วันนี้ (11 มกราคม) ทีมช่างภาพ THE STANDARD ลงพื้นที่สำรวจสายไฟ-สายสื่อสาร ที่ริมถนนดินแดงต่อเนื่องไปจนถึงแยกพระราม 9 พบว่าหลายจุดยังมีปัญหาสายไฟพันรุงรัง ระโยงระยางไปกับต้นไม้ และคล้อยต่ำใกล้ระดับที่ประชาชนเดินบนฟุตปาธ
สำหรับปีนี้ 2566 ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการพูดถึงการจัดการปัญหาสายไฟ-สายสื่อสาร ไว้ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา
โดย วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า การนำสายสื่อสารลงดิน ทาง กทม. ได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) เป็นผู้ดำเนินการ ตั้งแต่ 14 ธันวาคม 2561 นั้น ในระยะเวลา 4 ปี KT ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินแล้วเสร็จเป็นระยะทาง 9.9 กิโลเมตร ประกอบด้วย
- ถนนวิทยุ (ถนนเพชรบุรี-แยกเพลินจิต) ระยะทาง 1.337 กิโลเมตร
- ถนนรัชดาภิเษก (MRT ศูนย์วัฒนธรรม ประตู 3 – ซอยรัชดาภิเษก 7) ระยะทาง 2.060 กิโลเมตร
- ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ถนนสาทรใต้-ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10) ระยะทาง 1.670 กิโลเมตร
- ถนนวิทยุ (แยกเพลินจิต-แยกสารสิน) ระยะทาง 2.185 กิโลเมตร
- ถนนพระรามที่ 1 (แยกปทุมวัน-แยกราชประสงค์) ระยะทาง 2.150 กิโลเมตร
- ถนนเจริญนคร (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน) ระยะทาง 0.500 กิโลเมตร
ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายและไม่มีรายได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ปัญหาในการดำเนินการที่พบ คือ
- รูปแบบการก่อสร้างใช้เงินลงทุนสูง
- ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนมาดำเนินโครงการได้ เนื่องจากทุนจดทะเบียนของบริษัทเพียง 50 ล้านบาท ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และสถาบันการเงินต้องการเห็น MOU หรือสัญญาเช่าจากโอเปอเรเตอร์
- ไม่มีสภาพบังคับหรือกฎระเบียบที่ชัดเจนซึ่งกำหนดให้โอเปอเรเตอร์ต้องใช้ท่อร้อยสายใต้ดิน (ยังไม่มีผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ต้องการเช่าท่อร้อยสายสื่อสารของ KT ที่แน่นอน)
ซึ่ง KT ได้ลงทุนค่าก่อสร้างไปแล้ว 118,062,563.29 บาท ชำระแล้ว 11,041,196.00 บาท คงเหลือ 107,021,367.29 บาท
กทม. จึงต้องมีการทบทวนการดำเนินการของ KT เนื่องจากรูปแบบธุรกิจไม่สามารถดำเนินการด้วยตัวเองได้ ซึ่งสอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ได้มีข้อเสนอแนะ ข้อสังเกต และข้อทักท้วงหลายประเด็นถึงโครงการนำสายสื่อสารลงดินในพื้นที่กรุงเทพมหานครเมื่อกลางปี 2563
วิศณุกล่าวต่ออีกว่า การดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 การนำสายสื่อสารลงใต้ดิน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยการนำสายสื่อสารลงใต้ดินจะดำเนินการคู่ขนานไปกับการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของ กฟน. ซึ่งปัจจุบัน กฟน. ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 62 กิโลเมตร จากเป้าหมาย 236.1 กิโลเมตร ที่จะแล้วเสร็จในปี 2570
ส่วนที่ 2 การจัดระเบียบสายสื่อสาร มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กฟน. และ กสทช. ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 161.56 กิโลเมตร (37 เส้นทาง) และในปี 2566 จะดำเนินการอีก 442.62 กิโลเมตร โดยมีเป้าหมายการจัดระเบียบสายสื่อสารที่ 1,000 กิโลเมตร
วิศณุกล่าวด้วยว่า ในส่วนของท่อร้อยสายใต้ดินของ KT ที่ดำเนินการไปแล้ว กทม. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้โอเปอเรเตอร์มาเช่าท่อร้อยสายใต้ดินของ KT เพื่อบรรเทาปัญหา แต่โอเปอเรเตอร์เหล่านั้นมีท่ออยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องมาเดินสายซ้ำอีกที
“นี่จึงเป็นบทเรียนราคาแพงที่หน่วยงานภาครัฐต้องศึกษาความเป็นไปได้ให้รอบคอบก่อนลงทุน การที่ลงทุนไปแล้วแต่ไม่ได้รายได้ตามเป้าหมายที่คาดไว้ ก็จะเกิดปัญหาตามมา เนื่องจากสิ่งที่ก่อสร้างไปแล้วไม่สามารถแก้ไขหรือรื้อถอนได้” วิศณุกล่าวในที่สุด