×

จับตากระแสกดดันเยอรมนีต่อวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน รอยร้าวที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งใน NATO

23.01.2023
  • LOADING...

ขณะนี้สงครามรัสเซีย-ยูเครนดำเนินมานานเกือบ 1 ปีเต็ม และดูเหมือนว่าบรรดาชาติในยุโรปจะสามารถก้าวข้ามสงครามพลังงานกับรัสเซียไปได้ หลังจากที่รัสเซียตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกด้วยการระงับส่งก๊าซธรรมชาติและเชื้อเพลิงไปยังยุโรป นับตั้งแต่ช่วงต้นฤดูหนาวที่ผ่านมา โดยหวังให้ประเทศเหล่านี้เผชิญกับภาวะขาดแคลนพลังงานในช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็นอย่างยากลำบาก

 

แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เศรษฐกิจและการเมืองยุโรปมีเสถียรภาพและแข็งแรงมากเพียงพอที่จะรับมือกับมาตรการเชิงรุกของรัสเซีย คำถามสำคัญที่พวกเขากำลังเผชิญคือ พวกเขาต้องการให้ยูเครนชนะสงครามครั้งนี้หรือไม่ อย่างไร 

 

  • จุดยืนที่แตกต่างกันของเยอรมนีและพันธมิตร NATO

 

จากการตั้งคำถามที่ว่า เวลานี้ยุโรปกำลังพึ่งพาสหรัฐอเมริกาให้เป็นตัวหมากสำคัญในกระดานความมั่นคงของภูมิภาคยุโรปมากเกินไปหรือไม่ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากในวันหนึ่งสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหาอำนาจนอกภูมิภาค ตัดสินใจลดการสนับสนุนแก่ทางการยูเครนลง ในขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024 อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายไม่มากก็น้อย ความกังวลเหล่านี้สร้างแรงกดดันแก่บรรดาชาติยุโรป และผลักดันให้พวกเขาดำเนินมาตรการที่มีแนวโน้มรุนแรงและแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น 

 

จุดยืนที่แตกต่างกันของเยอรมนีและบรรดาชาติพันธมิตรในองค์การ NATO รวมถึงสหรัฐฯ ต่อกรณีการจัดหารถถังสัญชาติเยอรมนีอย่าง Leopard 2 ให้แก่กองทัพยูเครนนั้น สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างกันของบรรดาผู้นำชาติตะวันตกที่มีต่อการเดิมพัน และการประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในสงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้

 

โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารมองว่า รถถัง Leopard 2 อาจไม่ได้มีความสำคัญต่อกองทัพยูเครนมากขนาดนั้น แต่รถถังเหล่านี้ได้กลายเป็น ‘สัญลักษณ์ทางการเมือง’ ที่จะชี้ให้เห็นว่ายุโรปยังเต็มใจสนับสนุนยูเครนมากเพียงพอที่จะทำให้ยูเครนชนะสงครามครั้งนี้หรือไม่

 

ทางการเยอรมนีพิจารณาประเด็นการส่งมอบอาวุธหนักให้แก่ยูเครนอย่างระมัดระวัง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเมืองภายในประเทศ และความกังวลใจว่าสิ่งนี้อาจยิ่งทำให้สงครามรัสเซีย-ยูเครนยกระดับและขยายขอบเขตยิ่งขึ้น จนอาจนำไปสู่การทำสงครามนิวเคลียร์ในท้ายที่สุด 

 

ท่าทีและจุดยืนดังกล่าวนี้เองทำให้เยอรมนีในฐานะประเทศพี่ใหญ่ในยุโรป เผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากบรรดาประเทศต่างๆ ในแถบยุโรปเหนือและยุโรปตะวันออก ที่รู้สึกว่าการส่งมอบความช่วยเหลือทางด้านการทหารแก่ยูเครนเป็นวาระเร่งด่วนอย่างมาก หลังจากที่รัสเซียและยูเครนต่างเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะสงครามที่อาจรุนแรงขึ้น ภายหลังฤดูหนาวนี้ผ่านพ้น

 

  • ความกังวลใจที่เร่งเร้ากับเงื่อนไขของเยอรมนี

 

