สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร เมื่อการเลิกจ้างผ่านพ้นไปใช่ว่าพนักงานในองค์กรจะกลับมาทำงานได้อย่างปกติราบรื่นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จริงหรือไม่ที่การเป็นผู้รอดชีวิตจากการเลิกจ้างนั้นเป็นเรื่องดี เมื่อผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ผู้รอดชีวิตจากการเลิกจ้างนั้นมีความเครียดสะสมเพิ่มสูงขึ้น และมีแรงผลักดันในการทำงานลดลง
จากการรายงานของ Challenger, Gray & Christmas ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 บริษัทในสหรัฐอเมริกามีอัตราการเลิกจ้างพนักงานสูงถึง 172% ซึ่งนั่นหมายถึงการมีพนักงานถูกเลิกจ้างกว่า 154,000 คน เทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 ที่มีพนักงานถูกเลิกจ้างเพียง 57,000 คน
ผลกระทบของการเลิกจ้างนั้นไม่ได้เกิดกับแค่พนักงานผู้โชคร้ายที่ถูกเลิกจ้าง แต่ส่งผลถึงพนักงานที่รอดด้วย ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การเลิกจ้างส่งผลให้พวกเขารู้สึกเชื่อใจองค์กรน้อยลง มีความพึงพอใจลดลง และมีการเผื่อใจรอรับโอกาสจากองค์กรอื่นมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่นา? รู้จักพฤติกรรมพิษร้ายจากนายจ้าง ‘Quiet Promotion’ เงินเดือนเท่าเดิม เพิ่มเติมคือหน้าที่รับผิดชอบ
- ทำงานจนตาย เดี๋ยวไม่ได้ใช้เงิน! รับเงินเดือนน้อยลง แต่ได้เวลาชีวิตมากขึ้น เทรนด์ใหม่มาแรงในหมู่พนักงานทั่วโลก
- ‘การลาออกครั้งใหญ่’ อาจกลายเป็น ‘การกลับไปทำงานครั้งใหญ่’ ด้วย 26% ของพนักงานที่ออกเสียใจกับการตัดสินใจ เพราะการหางานใหม่ ‘ยาก’ กว่าที่คิด
จากการสำรวจของ Biz Report พบว่า 70% ของผู้รอดชีวิตจากการเลิกจ้างล้วนบอกตรงกันว่าแรงผลักดันในการทำงานของพวกเขาลดลงอย่างมาก และกว่า 66% บอกว่าพวกเขารู้สึกว่าต้องทำงานหนักขึ้นหลังจากการเลิกจ้างครั้งใหญ่ และ 1 ใน 3 ของผู้รอดชีวิตเชื่อว่าทิศทางในอนาคตขององค์กรที่พวกเขาอยู่จะต้องมืดมนลงอย่างแน่นอน
เมื่อพนักงานเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัยกับหน้าที่การงานของตัวเอง ความเครียดก็พุ่งขึ้นสูง ทำให้หลังจากการเลิกจ้างอาจมีผู้รอดชีวิตจากการเลิกจ้างที่ตัดสินใจลาออกไปเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อทดแทนในส่วนของคนที่ถูกเลิกจ้างไป หรือการถูกโยกย้ายไปทำหน้าที่อื่นที่ไม่ถนัดโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า หรือแม้แต่ความไม่มั่นใจว่าการเลิกจ้างจะเกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อไร
Mark Dollins ประธานบริษัท North Star Communications Consulting บริษัทที่ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ได้ออกมาให้คำแนะนำว่า พนักงานระดับหัวหน้าควรทำให้ทุกคนทราบโดยทั่วกันอย่างชัดเจนว่าด้วยจำนวนคนที่น้อยลงจะทำงานให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายได้อย่างไร แจ้งแผนการที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับได้ให้กับพนักงานที่ยังคงอยู่หลังจากการเลิกจ้าง สิ่งที่สำคัญคือการให้ความมั่นใจกับพนักงานว่าพวกเขาจะยังเป็นที่ต้องการ และทิศทางในอนาคตขององค์กรต้องสว่างสดใส
การเลิกจ้างมักจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี เมื่อองค์กรตัดสินใจถึงทิศทางใหม่ แต่สภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่ไม่นอนก็ทำให้ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ การส่งสัญญาณให้พนักงานรับรู้ว่าตอนนี้ทุกอย่างยังคงโอเค ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ก็สามารถช่วยเสริมความมั่นใจในองค์กรให้กับพนักงานได้เช่นกัน
อ้างอิง: