สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เปิดเผยรายงานการศึกษาล่าสุดที่บ่งชี้ว่า โลกกำลังเข้าสู่ ‘ยุคอรุณรุ่งของอุตสาหกรรมใหม่’ ในการผลิตเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในปี 2030 และอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดจะกลายเป็นแหล่งสร้างงานนับล้านตำแหน่ง
รายงานของ IEA ที่มีการเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า ตลาดโลกสำหรับเทคโนโลยีการผลิตพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงแผงเซลล์แสงอาทิตย์ กังหันลม แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ปั๊มความร้อน และอิเล็กโทรไลเซอร์สำหรับไฮโดรเจน จะมีมูลค่าประมาณ 6.5 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีภายในสิ้นทศวรรษนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อ ‘เป้าหมายสีเขียว’ และ ‘เป้ายอดขาย’ ไม่สอดคล้องกัน เปิดช่องโหว่นโยบาย สิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมแฟชั่น
- ธปท. เตรียมออก Standard Practice ด้านสิ่งแวดล้อมในไตรมาส 3 พร้อมกำหนดให้แบงก์ส่งแผนและเป้าสีเขียวที่จับต้องได้ต้นปีหน้า
- ‘Bridgewater’ บริษัทจัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ใหญ่ที่สุดในโลก แนะวิธีลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อหนุนเป้าหมาย Net Zero
ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าระดับปัจจุบันมากกว่าสามเท่า อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ดังกล่าวจะเป็นไปภายใต้เงื่อนไขว่าประเทศต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้สัญญาไว้เกี่ยวกับพลังงานและสภาพอากาศอย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน IEA ระบุว่า งานที่เกี่ยวข้องในการผลิตพลังงานสะอาดจะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากหกล้านคนเป็นเกือบ 14 ล้านคนภายในปี 2030 และคาดว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมและการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษต่อๆ ไป เนื่องจากความคืบหน้าของการเปลี่ยนแปลง
แถลงการณ์ของ IEA กล่าวว่า อุตสาหกรรมพลังงานของโลกกำลังก้าวเข้าสู่อรุณรุ่งของยุคอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีการผลิตพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยจีนรั้งตำแหน่งเบอร์หนึ่งของโลกในการผลิตและการค้าเทคโนโลยีพลังงานสะอาด
อย่างไรก็ตาม IEA เตือนว่าการสกัดทรัพยากรและการผลิตที่เข้มข้นจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อุปทาน โดยมี 3 ประเทศคือ จีน ออสเตรเลีย และชิลี มีสัดส่วนสูงถึง 70% ของกำลังการผลิตสำหรับเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม แบตเตอรี่ อิเล็กโทรไลเซอร์ และฮีตปั๊ม ซึ่งเมื่อเทียบใน 3 ประเทศ จีนถือเป็นเจ้าตลาดทั้งหมด
ขณะที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกผลิตโคบอลต์มากกว่า 70% ของโลก ออสเตรเลีย ชิลี และจีน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของการผลิตลิเทียมทั่วโลก โดยลิเทียมถือเป็นทรัพยากรสำคัญสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
รายงานของ IEA ยังระบุอีกว่า ความตึงเครียดในห่วงโซ่อุปทานเสี่ยงที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานทำได้ยากขึ้นและมีค่าใช้จ่ายสูง โดยราคาของแร่โคบอลต์ ลิเทียม และนิกเกิลที่เพิ่มขึ้นในปี 2022 ทำให้ราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 10%
ขณะเดียวกัน ต้นทุนของการสร้างกังหันลมนอกประเทศจีนก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกันหลังจากราคาตกต่ำมาหลายปี ซึ่งแนวโน้มที่คล้ายกันกำลังส่งผลกระทบต่อแผงโซลาร์เซลล์ด้วยเช่นกัน
รายงานกล่าวว่าผู้พัฒนาโครงการพลังงานสะอาดและนักลงทุนกำลังเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด สำหรับนโยบายที่สามารถทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยนโยบายของรัฐบาลและทิศทางการพัฒนาตลาดสามารถมีผล
Fatih Birol ผู้อำนวยการบริหารของ IEA ได้ออกโรงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ กระจายห่วงโซ่อุปทาน โดยอ้างถึงการพึ่งพาก๊าซของรัสเซียในยุโรปว่า เป็นตัวอย่างที่สำคัญของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการหยุดชะงักที่เกิดจากการพึ่งพาแหล่งซัพพลายเดียวมากเกินไป
Birol ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ “เนื่องจากไม่มีประเทศใดที่เป็นเกาะแห่งพลังงาน และการเปลี่ยนถ่ายพลังงานจะมีค่าใช้จ่ายสูงและช้ากว่า หากประเทศต่างๆ ไม่ทำงานร่วมกัน”
ก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคม ทาง IEA กล่าวว่าการรุกรานยูเครนของรัสเซียมีแนวโน้มที่จะเร่งการเปลี่ยนแปลงของโลกไปสู่พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากเชื้อเพลิงฟอสซิลให้เร็วขึ้น โดยความมั่นคงด้านพลังงานคือ ‘ตัวขับเคลื่อนที่ใหญ่ที่สุดของพลังงานหมุนเวียน’ ตามด้วยข้อผูกพันด้านสภาพอากาศ และนโยบายอุตสาหกรรมของภาครัฐ
อ้างอิง: