สองประเทศยักษ์ใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้อยู่ในขั้นตอนเบื้องต้นของการหารือ เรื่องการออกสกุลเงินร่วมกันเพื่อการทำธุรกรรมทางการเงินและการค้า ซึ่งถือเป็นแผนการที่มีการพูดคุยบ่อยครั้งเพื่อรับมือกับอุปสรรคทางการเมืองและเศรษฐกิจ
บราซิลและอาร์เจนตินาได้พิจารณาทางเลือกในการรวมสกุลเงินเข้าด้วยกันมานานหลายทศวรรษ ซึ่งบ่อยครั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านอำนาจเงินสกุลดอลลาร์ในภูมิภาค, ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของสองประเทศ ประกอบกับอุปสรรคทางการเมืองที่กำลังก่อตัวขึ้น แต่เมื่อประกอบเข้าด้วยกันทำให้แผนการนี้มีความคืบหน้าในทางปฏิบัติเพียงเล็กน้อย
ทั้งนี้ หากความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จะทำให้สกุลเงินร่วมของทั้งสองประเทศกลายเป็นสกุลเงินร่วมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก
ประธานาธิบดีของทั้งสองประเทศ คือ ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล และ อัลเบร์โต เฟร์นันเดซ ของอาร์เจนตินา ร่วมเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ Perfil ว่าการใช้สกุลเงินร่วมกันสามารถเพิ่มการค้าในภูมิภาคได้
“เรามีความตั้งใจที่จะก้าวข้ามอุปสรรคการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ลดความซับซ้อนและปรับปรุงกฎให้ทันสมัย รวมทั้งส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น นอกจากนี้ เรายังตัดสินใจที่จะหารือล่วงหน้าเกี่ยวกับสกุลเงินทั่วไปของอเมริกาใต้ที่สามารถใช้สำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินและการค้า ลดต้นทุนการดำเนินงานและความเสี่ยงภายนอก” บทความระบุ
สำหรับสกุลเงินใหม่นี้ บราซิลได้เสนอให้เรียกว่า ‘Sur หรือ ซูร’ ที่แปลว่า ‘ใต้’ โดยจะใช้ควบคู่ไปกับเงินเรียลของบราซิล และเงินเปโซของอาร์เจนตินา
เซอร์จิโอ มาสซา รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอาร์เจนตินา เปิดเผยผ่าน Financial Times ว่า “หลังจากนี้จะมีการตัดสินใจเพื่อเริ่มต้นศึกษาเกี่ยวกับตัวแปรที่สำคัญสำหรับการสร้างสกุลเงินร่วมกัน ซึ่งรวมทั้งเรื่องของนโยบายการคลังไปจนถึงขนาดเศรษฐกิจ และบทบาทของธนาคารกลางของแต่ละประเทศ”
นอกจากนี้ บราซิลและอาร์เจนตินาจะเสนอแผนดังกล่าวให้กับประเทศต่างๆ ในอเมริกาใต้เพื่อสร้างเป็นสกุลเงินของภูมิภาค ซึ่งจะคิดเป็นสัดส่วนราว 5% ของ GDP โลก ขณะที่สกุลเงินร่วมที่ใหญ่ที่สุดอย่างยูโร คิดเป็น 14% ของ GDP โลก
ข้อเสนอล่าสุดเกิดขึ้นเมื่ออาร์เจนตินากำลังต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบกว่าสามทศวรรษ โดยประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่งแสวงหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า ขณะที่เศรษฐกิจของบราซิลคาดว่าจะฟื้นตัวจากวิกฤตในปีนี้ ซึ่งฝ่ายบริหารชุดใหม่ของลูลาวางแผนกระตุ้นการใช้จ่ายเป็นอย่างมาก เพื่อให้เป็นไปตามคำมั่นสัญญาจากการหาเสียงของเขา
ทั้งนี้ ในปี 1987 ผู้นำของทั้งสองประเทศเคยประกาศสร้างหน่วยบัญชีร่วมกันที่เรียกว่า Gaucho มีวัตถุประสงค์ในการวัดระดับการค้าระหว่างประเทศ แต่แนวคิดดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสองประเทศและปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีความผันผวนสูง
หลายประเทศทั่วโลกกำลังมองหาวิธีหลีกเลี่ยงการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ และพยายามขายหนี้ส่วนใหญ่ในสกุลเงินท้องถิ่น เช่น รัสเซียรับการชำระเงินต่างประเทศในสกุลเงินรูเบิลเท่านั้น หลังการคว่ำบาตรจากการรุกรานยูเครน ส่วนประเทศในเอเชียต่างพยายามเพิ่มการใช้เงินหยวนของจีนมากขึ้น ขณะที่อินเดียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มองหาแนวทางการขยายการค้าที่ไม่ใช่น้ำมันด้วยสกุลเงินรูปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘จีน’ ผนึก ‘รัสเซีย’ ดันสกุลเงินกลุ่ม BRICS เป็นทางเลือกชำระเงิน หวังคานอำนาจดอลลาร์สหรัฐ
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
อ้างอิง: