หาก เลโอนาร์โด ดา วินชี คือสุดยอดนักออกแบบและประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งอดีตกาล เราอาจใช้คำเปรียบเปรยเพื่อยกย่อง โจนี ไอฟ์ ว่าเป็นสุดยอดนักออกแบบและนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคปัจจุบันได้อย่างไม่ขัดเขินนัก
สิทธิบัตรที่ถูกจดไว้ในสหรัฐอเมริกา 1,628 ชิ้นภายใต้ชื่อของเขาเอง และอีก 14,000 ชิ้นที่มีส่วนร่วมในนั้น กับผลงานการออกแบบอีกมากมายที่อยู่เหนือกาลเวลา ที่ต่อให้หยิบจับกลับมาถือครั้งใดก็ยังรู้สึกชื่นชมกับความสมบูรณ์แบบเสมอ ตั้งแต่เครื่อง iMac G3 สีสันสดใส ที่เป็นการปฏิวัติวงการและเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยแห่งการออกแบบที่ยิ่งใหญ่ของไอฟ์และ Apple, iPod เครื่องเล่นเพลงที่ปฏิวัติวงการเพลง จนถึง iPhone โทรศัพท์มือถือที่ทำได้มากกว่าแค่โทรหรือส่งข้อความหากัน และเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้อย่างสิ้นเชิง
ไอฟ์คือคนที่นำไอเดียจาก สตีฟ จ็อบส์ และทีมงาน Apple มาเปลี่ยนภาพความฝันให้กลายเป็นความจริงได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเรื่องราวของ เซอร์โจนาธาน พอล ไอฟ์ ที่หลายคนก็คงรู้กันดีอยู่แล้ว
สิ่งที่เราแทบไม่รู้เลยคือ ชีวิตและเรื่องราวของเขานับตั้งแต่ที่ตัดสินใจอำลา Apple บริษัทที่เขาใช้เวลาในการสร้างสรรค์ผลงานยาวนานถึงกว่า 27 ปี โจนี ไอฟ์ เป็นอย่างไรบ้าง ทำอะไรอยู่ และมีอะไรที่เราควรรู้เกี่ยวกับชีวิตของเขาหลัง Apple บ้างไหม?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เมื่อ ‘กำไร’ ต้องมาก่อน ‘การออกแบบ’ เปิดบันทึกเบื้องหลังการอำลาของ โจนี ไอฟ์ และการเปลี่ยนแปลงแนวทางไปตลอดกาลของ Apple
- แยกทางกันแบบสมบูรณ์! Apple ยุติการทำงานร่วมกับ ‘โจนี ไอฟ์’ หลังให้คำปรึกษาผ่านบริษัทออกแบบส่วนตัวของเขามานาน 3 ปี
- 5 สุดยอดบทเรียนที่กลั่นจากชีวิตการทำงาน 10 ปีกับ ‘สตีฟ จ็อบส์’ ที่เหล่า ‘Founder’ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
Safe Zone ของไอฟ์
“ผมเขียนอะไรๆ ได้เยอะกว่าสิ่งที่ผมวาดไม่ได้มากมาโดยตลอดนะ” ไอฟ์เล่าในระหว่างที่นั่งอยู่ในสวนของ Pacific Heights อาคารซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาซานฟรานซิสโก ที่เขาตัดสินใจเปลี่ยนให้กลายเป็นสตูดิโอส่วนตัวที่จะเปิดโอกาสต้อนรับเพื่อนๆ หรือแขกให้มาเยี่ยมเยือนเป็นครั้งคราว “ถ้าผมจะวาดสิ่งนี้ มันก็จะระบุแค่คุณสมบัติที่เด่นๆ ไม่กี่อย่างเท่านั้น”
ที่แห่งนี้ผ่านการออกแบบของไอฟ์ในแทบทุกจุด ไม่ว่าจะเป็นด้านในหรือด้านนอกอาคารที่ดูเป็นพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกเรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ก็มีห้องน้ำที่ปูด้วยหินอ่อนสีชมพู มีสวนล้อมรอบ และมีหินปูเป็นทางเดินเอาไว้
หากจะมียกเว้นก็แค่ถ้วยกาแฟของไอฟ์เท่านั้นที่เป็นการออกแบบของ มาร์ก นิวสัน คู่หูทางธุรกิจที่เป็นนักออกแบบด้วยกันโดยมีแบรนด์ Noritake จากญี่ปุ่น เป็นผู้ผลิตถ้วยกาแฟรุ่นนี้ให้
“ผมเป็นคนหมกมุ่น” ไอฟ์นิยามตัวเองแบบทีเล่นทีจริง แต่หากพิจารณาถึงสิ่งที่อยู่ในสถานที่ของเขาแล้วมันไม่ต่างอะไรจากการเดินเข้า Gesamtkunstwerk (คำภาษาเยอรมันที่มีความหมายว่าสมบูรณ์ศิลปกรรม) ซึ่งทำให้เราสัมผัสได้ทันทีว่าเขาตั้งใจสร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้นมาเหมือนวิหารส่วนตัว เพื่อปกป้องตัวเองจากความเจ็บปวดในการจะเห็นสิ่งที่เขารู้สึกว่ามันเป็นการออกแบบที่แย่
“ที่แบบนี้มันดีต่อการใช้ความคิดนะ” ไอฟ์บอก
วิธีคิดในแบบของไอฟ์
แล้วความคิดของไอฟ์มีหน้าตาแบบไหน? อะไรที่ทำให้เขาแตกต่างจากคนอื่น? เรื่องนี้ เดยัน ซูดิช นักเขียนและผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์การออกแบบลอนดอน บอกว่า คำตอบนั้นอยู่ที่ผลิตภัณฑ์ของ Apple ที่อยู่ในมือของพวกเราเอง
“โจนีเป็นคนที่สมบูรณ์แบบในคนเดียว”
“ไม่มีดีไซเนอร์ในยุคศตวรรษที่ 21 คนไหนที่เข้าถึงผู้คนได้ด้วยอิทธิพลของผลงานและการจับต้องได้ของผลงานการออกแบบนั้น โจนีพยายามที่จะทำให้เทคโนโลยีนั้นจับต้องและเข้าถึงได้สำหรับมนุษย์โดยที่มีความสง่างามด้วย
“บนโลกที่เรากำลังสนใจเรื่องของขนาดหน้าจอหรือความละเอียดของพิกเซล อย่างไรเสียมันก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งของที่จับต้องได้ ซึ่งเขานั้นมีความลุ่มหลงเกี่ยวกับเรื่องวัสดุ และใส่ใจอย่างมากว่าผู้คนจะใช้งานผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างไร”
สิ่งที่อาจทำให้หลายคนประหลาดใจคือ ในการจะเริ่มต้นออกแบบอะไรสักอย่าง ไอฟ์ไม่ได้เริ่มต้นมันด้วยการไปนั่งหลบมุมเงียบๆ เพื่อระบายความคิดออกมาลงบนแผ่นกระดาษ หากแต่มันจะเริ่มต้นจากบทสนทนาเกี่ยวกับสิ่งที่เขาคิดเสมอ นี่คือวัตถุดิบในการทำงานของเขา
“คำพูดนั้นทรงพลังอย่างมาก” ไอฟ์กล่าว “ถ้าผมบอกว่าผมจะออกแบบเก้าอี้ ลองคิดดูว่ามันจะอันตรายแค่ไหน เพราะมันหมายความว่าเรากำลังจำกัดความคิดไว้แค่เก้าอี้ และอาจหมายถึงการปฏิเสธความคิดอีกนับพัน
“ตรงนี้เองที่มันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น” ไอฟ์เล่าต่อ “ในเวลาที่เราได้ไอ้เดียซึ่งมันยังไม่ได้ผ่านการรับรองและยังไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรทั้งนั้น เพราะไอเดียที่สามารถแก้ไขปัญหาได้หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำเสร็จแล้ว สิ่งที่สนุกเกี่ยวกับเรื่องนี้คือการคิดถึงปัญหาของไอเดียนั้น เวลาที่มีคนบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอกความคิดนี้ และเราก็ได้เห็นว่ามันมีแต่คำว่าเป็นไปไม่ได้เต็มไปหมด มันจะทำให้เราต้องคิดและพยายามทำในสิ่งที่แตกต่าง ซึ่งด้วยความกล้าหาญ ผมเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้
“ผมรักการสร้างสิ่งที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างลึกซึ้ง ผมเป็นช่างฝีมือที่ชอบทำอะไรที่ใช้ได้จริง”
จากนักเรียนยอดแย่ สู่ก้าวแรกของการเป็นนักออกแบบผู้ยิ่งใหญ่
แต่ก่อนจะก้าวมาเป็นสุดยอดนักออกแบบเช่นนี้ โจนี ไอฟ์ ก็จัดเป็นตัวจี๊ดคนหนึ่งทีเดียว
เด็กชายโจนาธาน ไอฟ์ เกิดเมื่อปี 1967 ย่านตะวันออกเฉียงเหนือชานกรุงลอนดอน ในบ้านสุดคลาสสิกสไตล์วิกตอเรียที่อยู่ใกล้กับป่าเอปปิง โดยมี คุณพ่อไมเคิล ไอฟ์ เป็นช่างเงินซึ่งได้ร่ำเรียนวิชาการออกแบบมาจากโรงเรียนอาชีวะทางลอนดอนตะวันออก ก่อนจะได้เข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มิดเดิลเซ็กซ์โพลีเทคนิค
โจนาธานน้อยจึงได้ติดสอยห้อยตามพ่อไปตลอด ว่างก็วาดรูปเล่นเป็นรถโกคาร์ตบ้าง บ้านต้นไม้บ้าง หรือสารพัดไอเดียที่ออกจากความคิดที่บริสุทธิ์ของเด็กเพื่อให้พ่อดู โดยที่ในแต่ละปีจะมีหนึ่งวันที่พ่อจะให้รางวัลพิเศษแก่เขา ด้วยการอนุญาตให้สร้างอะไรก็ได้ที่เขาอยากทำในห้องทำงานของพ่อ
แต่ชีวิตในโรงเรียนของเขาไม่ได้สนุกแบบนี้ “ผมอ่านหนังสือแทบไม่ได้” ไอฟ์น้อยมีความสุขไปกับกระดานออกแบบหรือเฝ้าดูพ่อทำงานเท่านั้น “ตั้งแต่เริ่มผมเลยถูกตีตราว่าเป็นนักเรียนที่ไม่เอาไหน”
เมื่อเริ่มโตเป็นหนุ่มครอบครัวของเขาก็ย้ายไปทางตอนเหนือ และนั่นยิ่งทำให้ชีวิตของเขายากลำบากขึ้นไปอีก เพราะเขาไม่ค่อยอยากคุยกับใครเลย “ผมรู้สึกเข้ากับใครไม่ได้” ไอฟ์บอก และมันทำให้คนคิดว่าเขาขี้อายและอยากจะแกล้ง แต่โชคดีที่รูปร่างบึกบึนของเขาที่มาจากการเล่นกีฬารักบี้ทำให้คนเหล่านั้นไม่กล้านัก
ช่วงนั้นเองที่ไอฟ์เริ่มเดตกับสาวสวยผมบลอนด์อย่าง ฮีเธอร์ เพ็กก์ ที่พบกันในโบสถ์ ก่อนที่จะพบสิ่งที่ตัวเองอยากทำ
ถึงเขาจะเป็นแคนดิเดตสำหรับโรงเรียนวิจิตรศิลป์แต่เขาอยากจะเข้าเรียนที่โรงเรียนอาชีวะนิวคาสเซิลโพลีเทคนิคมากกว่า ซึ่งเมื่อเข้าเรียนที่นั่นเขาก็กลายเป็นดาวเด่นทันที เพราะนี่คือที่ของเขาอย่างแท้จริง
เขาหลงใหลในหลักของ Bauhaus (โรงเรียนศิลปะในเยอรมนี) ที่เห็นได้งานออกแบบของ ดีเตอร์ รัมส์ ดีไซเนอร์ผู้ยิ่งใหญ่ในยุค 60 ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมออกแบบของ Braun แบรนด์ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติเยอรมัน
ไอฟ์ยังสนใจกับความซื่อตรงต่อวัสดุและใส่ใจในเรื่องฟังก์ชันการใช้งานในการออกแบบ
ก่อนจะเรียนจบ เขาและฮีเธอร์ได้ตกลงใช้ชีวิตคู่ร่วมกันและมีลูกชายฝาแฝด ชาร์ลีและแฮร์รีเป็นโซ่ทองคล้องใจระหว่างกัน
การเดินทางสู่ ‘สวรรค์ของนักออกแบบ’
จุดเปลี่ยนสำคัญของไอฟ์เกิดขึ้นก่อนที่เขาจะเรียนจบมหาวิทยาลัยในปี 1989 เมื่อเขาได้รางวัลจากการประกวดมูลค่า 500 ปอนด์ (ประมาณ 750 ดอลลาร์ในเวลานั้น) เขานำเงินรางวัลที่ได้ไปซื้อตั๋วบินไปซานฟรานซิสโกทันที เพราะเคยได้ยินว่าที่นั่นคือ ‘สวรรค์ของนักออกแบบ’
และมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ไอฟ์ตื่นเต้นไปกับทุกสิ่ง โดยเฉพาะบรรยากาศในซิลิคอนแวลลีย์ ซึ่งดูจะเป็นโลกอีกใบที่แตกต่างจากโลกอนุรักษนิยมในอังกฤษเลย
ในวันที่เขาต้องเดินทางกลับอังกฤษ ไอฟ์สาบานกับตัวเองว่าเขาจะหาทางกลับมาให้ได้
โอกาสนั้นไม่ได้มาถึงเร็วนัก เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานกับเอเจนซีใหม่ในลอนดอนอย่าง Tangerine ก่อนจะโดนดึงตัวไปทำงานให้กับ Ideal Standard เพื่อออกแบบสุขภัณฑ์เซรามิกในห้องน้ำ
งานออกแบบของไอฟ์นั้นมาจากการศึกษาประวัติศาสตร์การออกแบบอย่างลึกซึ้ง เพียงแต่ผลงานการออกแบบมากมายของเขานั้นกลับถูกมองว่าผลิตได้ยากจนเกินไป และมันทำให้เขารู้สึกว่าเขากำลังเสียเวลาเปล่าประโยชน์ในที่แห่งนี้
ในเวลาเดียวกันนั้นเองที่เขาได้รับการติดต่อจาก Apple ให้มาเป็นคณะกรรมการการออกแบบ แต่จริงๆ แล้วมันคือการออดิชัน ซึ่งในปี 1992 ด้วยวัย 25 ปี ไอฟ์ได้รับข้อเสนอให้เดินทางกลับมาทำงานที่อเมริกาอีกครั้งดังใจหวัง
Apple และการพบกับ สตีฟ จ็อบส์
“ผมอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทในแคลิฟอร์เนียที่บ้าคลั่งแห่งนี้” นี่คือสิ่งที่ไอฟ์คิด เขาคาดว่าจะได้ทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่มีความเป็นหนึ่งในเดียวกัน มี Sense of Purpose ที่จะมุ่งไปในทางเดียวกัน แต่ชีวิตจริงมันไม่ง่ายแบบนั้น
สิ่งที่เขาต้องเจอก็คือ บริษัทที่กำลังเริ่มหลงทาง ผลงานการออกแบบแท็บเล็ต Newton ของเขาในปี 1992 แม้จะได้รับเสียงชื่นชม แต่ก็ขายไม่ออก มนตร์ขลังของ Apple เริ่มเสื่อมลงไม่ต่างจากคนที่ใกล้จะหมดลมหายใจ
“บทเรียนสำคัญที่สุดที่คุณไม่อยากจะเลือกเรียน นั่นเพราะมันเจ็บปวดมากเกินไป” ไอฟ์บอก “ความตายของบริษัทมันเลวร้ายมาก”
ความตายของ Apple หมายถึงงานในบทบาทหัวหน้าแผนกการออกแบบทางอุตสาหกรรมของเขาได้รับผลกระทบไปด้วย ทุกแผนกต่างคนต่างไปคนละทาง มันทำให้เขาเริ่มคิดที่จะลาออกจาก Apple และค้นหาทางใหม่ให้ชีวิตของตัวเอง
แต่แล้วในวันที่ 16 กันยายน 1997 12 ปีพอดีเป๊ะหลัง สตีฟ จ็อบส์ ต้องออกจากบริษัทที่เขาก่อตั้ง และหันไปก่อตั้ง NeXT แทน เขาได้กลับมายัง Apple อีกครั้งในตำแหน่งเดิมคือซีอีโอ
ฟังดูแล้วเหมือนไอฟ์จะกลับมามีไฟอีกครั้งใช่ไหม? เปล่าเลย เขาพยายามเกลี้ยกล่อมและแนะนำให้จ็อบส์มองหาดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียง เพื่อที่จะมาทำงานแทนเขาในตำแหน่งนี้ เพียงแต่มันเกิดอะไรบางอย่างขึ้นในระหว่างการประชุมร่วมกันครั้งแรก
คนบางคนก็เกิดมาเพื่อกันและกัน และไอฟ์ก็สัมผัสได้ว่าเขาและจ็อบส์มีคลื่นบางอย่างที่จูนตรงกันพอดี
“ผมคลิกกับสตีฟได้ในแบบที่ผมไม่เคยเป็นแบบนี้กับใครมาก่อน และไม่เคยมีใครอีกเลยหลังจากเขา”
ลูกแอปเปิ้ลมากมายที่หล่นจากต้น
เซอร์ไอแซก นิวตัน ค้นพบความลับของโลกในเรื่องกฎแรงโน้มถ่วงด้วยการร่วงหล่นของแอปเปิ้ลหนึ่งผล ส่วน โจนี ไอฟ์ ช่วยกันกับ สตีฟ จ็อบส์ ปลูกต้นแอปเปิ้ลขึ้นกลางซิลิคอนแวลลีย์ และต้นแอปเปิ้ลนี้ออกผลมากมายที่ร่วงหล่นลงมาเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซทั้งสิ้น
นับจากการพบกันและรู้สึกต้องชะตา ไอฟ์และจ็อบส์ทำงานแทบจะตัวติดกัน ทั้งสองช่วยกันเปลี่ยน ‘ก้อนความคิด’ ให้ออกมาเป็น ‘ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริงและจับต้องได้’ โดยผลงานชิ้นโบแดงที่เป็นการเปิดศักราชใหม่ของทั้งคู่คือ คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ iMac ซึ่งเปิดตัวในปี 1998
ด้วยการออกแบบของไอฟ์ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่ปกติแล้วจะมีรูปร่างเป็นกล่องสี่เหลี่ยมที่ดูน่าเบื่อหน่าย ได้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม ที่สำคัญสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายขึ้น และผลงานชิ้นนี้ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี Apple จำหน่ายเครื่อง iMac ได้ถึง 5 ล้านเครื่องภายในเดือนเมษายน 2001
Apple กลายเป็นบริษัทที่น่าจับตามองขึ้นมาทันที แต่มันไม่ได้จบแค่ผลงานชิ้นเดียว เมื่อไอฟ์ได้รับมอบหมายงานที่ใหญ่ขึ้น ไม่ได้อยู่แค่ในสตูดิโอ แต่ลงไปถึงระดับปฏิบัติการและไลน์การผลิตจนทำให้ต้องเดินทางไปยังโรงงานของ Apple ที่อยู่ในไต้หวัน จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เพื่อตรวจสอบการผลิตว่าเป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่ สำหรับผลงานชิ้นใหม่ที่ปฏิวัติวงการอีกครั้ง
สิ่งนั้นคือ iPod เครื่องเล่นไฟล์เพลงดิจิทัลที่แตกต่างจากเครื่องเล่นเพลง MP3 ทั่วไป ด้วยวิธีคิดในแบบของ Apple ซึ่งมาจากไอเดียของจ็อบส์ ที่ถูกนำมาขัดเกลาขึ้นรูปจนออกมาเป็นผลงานที่จับต้องได้จริงด้วยฝีมือการออกแบบของไอฟ์ ที่ทำให้เครื่องเล่นใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
iPod ได้ปฏิวัติวงการเพลงอย่างสิ้นเชิงในเวลาต่อมา แต่ทั้งสองก็ไม่ได้หยุดแค่นี้ เพราะในปี 2007 Apple ได้เปลี่ยนโลกทั้งใบอย่างสิ้นเชิงด้วย iPhone โทรศัพท์มือถือที่คู่ควรกับคำว่าสมาร์ทโฟน โทรศัพท์จอขนาดใหญ่ที่ไม่ต้องใช้สไตลัสในการจิ้มหน้าจอ แต่ใช้นิ้วมือได้เลย และเป็นการสัมผัสในแบบมัลติทัชด้วย
เพียงแต่กว่าจะออกมาเป็นดีไซน์ในแบบที่เห็นนั้น ไอฟ์และทีมงานต้องนำไอเดียของจ็อบส์มาประดิดประดอยอยู่นาน เริ่มจากการเป็นสมาร์ทโฟนที่หน้าตาเหมือน iPod ที่ขยายขนาดขึ้น ก่อนจะมาเป็นสมาร์ทโฟนในแบบที่เป็น Game Changer ของโลกใบนี้
ทั้งสองยังมีผลงานร่วมกันอีกมากมาย รวมถึงการออกแบบคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปบางเฉียบอย่าง MacBook Air (2008) และกระดานชนวนไฟฟ้าที่กลายเป็นสิ่งที่แทบทุกครอบครัวต้องมีอยู่ที่บ้านอย่าง iPad (2010)
เพียงแต่เวลาที่ได้ทำงานร่วมกันนั้นมันกลายเป็นสั้นเกินไป เมื่อจ็อบส์ ซึ่งปิดบังเรื่องอาการป่วยโรคมะเร็งตับอ่อนที่เจ้าตัวรู้มาตั้งแต่ปี 2003 ก่อนที่มันจะคร่าอัจฉริยะผู้เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ไปในปี 2011
ไอฟ์ ซึ่งอยู่ในห้วงเวลาสุดท้ายของจ็อบส์ร่วมกับ ลอเรน พาวเวลล์ จ็อบส์ ภรรยาของสตีฟ ลูกๆ ของเขา และ ทิม คุก ซึ่งเป็นซีอีโอในเวลาต่อมา บอกถึงความรู้สึกในการทำงานร่วมกับจ็อบส์ว่า “ผมรู้สึกโชคดีเหลือเกินที่ได้ใช้เวลาร่วมกับสตีฟมากมาย”
แต่ในเวลาเดียวกันการจากไปของจ็อบส์ก็เหมือนอีกครึ่งชีวิตของไอฟ์หายไปด้วย
ผลงานชิ้นสุดท้ายที่ไอฟ์เหลือไว้ให้
ไม่มีจ็อบส์แล้ว แต่ทุกคนต้องเดินหน้าต่อไป โจนี ไอฟ์ พยายามผลักดันโปรเจกต์ในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งเขาเชื่อว่ามันจะเป็นการนำ Apple ไปสู่อนาคต
ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวคือ Wearable Technology ซึ่งรวมถึง Apple Watch และ AirPods ที่กลายเป็นไอเท็มที่ใครๆ ก็ใช้กันในปัจจุบัน
ในความคิดของไอฟ์แล้ว Apple Watch จะช่วยผู้คนได้มากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพที่สำคัญในระดับความเป็นความตาย เช่น การตรวจจับการเต้นของหัวใจที่อาจผิดปกติหรือการสังเกตอาการป่วย ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริง
เพียงแต่เสียงวิจารณ์ต่อ Apple Watch ในช่วงของการเปิดตัวเมื่อปี 2015 ที่ถูกโจมตีเรื่องระยะเวลาการใช้งานต่อครั้งที่สั้น ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรได้เริ่มนำไปสู่ความรู้สึกที่เปลี่ยนไปของไอฟ์ที่มีต่อ Apple ใต้การบริหารของ ทิม คุก
ในปี 2017 ไอฟ์ซึ่งขณะนั้นเป็น Chief Design Officer ได้เปิดเผยโครงการอภิมหาโปรเจกต์ที่เป็นผลงานแห่งชีวิตของเขา และอาจเรียกได้ว่าเป็นผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นสุดท้ายก็ได้อย่าง Apple Park สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ Apple ที่ตั้งอยู่ในคูเปอร์ติโน
Apple Park เกิดจากการริเริ่มของเขากับ สตีฟ จ็อบส์ และ นอร์แมน ฟอสเตอร์ ซึ่งเป็นสำนักงานที่ไอฟ์ใส่องค์ความรู้ แนวคิด จิตวิญญาณ และทุกสิ่งทุกอย่างที่เขามีลงไปในนั้น ทำให้เป็นสำนักงานที่มีความพิเศษที่สุดไปไกลยิ่งกว่าแค่คำว่ายิ่งใหญ่ที่สุด
ไม่ต่างอะไรจากการนำเมล็ดจากผลแอปเปิ้ลมาหว่านไว้บนดิน ณ ที่แห่งนี้จิตวิญญาณของ Apple ได้ถูกปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ที่จะส่งต่อทุกอย่างสู่คนทำงานรุ่นสู่รุ่น ในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นนวัตกรรมที่ทั้งสมบูรณ์แบบ ล้ำสมัย และใช้งานได้จริง เพื่อรับใช้โลกใบนี้
มันคือสิ่งที่เขาหวัง แต่จะเป็นดังหวังไหม…ไอฟ์ไม่ใช่คนที่จะให้คำตอบ
การเริ่มต้นใหม่อีกครั้งกับ LoveFrom
ในปี 2019 ไอฟ์ตัดสินใจบอกลา Apple Park และอำลา Apple เพื่อออกมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในออฟฟิศที่มีขนาดเล็กกว่ามากมายมหาศาลอย่าง LoveFrom ที่ซึ่งเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง
เขาให้เหตุผลในการออกมาก่อตั้งบริษัทใหม่ในครั้งนี้ว่า เขารู้สึกต้องรับผิดชอบต่อการทำบางสิ่งที่สำคัญและมีความหมาย และนำความรู้ที่เขาร่ำเรียนมาเพื่อใช้ในการ ‘แก้ปัญหา’
ที่ LoveFrom นั้นทุกอย่างกลับไปสู่สิ่งที่เขาเชื่อคือ ‘บทสนทนา’ ระหว่างเขาและทีม สำนักงานแห่งนี้ไม่มีผนังหรือกำแพงมากั้นขวางเสียงของการสนทนา และบางครั้งการพูดคุยกันก็ลามไปถึงร้านอาหารแฝดสองแห่งอย่าง Cotogna และ Quince
สิ่งที่น่าสนใจคือพนักงานคนแรกที่ไอฟ์จ้างนั้นไม่ใช่ดีไซเนอร์ชื่อก้องอะไร แต่เป็นนักเขียนประจำ! และนี่เป็นสิ่งที่เขาภูมิใจ เพราะ LoveFrom คือที่เดียวที่เขารู้ ซึ่งมีคนที่มีหน้าที่ในการเปลี่ยนเอาไอเดียต่างๆ จากทีม ไม่ว่าจะเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ สถาปนิก ซาวด์เอนจิเนียร์ และดีไซเนอร์อุตสาหกรรม มาปรุงแต่งให้ออกมาเป็นถ้อยคำ
ถ้อยคำนั้นจะเอาไว้ใช้ในการทำงานและสื่อสารกับลูกค้านั่นเอง
ลูกค้าเจ้าแรกที่ตกลงใช้บริการของ LoveFrom ก็คือ Airbnb ซึ่งเอาเข้าจริงแค่ได้รู้ข่าวว่าไอฟ์ประกาศลาออกจาก Apple เพื่อมาก่อตั้งบริษัทของตัวเอง ไบรอัน เชสกี ผู้ร่วมก่อตั้ง Airbnb ก็รีบติดต่อมาเพื่อขอเป็นลูกค้าเจ้าแรกทันที และมันเป็นการตัดสินใจที่เขาไม่เคยผิดหวังเลย
To Infinity and Beyond!
เชสกีเป็นนักเรียนด้านการออกแบบที่โรงเรียนการออกแบบโรดไอส์แลนด์ นั่นทำให้เขาจูนคลื่นตรงกับไอฟ์ได้ไม่ยาก และพบว่าคนที่เขากำลังคุยด้วยคือ ‘ชิฟู’ ของวงการ
“ผมคิดว่าคนจะคิดถึงการออกแบบในเรื่องรูปลักษ์ของมัน แต่มันเป็นนิยามผิวเผินมากๆ ความจริงการออกแบบมันคือเรื่องการทำงานของสิ่งนั้น” เชสกีกล่าว “ผมเคยคิดมาตลอดว่าผมเข้าใจเรื่องการออกแบบ แต่ผมไม่เคยเข้าใจการออกแบบที่ลึกซึ้งเลย จนกระทั่งผมได้ทำงานร่วมกับโจนี”
สิ่งที่ไอฟ์และ LoveFrom ทำให้แก่ Airbnb ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ แต่เป็นเรื่องของการออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้ (User Experience) และหน้าตา (Interface Design) ซึ่งเป็นการทำเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะขณะนั้นบริษัทประสบปัญหาใหญ่ ยอดการจองตกลงกว่า 80% ในช่วงโรคระบาด
แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ไอฟ์ชี้ทางสว่างให้เชสกีคือ การอย่าลดทอนความพยายามในการสร้างนวัตกรรม แทนที่จะทำเช่นนั้น เขาสนับสนุนให้เชสกีคิดให้ใหญ่ขึ้นและพยายามข้ามขีดจำกัดทางความคิด ซึ่ง Airbnb มีกล่องบนหน้าโฮมเพจว่า Where และ When ที่ตีกรอบทุกอย่างไว้
ในความเห็นของไอฟ์ Airbnb นั้นเป็นเรื่องของ ‘การเชื่อมต่อ’ มากกว่า ดังนั้นเขาจึงชี้ทางสว่างให้ว่า “ไปให้ไกลกว่าคำว่า Where and When”
เท่านั้นเองที่เหมือนทุกอย่างได้ถูกปลดล็อกทันที เชสกีและ Airbnb พร้อมจะก้าวพ้นขีดจำกัดของตัวเอง โดยมีกุนซืออย่าง โจนี ไอฟ์ ที่ดูแลการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างตั้งแต่โลโก้บริษัทไปจนถึงกลยุทธ์เลยทีเดียว
Airbnb ไม่ได้เป็นลูกค้าเจ้าเดียวของ LoveFrom แต่ยังมี Ferrari และเจ้าอื่นๆ (รวมถึง Apple ด้วย) ซึ่งไอฟ์พยายามนำทุกสิ่งที่เขามีไม่ว่าจะเป็นความรู้ วิสัยทัศน์ ประสบการณ์ และความศรัทธาในการออกแบบมาใช้
ท่ามกลางคลื่นลมของการเปลี่ยนแปลงพัดโหมกระหน่ำ คำว่า Disruption กลายเป็นคำสามัญในโลกยุคปัจจุบัน แต่นักออกแบบอย่างไอฟ์ยังคงยืนหยัดในสิ่งที่เขาเชื่อ และพยายามปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดในสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ให้ได้
“ความสำเร็จเป็นศัตรูของความอยากรู้อยากเห็น” ไอฟ์สรุปสิ่งที่เป็นหนึ่งในปรัชญาการทำงานของเขา แน่นอนว่าเขาพยายามรักษาความอยากรู้อยากเห็นเอาไว้ให้มากที่สุดกับ LoveFrom
“สิ่งที่ผมได้ตระหนักก็คือการพยายามทำงานสร้างสรรค์กับคนกลุ่มใหญ่นั้นเป็นเรื่องยากลำบากมาก แต่มันก็ทรงพลังอย่างเหลือเชื่อด้วยในเวลาเดียวกัน”
ในวิหารส่วนตัวเล็กๆ ของเขา โจนี ไอฟ์ ยังทำในสิ่งที่เขารัก
การออกแบบที่มันจะอยู่ชั่วนิรันดร์ แม้จะรู้ว่าชั่วนิรันดร์ไม่มีอยู่จริง
ภาพ: Paul Harris / Getty Images และ Lia Toby / BFC / Getty Images
อ้างอิง: