วันนี้ (24 มกราคม) พรรคชาติพัฒนากล้า จัดกิจกรรมแถลงข่าวรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจ ด้วยการเปิด 12 นโยบาย และแนวทางการหาเงินเข้าประเทศเพิ่มอีก 5 ล้านล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดหลักของพรรคคือ ‘งานดี มีเงิน ของไม่แพง’ โดยมีแกนนำพรรค เช่น สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรค, กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค, อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรค และ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานยุทธศาสตร์และนโยบายเศรษฐกิจของพรรค ร่วมแถลงข่าว
สำหรับ 12 นโยบายประกอบด้วย
- นโยบายในเรื่องการที่จะสร้างเศรษฐกิจใหม่ ที่จะมาหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่เม็ดเงินประมาณ 5 ล้านล้านบาท
- นโยบายลดค่าใช้จ่าย จะจัดโครงสร้างภาษีใหม่ บุคคลเงินเดือน 40,000 บาทแรกไม่ต้องเสียภาษี
- นโยบายสร้างเกษตรใหม่ที่จะเป็นแพลตฟอร์มใหม่ทางด้านเศรษฐกิจเป็นจุดแข็งของประเทศ
- นโยบายสินเชื่อ จากปัญหาเรื่องเครดิต จะผ่อนคลายให้ทุกคนกลับมาใช้สินเชื่อกันได้ใหม่
- นโยบายการใช้ระบบดิจิทัลมาปรับปรุงระบบราชการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว รวดเร็ว โปร่งใส
- นโยบายทางด้านการท่องเที่ยว ที่จะมาสร้างเงิน สร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มนักท่องเที่ยว 2 เท่า
- นโยบายด้านพลังงานในเรื่องของราคาไฟฟ้าและราคาน้ำมัน
- นโยบายด้านการศึกษา เพิ่มทักษะให้คนมีโอกาสทำงานมากขึ้น ประเทศไทยต้องเรียนรู้หลายภาษา
- นโยบายทุนธุรกิจสร้างสรรค์ สูงสุดรายละ 1 ล้านบาท ไม่จำกัดวุฒิและวัย
- นโยบายสูงวัยไฟแรง งานใหม่ 500,000 ตำแหน่ง
- นโยบายอารยสถาปัตย์ปรับปรุงบ้าน 50,000 บาทให้ผู้สูงวัยและผู้พิการ
- นโยบายมอเตอร์เวย์ทั่วไทย 4 ทิศ 2,000 กิโลเมตร
ขณะที่กรณ์กล่าวย้ำถึงนโยบายลดภาษีให้คนทำงานที่เงินเดือนไม่ถึง 40,000 บาท เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างมาก แต่ภาษีไม่เคยปรับลดเลย ขณะที่รัฐบาลลดภาษีนิติบุคคลของบริษัทขนาดใหญ่จาก 30% เหลือ 20% ตอนนี้รายได้รัฐเริ่มฟื้น สำนักงบประมาณประมาณการรายรับจะเพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท จึงเป็นจังหวะที่ดีที่จะลดภาระคนทำงาน 4 ล้านคน ซึ่งนโยบายนี้มีพรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ แต่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ทำ
ส่วนนโยบายรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่จะสร้างรายได้ให้ประเทศไทยได้อีก 5 ล้านล้านบาทภายใน 5 ปี ด้วยยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเฉดสี (Spectrum Economy) ซึ่งประกอบไปด้วย
- เศรษฐกิจสีเขียว: กรีนอีโคโนมี เศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียน ต้องแยกระบบสายส่งออกจากการไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งของรัฐ ขยายพื้นที่ป่าเป็น 40% หรือ 26 ล้านไร่ของประเทศ ด้วยการออกพันธบัตรป่าไม้มูลค่า 65,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ประชาชน ทั้งการขายพืชเศรษฐกิจและคาร์บอนเครดิต
- เศรษฐกิจสีเทา: เปลี่ยนส่วยเป็นภาษี ธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยมีเศรษฐกิจสีเทาแฝงอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สูงถึง 50% ของ GDP แต่ขาดโอกาสในการเก็บภาษีเข้ารัฐ จึงเสนอให้มีคาสิโนในรีสอร์ตเหมือนสิงคโปร์ ที่มีรายได้ในส่วนนี้ 200,000 ล้านบาทต่อปี
- เศรษฐกิจสีขาว: เศรษฐกิจสายมู ตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวสายมูที่เป็นเทรนด์ใหม่ในโลก จังหวัดละ 1,000 ล้านบาท
- เศรษฐกิจสีน้ำเงิน: เศรษฐกิจสายเทค สร้างโอกาสด้านดิจิทัลอีโคโนมี 1.75 ล้านล้านบาท สร้างโอกาสให้คนไทยเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ที่ทำได้ก่อนคือการท่องเที่ยว สามารถจองห้อง จองโรงแรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้เอง โดยไม่ต้องแบ่งรายได้ให้กับเจ้าของแพลตฟอร์ม ทำให้เราสูญเสียโอกาสไปมาก
- เศรษฐกิจสีรุ้ง จากความเท่าเทียมสู่โอกาสทางเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อสูงสุด 1 ล้านล้านบาททุกปี เริ่มด้วยการปรับกฎหมายให้สมรสได้ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการรองรับกำลังซื้อใหญ่จากทั่วโลก
- เศรษฐกิจสีเงิน ชูเศรษฐกิจวัยเก๋า สร้างบ้านผู้สูงอายุ ปรับปรุงบ้าน 50,000 ล้านบาท 1 ล้านครัวเรือน ลดสถิติคนสูงอายุล้มในบ้านปีละ 2 ล้านคน