วันนี้ (24 มกราคม) สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้าง โครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบและรอบด้าน ทั้งในประเด็นเรื่องของความเหมาะสมของขอบเขตงานและราคากลาง รวมถึงความถูกต้องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง
โดยสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้พบว่า รฟท. ได้มีการจัดจ้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของ รฟท. เพื่อเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีตามที่ได้รับพระราชทานนาม โดยวิธีจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงมูลค่างาน 33,169,726.39 บาท โดยแบ่งงานออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย
- งานโครงสร้างวิศวกรรม
- งานสถาปัตยกรรม
- งานออกแบบรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณ
- งานเผื่อเลือก
ส่วนผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นของความเหมาะสมของขอบเขตงานและราคากลาง คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว สรุปได้ว่าการกำหนดขอบเขตงาน ซึ่ง รฟท. อ้างอิงแบบโครงสร้าง รายละเอียด เทคนิควิธีการ และวัสดุจากงานที่กำหนดไว้เดิม ไม่พบการดำเนินการที่เชื่อได้ว่า รฟท. ดำเนินการ นอกเหนือจากขอบเขตงานแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นไปตามรายละเอียดของงานติดตั้งป้ายเดิมที่ รฟท. ได้รายงานว่า มีการตรวจสอบและรับรองทางวิศวกรรม รวมทั้งมีการติดตั้งไปแล้ว ปรากฏว่า มีความปลอดภัยและแข็งแรงตามมาตรฐาน
ขณะเดียวกันคณะกรรมการตรวจสอบฯ ยังได้เปรียบเทียบราคาต้นทุนวัสดุจากการติดตั้งป้ายสถานีกลางบางซื่อเมื่อปี 2553 นำมาเปรียบเทียบกับราคาปัจจุบัน พบว่ามีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยงานสถาปัตยกรรม คณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตงานและราคากลางฯ ได้เปรียบเทียบกับราคาเดิม โดยอ้างอิงจากราคาในสัญญาและรายละเอียดปริมาณงาน (BOQ) เดิม ตั้งแต่ปี 2553 ราคาที่เสนอปัจจุบันนี้เป็นราคาอ้างอิงตามบัญชีราคาสัญญาเดิม ได้แก่ งานจัดหาและติดตั้งกระจก ราคากระจก ตามสัญญาเดิม ตารางเมตรละ 27,190 บาท เทียบกับราคาครั้งใหม่อยู่ที่ตารางเมตรละ 25,620 บาท งานจัดหาและติดตั้งโครงกระจกอะลูมิเนียม ราคาโครงอะลูมิเนียม ตามสัญญาเดิมตารางเมตรละ 9,690 บาท
ราคาเสนอครั้งใหม่อยู่ที่ตารางเมตรละ 9,130 บาท งานจัดหาติดตั้งป้ายและสัญลักษณ์ รฟท. ราคาป้ายตามสัญญาเดิมตารางเมตรละ 23,637 บาท ราคาเสนอใหม่อยู่ที่ตารางเมตรละ 23,244 บาท และเนื่องจากป้ายใหม่มีตัวอักษรเพิ่มขึ้นและมีการเพิ่มตราสัญลักษณ์จึงทำให้ราคาสูงขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อตารางเมตรพบว่ามีความใกล้เคียงกัน
ดังนั้นการกำหนดขอบเขตการดำเนินการและการกำหนดราคากลางของ รฟท. ของการดำเนินโครงการครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่สามารถตรวจสอบได้ แต่อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม โดยเสนอให้ รฟท. อาจทบทวนเพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพและประหยัดงบประมาณของ รฟท. ให้ได้มากที่สุด เช่น
- รฟท. อาจทบทวนรายละเอียดทั้งในส่วนของวัสดุและเทคนิคที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้การออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ วิธีการจัดทำ และติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อในครั้งนี้ มีประสิทธิภาพสูงกว่าหรือมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการจัดทำ เทียบกับติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อในครั้งก่อน ทบทวนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน จำนวน และเวลาที่ใช้งานของกระเช้าอีกครั้ง
- รฟท. อาจพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ตัวอักษรเดิมสถานีกลางที่ติดตั้งอยู่ในปัจจุบัน มาปรับปรุงเพื่อใช้ติดตั้งแทนที่จะทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เนื่องจากตัวอักษรยังอยู่ในสภาพยังดี และสามารถนำมาปรับปรุงเหมือนกับตัวอักษรใหม่ได้
- รฟท. อาจทบทวนค่างานออกแบบที่น่าจะสามารถกำหนดอัตราส่วนของราคางานได้ต่ำกว่างานปกติ เนื่องจากเป็นงานที่ได้ออกแบบไว้เดิมอยู่แล้ว รวมทั้งการทบทวนงานเผื่อเลือก (Provisional Sum) ที่อาจสามารถปรับลดได้ เช่น การทบทวนความจำเป็นที่จะต้องมีวัสดุมาปิดไว้ทดแทนกระจกในขณะที่มีการรื้อถอน เนื่องจากงานดำเนินการในช่วงฤดูหนาว และอาคารสถานีบางส่วนเป็นพื้นที่ที่ไม่มีกระจกอยู่แล้ว เป็นต้น โดยหาก รฟท. รอบคอบกับงานออกแบบ จะทำให้ประหยัดงบประมาณในส่วนของ Provisional Sum ได้ถึง 1.6 ล้านบาท
ขณะที่ประเด็นความถูกต้องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ในการประมูลครั้งนี้ รฟท. ได้อ้างเหตุผลของการจ้างด้วยเหตุตามนัยมาตรา 56 (2) (ค) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 ซึ่งผลปรากฏว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของ รฟท. แม้จะเป็นการใช้ดุลพินิจตีความระเบียบกฎหมายในกรอบอำนาจหน้าที่ โดยอาศัยเหตุและผลความจำเป็นตามที่เข้าใจ และ รฟท. ได้ชี้แจงมาข้างต้นไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม ก็สมควรหารือผู้เชี่ยวชาญด้านพัสดุกรมบัญชีกลางให้ชัดเจน
นอกจากนี้ รฟท. ควรศึกษาทบทวนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสม รอบคอบ และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 โดยอาจพิจารณาแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างตามหลักการของกฎหมาย ที่เห็นควรให้ใช้วิธีการพิจารณาเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปเป็นลำดับแรกก่อน เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเปิดกว้าง ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นถึงความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของประชาชน