×

“ถ้าย้อนเวลาได้ ก็จะทำแบบนั้นอีก” เปิดใจน้องแบม เด็กฝึกงานผู้เปิดโปงขบวนการทุจริตระดับประเทศ

27.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • น้องแบม-ปณิดา ยศปัญญา นิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เข้าฝึกงานในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น เปิดใจให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD หลังขบวนการทุจริตเงินสงเคราะห์ถูกเปิดโปงจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ
  • “อยากจะบอกว่าถ้าเราเมินเฉย สิ่งที่คุณทำเพื่อประชาชนมันก็เสียเปล่า แล้วประชาชนจะไปขอความช่วยเหลือจากใครได้” คือสิ่งที่น้องแบมอยากบอกกับคนที่พบเรื่องทุจริตแต่ไม่กล้าลุกขึ้นมาเปิดโปง
  • เมื่อถามว่าคุ้มค่าไหมกับความเสี่ยงที่ถูกคุกคาม น้องแบมเปิดใจว่า มันคุ้มค่ามากค่ะ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็จะทำแบบนี้อีก”

หากย้อนเวลากลับไปในวันที่ 7 สิงหาคม 2560 วันเริ่มต้นการฝึกงานวันแรกของ ปณิดา ยศปัญญา หรือน้องแบม นิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เข้าฝึกงานในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น

 

ในวันนั้นความรู้สึกของเธอคงมีเพียงความอยากเรียนรู้ และความตื่นเต้นกับประสบการณ์แปลกใหม่ที่จะได้พบเจอในการทำงานเสมือนจริงตามสิ่งที่ได้ร่ำเรียนมาเท่านั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าจุดเริ่มต้นในวันนั้นจะนำมาสู่การเปิดโปงขบวนการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและไร้ที่พึ่งในระดับประเทศที่หลายคนทราบข่าวใหญ่นี้กันดีอยู่แล้ว

 

 

จากความรู้สึกผิดปกติขณะกรอกเอกสารเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ที่มีปริมาณเยอะจนผิดสังเกต นำมาสู่การตั้งคำถามว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ หลังจากนั้นชีวิตนักศึกษาธรรมดาๆ คนหนึ่งก็เปลี่ยนไป

 

มีทั้งถูกข่มขู่คุกคาม การเค้นสอบจากอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เข้าใจว่าเธอกุเรื่องขึ้นมาเอง คำดูถูกว่า ‘ทำไมไม่เรียนให้จบก่อนล่ะ ถ้าอยากจะไปร้องเรียนเอาผิดเขา’ จนมาถึงการต้องก้มลงกราบเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก ในที่สุดเธอจึงตัดสินใจยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จนเรื่องลุกลามบานปลายเกินกว่าใครจะนึกถึง

 

เมื่อเรื่องราวใกล้มาถึงบทสรุป THE STANDARD จึงต่อสายพูดคุยกับน้องแบม ที่กำลังกลายเป็นฮีโร่ที่น่ายกย่องสำหรับสังคมไทย

อยากจะบอกว่าถ้าเราเมินเฉย สิ่งที่คุณทำเพื่อประชาชนมันก็เสียเปล่า แล้วประชาชนจะไปขอความช่วยเหลือจากใครได้

 

หลังจากเรื่องราวมาไกลขนาดนี้ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

คิดว่าชีวิตเปลี่ยนอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ก็ต้องระวังตัวมากขึ้น

 

ตอนที่ไปร้องเรียน และรู้สึกว่าไม่ปกติ ตอนนั้นรู้ไหมว่าถ้าไปร้องเรียนแล้วผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร

รู้ค่ะ แต่คิดแค่ว่าไม่อยากติดคุก เพราะเอกสารเหล่านั้นคือลายมือเรา ลายเซ็นเราที่ทำไปแล้ว แล้วจากการที่คุยกับพี่เจ้าหน้าที่ที่ร่วมร้องเรียนด้วยเขาก็พูดคุยเล่นๆ ว่า ในเมื่อแบมเรียนมาด้านนี้ พี่ก็ทำงานด้านนี้ แล้วเราจะเมินเฉยเหรอกับชาวบ้าน 2 พันคนที่เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เราก็คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วที่จะเข้าไปร้องเรียน

 

 

หลังจากเรื่องมันไปกันใหญ่แล้ว โดนคุกคามอะไรบ้าง

ช่วงนี้ไม่มี ตั้งแต่มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามา แต่ช่วงที่สื่อมาทำข่าวแรกๆ ก็เจอบ้าง คือหลังจากที่มีการออกข่าวไป 1-2 วันก็มีรถแปลกๆ เข้ามาในหมู่บ้านของญาติ ญาติก็โทรมาเล่าให้ฟังว่ามีคนมาถามหา บอกให้พาไปหาหน่อย แล้วก็มีรถเลื่อนกระจกลง แล้วชะลอเพื่อถ่ายรูป

 

จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง

สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือ หนูคิดว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน คือก่อนที่จะขอความช่วยเหลือจากใคร เราต้องดูก่อนว่าคนคนนั้นสามารถให้คำปรึกษา หรือให้ความช่วยเหลือเราได้ขนาดไหน ซึ่งคนคนนั้นต้องเป็นคนที่เราไว้ใจได้จริงๆ ด้วย

 

 

คิดว่าการเป็นคนดีมันมีต้นทุนที่สูงไหม เมื่อเทียบกับการอยู่เฉยๆ แล้วทำตามน้ำไปเรื่อยๆ

หนูคิดว่าไม่นะ เพราะหนูได้รับคำขอบคุณ และกำลังใจจากชาวบ้านที่เขาเดือดร้อนจริงๆ มาเยอะ รู้สึกดีใจมากกว่า เพราะจากที่ดูข่าว ทางชาวบ้านที่ ป.ป.ท. ลงไปสอบถามรายละเอียดเขาก็พูดว่า ป้าไม่รู้ว่าเป็นเด็กสถาบันไหน แต่ป้าขอบคุณมากที่มาเปิดโปง ถ้าไม่เปิดโปงป้าคงไม่รู้ว่าป้าโดนหลอก คือบางคนก็ได้เงินไม่ครบ หรือบางคนก็ไม่ได้เงินเลยทั้งที่มีชื่อเขาปรากฏอยู่

 

อยากจะบอกอะไรกับคนที่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ถูกต้อง แต่ไม่กล้าลุกขึ้นมาเปิดโปง

อยากจะบอกว่าถ้าเราเมินเฉย สิ่งที่คุณทำเพื่อประชาชนมันก็เสียเปล่า แล้วประชาชนจะไปขอความช่วยเหลือจากใครได้ ถ้าพวกเราเมินเฉยกันแบบนี้ ช่วยๆ กันเถอะค่ะ แล้วไม่ใช่แค่เรื่องนี้ แต่ประเทศเรากำลังมีปัญหาในหลายๆ เรื่อง

 

ต้องใช้ความกล้าแค่ไหนที่จะลุกขึ้นมาเปิดโปงเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่เราก็เป็นแค่นักศึกษาฝึกงานคนหนึ่ง

โห ต้องใช้ความกล้าอย่างมากเลยทีเดียว เพราะกว่าจะขึ้นไปร้องเรียนได้ หนูใช้เวลาปรึกษาหลายคน ใช้เวลานานมากกว่าจะตัดสินใจ คิด วิเคราะห์ แล้วระหว่างที่ตัดสินใจก็พยายามหาเอกสาร รวบรวมหลักฐานให้ได้มากที่สุด

ตอนที่ตัดสินใจว่ายังไงก็ต้องร้องเรียนแน่ๆ ตอนนั้นคือคิดถึงอนาคตของตัวเราเองด้วย แล้วก็คิดถึงประชาชน 2,000 คนที่เรากรอกเอกสารเป็นลายมือเรา ปลอมเรื่องเท็จให้เขา ทั้งๆ ที่เราไม่รู้จักบ้านเขา ไม่รู้รายได้ที่เขามี เหมือนเรารู้สึกผิดที่เราต้องมาทำอะไรแบบนี้ แล้วมันขัดกับสิ่งที่เราเรียนมา

 

 

หลายคนยกย่องว่าคุณเป็นคนที่มีอุดมการณ์ เป็นประชาชนต้นแบบ รู้สึกอย่างไรกับการยกย่องแบบนั้น

คือหนูก็ไม่ได้คิดว่าหนูเป็นคนดีนะ แต่สิ่งที่หนูทำ หนูทำตามแนวคิดที่… เอาง่ายๆ หนูชอบอะไร หนูก็ทำแบบนั้น ถ้าหนูไม่ชอบ หนูก็จะไม่ทำ

 

ปกติเป็นคนดื้อไหม

มึน ดื้อ เป็นคนไม่ฟังใคร (หัวเราะ) ถ้าโดนบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ ก็จะทำแบบไม่เต็มใจ แค่ทำให้เสร็จๆ ไป

 

ทำไมถึงเลือกมาเรียนคณะนี้

เป็นคนที่ชอบลุย ชอบลงพื้นที่ ชอบมากกว่านั่งตากแอร์ทำเอกสาร ก็เลยเลือกที่จะเรียนด้านการพัฒนาชุมชน

 

 

คิดว่ามาถูกทางไหมกับระบบราชการแบบนี้ รู้สึกว่ามันขัดแย้งกับสิ่งที่ตั้งใจไว้ไหม

มันก็ยากนะคะ แต่มันอยู่ที่ตัวเราเองมากกว่าที่จะเลือกทำในสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ยอมรับว่าระบบมันอาจจะมีปัญหา แต่คิดว่าเมื่อถึงเวลาจริงๆ มันก็อยู่ที่ว่าเราจะเลือกทำแบบไหนมากกว่า

 

ล่าสุดมีคนเสนองานให้ในกองทัพด้วย มองอนาคตของตัวเองอย่างไร

มองอนาคตไว้แล้วค่ะ คือตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่แรกแล้วค่ะว่าถ้าสอบทหารไม่ติด ก็ขอเรียนปริญญาตรีให้จบ พอจบแล้วก็จะไปสอบทหารต่อ

 

ทำไมถึงอยากเป็นทหาร

ไม่รู้สิคะ เหมือนมันเป็นความชอบ ชอบฝึก ชอบยิงปืน ชอบลุยๆ ซึ่งจริงๆ แล้วมันจะมีหน่วยทหารพัฒนาที่ร่วมทำงานกับชาวบ้าน ก็ตรงกับสิ่งที่เรียนมา ก็คิดว่าอยากทำงานในหน่วยงานนั้น

 

เหตุการณ์ที่เจอมามันสะท้อนช่องโหว่ของภาครัฐได้มากน้อยแค่ไหน แล้วคิดว่าภาครัฐควรจะปรับปรุงอะไร

คิดว่าควรจะปรับปรุงเรื่องการตรวจสอบให้มีความโปร่งใสมากขึ้นภายในกรมฯ เพราะถ้าเราช่วยกันตรวจสอบอย่างโปร่งใส ทาง ป.ป.ช. ป.ป.ท. เขาก็จะได้ทำงานง่ายขึ้น งานก็จะไม่หนักมาก เพราะก็เห็นใจทาง ป.ป.ช. ป.ป.ท. ที่ทุกวันนี้มีเรื่องการทุจริตค่อนข้างเยอะ ถ้าเราเห็นความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นแต่เราเมินเฉย มันก็เหมือนกับว่าเราไม่รักแผ่นดินเกิดของตัวเอง

 

 

หลายคนบอกว่าคุณพ่อคุณแม่สอนมาดี คุณพ่อคุณแม่สอนอะไรเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง

พ่อแม่ชอบสอนในเรื่องของความซื่อสัตย์ คือให้ซื่อสัตย์ต่อตนเองและคนอื่น เรื่องดีๆ ก็จะตามมา

 

กับคนที่เคยทำอะไรที่ไม่ยุติธรรมกับเรา ตอนนี้พอจะรู้ไหมว่าผลลัพธ์ที่เขาเจอมันเป็นอย่างไร

ผลลัพธ์ทางเจ้าหน้าที่ตอนนี้ก็ยังไม่ทราบ เพราะต้องรอผลการตรวจสอบของทาง ป.ป.ท. ก่อน ส่วนทางอาจารย์ก็มีทางสภามหาวิทยาลัยเข้าไปตรวจสอบอาจารย์แล้ว แต่ยังไม่ทราบผลเหมือนกัน ซึ่งล่าสุดเพิ่งสอบข้อเท็จจริงจากหนูไปช่วงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แล้วระหว่างนี้หนูก็จะยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมด้วย

 

อยากให้เรื่องนี้จบลงอย่างไร

ถูกก็ว่าไปตามถูก ผิดก็ว่าไปตามผิดค่ะ

 

สำหรับเรื่องทุจริตที่ตอนนี้มีการตรวจพบในหลายจังหวัด เคยคิดไหมว่าเรื่องจะมาถึงขนาดนี้

ไม่เคยคิดเลยค่ะ เพราะตอนร้องเรียนไปก็ขอให้ตรวจสอบเฉพาะที่ขอนแก่นแค่นั้น ไม่คิดว่าจะลามไปทั่วขนาดนี้ พอเห็นข่าวก็ตกใจ และรู้สึกช็อกเหมือนกัน มีความอึ้งในปริมาณที่มันเยอะขนาดนี้ คือเรารู้สึกว่าแค่ 2-3 พันคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ถือว่าเยอะแล้วนะ แต่ตอนนี้คือจิ้มไปที่ไหนก็เจอหมด ก็มีความช็อกประมาณหนึ่ง

FYI

ย้อนเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากล สู่นาทีที่ต้องก้มลงกราบเจ้าหน้าที่ทุจริต

สำหรับจุดเริ่มต้นของการสอบสวนปมทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและไร้ที่พึ่ง ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เกิดขึ้นตอนที่นักศึกษาฝึกงานอย่างน้องแบมรู้สึกว่ามีบางอย่างไม่ชอบมาพากลขณะที่ถูกมอบหมายให้กรอกเอกสารที่บ้านของ ผอ.ศูนย์คุ้มครองฯ

 

“ตอนนั้นรู้สึกแค่ว่าเอกสารที่ทำมันมีปริมาณมากเกินไป และคิดว่าเขาคงไม่ได้จ่ายเงินให้กับคนเหล่านั้นจริงๆ ก็เลยไปถามเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในศูนย์ พอทราบเรื่องว่าเราถูกมอบหมายให้ไปกรอกเอกสารที่บ้าน ผอ. เขาก็ตกใจมาก แล้วบอกว่ามันเข้าข่ายการปลอมแปลงเอกสาร”

 

หลังจากนั้นเธอจึงไม่นิ่งนอนใจ และตัดสินใจนำเรื่องนี้ไปปรึกษาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยถึง 2 ครั้ง ก่อนที่จะได้ข้อสรุปว่าอาจารย์จะทำเรื่องเปลี่ยนที่ฝึกงานให้ แต่เหตุการณ์กลับพลิกผันเมื่ออาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตพูดคุยตกลงกันแล้วลงความเห็นว่าเป็น ‘ความเข้าใจผิด’ และเพื่อให้เรื่องราวยุติลงด้วยดี น้องแบมและเพื่อนๆ ต้องคุกเข่าแล้วก้มลงกราบขอโทษเจ้าหน้าที่คนนั้น

 

“ตอนนั้นน้ำตาคลอค่ะ ไม่มองหน้าใครเลย มองไปที่หน้าต่างอย่างเดียว ความรู้สึกคือเสียใจที่อาจารย์ไม่เชื่อเรา และเสียความรู้สึกเพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด พอมองไปที่เพื่อนๆ แต่ละคนก็นั่งร้องไห้แล้วหันไปคนละทาง หนูเป็นคนเข้าไปกราบเขาเป็นคนสุดท้าย พอเงยหน้าขึ้นมาก็เห็นว่าเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ มองเข้ามา ตอนนั้นรู้สึกแย่มากๆ”

 

จากนั้นเธอจึงตัดสินใจยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อเป็นการปกป้องตัวเอง ก่อนที่อาจารย์จะทราบเรื่อง และเรียกพบเป็นการส่วนตัว

 

“พอเรื่องถึงหูอาจารย์ เขาก็พยายามคาดคั้นว่าใครเป็นคนร้องเรียน แต่หนูบอกไม่ได้ เพราะทาง ป.ป.ช. บอกให้ปิดเป็นความลับ อาจารย์ก็พูดลอยๆ ขึ้นมาว่า ‘ทำไมไม่เรียนให้จบก่อนล่ะ ถ้าอยากจะไปร้องเรียนเอาผิดเขา’ พอพูดเสร็จเขาก็เดินมาหาหนู แล้วบอกว่าขอตีสักทีได้ไหม แล้วก็เอามือมาฟาดที่หลังหนู 2 ที เสร็จแล้วก็เดินไปนั่งที่เดิม หนูรู้สึกอึ้งมาก แล้วเขาก็พูดต่อไปว่า ถ้าเรื่องมันอยู่แค่ในกรม ก็พอจะทำให้เงียบได้ แต่นี่ไปถึง ป.ป.ช. แล้ว ทางมหาวิทยาลัยจะไม่รับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น แล้วก็พูดลอยๆ อีกว่าทำอะไรไม่รู้จักคิด ตอนนั้นรู้สึกแค่ว่า เล่นกันอย่างนี้เลยเหรอ”

 

แม้จะผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายเหล่านั้นมา แต่เมื่อถึงวันนี้ที่ความจริงปรากฏ เธอเปิดใจกับเราว่า

 

มันคุ้มค่ามากค่ะ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็จะทำแบบนี้อีก”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X