลางทางกฎหมาย www.law.go.th ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ จนถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X