จากบรรดาความกังวลใจที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นแรงขับสำคัญที่ทำให้หลายประเทศในยุโรปเร่งการส่งมอบความช่วยเหลือทางด้านการทหารให้แก่ยูเครนโดยเร็ว ขณะที่เยอรมนีกลับยื่นเงื่อนไข โดยจะส่งมอบรถถัง Leopard 2 ให้แก่กองทัพยูเครน ก็ต่อเมื่อทางการสหรัฐฯ ตัดสินใจส่งมอบรถถังประจัญบานหลักอย่างรถถัง Abrams ให้แก่ยูเครนเสียก่อน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ฝรั่งเศสที่เปรียบเสมือนเป็นอีกหนึ่งเสาหลักของยุโรปไม่พอใจเป็นอย่างมาก พร้อมกับตั้งคำถามสำคัญว่า ถึงเวลาที่ยุโรปจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างมากกว่านี้ เพื่อความปลอดภัยของตนเองแล้วหรือไม่

 

ตลอดช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลหลายชาติในยุโรปต่างกังวลว่า พวกเขาจะสามารถรักษานโยบายสนับสนุนยูเครนและดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียให้นานกว่านี้ได้หรือไม่ หลังจากที่สงครามพลังงานของรัสเซียมีแนวโน้มที่จะทำให้ยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นให้เกิดกระแสต่อต้านในสังคมที่ประชาชนอาจต้องดิ้นรนจ่ายค่าพลังงานในอัตราที่สูงขึ้น

 

แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ากลยุทธ์ที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียหวังจะใช้ภาวะขาดแคลนพลังงานในช่วงฤดูหนาวเป็นเครื่องมือสร้างความบอบช้ำให้กับบรรดาชาติในยุโรปอาจไม่ได้ผลตามที่เขาคาดหวังไว้ หลังจากยุโรปสามารถหาแหล่งพลังงานทดแทนได้ ขณะที่ราคาเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลง และสภาพอากาศที่เคยหนาวเหน็บก็กำลังเข้าสู่ระดับที่ไม่รุนแรงอีกครั้ง ก่อนที่จะผ่านพ้นไปในที่สุด 

 

ทางด้าน แอนดรูว์ เคนนิงแฮม หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ยุโรปจาก Capital Economics ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ชี้ว่าเรารู้สึกประหลาดใจอย่างมากที่เศรษฐกิจ (ยุโรป) ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เอื้อต่อความพยายามในการลดใช้พลังงาน และรัฐบาลต่างๆ ก็ทุ่มงบประมาณจำนวนมาก เพื่อปกป้องภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมจากค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการเร่งสร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐานด้านพลังงานอย่างจริงจัง จึงมีโอกาสมากพอสมควรที่เราจะไม่เจอสถานการณ์ Price Shock อย่างที่เคยเกิดขึ้นในปี 2022

 

นอกจากนี้ภาวะเงินเฟ้อที่นำไปสู่การนัดหยุดงานและการประท้วงใหญ่ในหลายประเทศตะวันตก ไม่ได้นำไปสู่การเรียกร้องให้ยุติการสนับสนุนยูเครนของบรรดาสาธารณชนยุโรป โดยผลสำรวจล่าสุดของ Eurobarometer ที่สำรวจความคิดเห็นของพลเมืองยุโรปจำนวน 26,000 คนชี้ว่า พลเมืองยุโรปส่วนใหญ่ราว 3 ใน 4 ยังคงสนับสนุนนโยบายส่งมอบความช่วยเหลือด้านการเงินและการทหารแก่ยูเครน รวมถึงสนับสนุนนโยบายคว่ำบาตรต่อรัสเซีย มีเพียงชาติเล็กๆ ในยุโรปอย่างกรีซและสโลวาเกีย ที่ประชาชนส่วนใหญ่ต่อต้านการดำเนินนโยบายดังกล่าว แม้ในฮังการีที่ผู้นำอย่างนายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน พยายามขัดขวางการส่งมอบอาวุธหนักและมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในฮังการีก็สนับสนุนความพยายามของชาติในยุโรปที่จะช่วยเหลือยูเครนและคว่ำบาตรรัสเซีย 

 

ทางด้าน นาตาลี ทอคซี หัวหน้าสถาบันด้านการระหว่างประเทศในกรุงโรม อิตาลี ชี้ว่า บรรดารัฐบาลยุโรปส่วนใหญ่ไม่ได้รับเสียงทัดทานจากฝ่ายค้านในประเด็นนี้แต่อย่างใด พร้อมกับระบุว่า เสียงที่เคยสนับสนุนให้ยุโรปเจรจากับรัสเซียนั้นมีแนวโน้มลดลง หลังจากผู้คนมองเห็นว่า รัสเซียยังคงเดินหน้าทำสงครามในสมรภูมิยูเครนอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าปูตินอาจพยายามจะไล่ตามเป้าหมายที่จะคว้าชัยทางการทหาร มากกว่าที่จะหันมาผลักดันข้อตกลงสันติภาพ

 

ขณะที่ยูเครนได้ร้องขอความช่วยเหลือทางด้านการทหารจากบรรดาชาติพันธมิตรโดยเร็ว เนื่องจากความล่าช้าในการตัดสินใจ อาจหมายถึงความตายของผู้คนในประเทศนี้ พร้อมทั้งประกาศเตือนว่า สงครามในครั้งนี้อาจนองเลือดและยืดเยื้อมากยิ่งขึ้น เว้นเสียแต่ว่ากองกำลังยูเครนจะสามารถจัดการกับการรุกรานของรัสเซียได้อย่างเด็ดขาด

 

  • รอยร้าวครั้งใหม่ในยุโรปและ NATO

 

นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ของเยอรมนีได้เน้นย้ำว่า เป้าหมายคือการไม่ให้รัสเซียได้รับชัยชนะในสงครามครั้งนี้ สำคัญกว่าการสร้างหลักประกันว่า ยูเครนจะสามารถเอาชนะในสงครามนี้ได้ จุดยืนของเยอรมนีภายใต้การนำของโชลซ์ยิ่งทำให้ตัวเขาถูกโดดเดี่ยวจากบรรดาผู้นำชาติอื่นๆ ในยุโรป รวมถึงประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส ที่เพิ่งประกาศสนับสนุนยูเครนให้คว้าชัยในสงครามรัสเซีย-ยูเครน 

 

การดำเนินมาตรการที่ระแวดระวังของโชลซ์ได้ปลุกกระแสความไม่ไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาลเยอรมนีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในหมู่ประเทศแถบยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลยุโรปจำนวนไม่น้อยต่างตำหนิท่าทีที่ไม่แข็งกร้าวและเด็ดขาดของเยอรมนี ว่ามีส่วนสนับสนุนให้รัสเซียตัดสินใจรุกรานยูเครน โดยเฉพาะในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ที่บริหารจัดการความเสี่ยงช่วงที่ยุโรปเผชิญหน้ากับวิกฤตยูโรใกล้ล่มสลาย เมื่อปี 2010-2012 ได้อย่างไม่เป็นที่น่าพอใจ ทั้งยังไม่สามารถป้องปรามการทำสงครามยึดครองและผนวกรวมแหลมไครเมียของรัสเซียเมื่อปี 2014 อีกด้วย

 

ความคับข้องใจดังกล่าวบดบังข้อเท็จจริงที่ว่า ที่ผ่านมาเยอรมนีเองก็เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักทางด้านการทหารของยูเครนในยุโรป เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร แม้สหรัฐฯ จะเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดในช่วงเวลานี้ก็ตาม

 

โดยทางการเยอรมนีได้ให้เหตุผลหลายประการที่จะไม่ส่งมอบรถถัง Leopard 2 ให้แก่กองทัพยูเครน ตั้งแต่ข้อจำกัดเรื่องโลจิสติกส์ ความคิดเห็นของสาธารณชน รวมถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้น พร้อมกับเน้นย้ำว่า เยอรมนีจะส่งมอบรถถังเหล่านี้ให้กับยูเครนก็ต่อเมื่อสหรัฐฯ ส่งมอบรถถัง Abrams ให้แก่ยูเครนเสียก่อน ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ชี้แจงว่า เงื่อนไขดังกล่าวนี้อาจไม่เป็นผลดีต่อยูเครน และสหรัฐฯ ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

 

ท่าทีที่นิ่งเฉยของเยอรมนีต่อแรงรบเร้าของบรรดาชาติในยุโรป ซึ่งจำนวนไม่น้อยล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิก NATO เช่นเดียวกับเยอรมนี อาจยิ่งทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจ และเกิดรอยร้าวครั้งใหม่ในยุโรปและในองค์การ NATO ขึ้นได้ ท้ายที่สุดยุโรปจะก้าวข้ามภาวะติดหล่ม และบริหารจัดการความเสี่ยงของสงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้อย่างไร ต้องติดตาม

 

ภาพ: Gabriel Bouys / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X