×

โควิดในจีน หลังยกเลิก Zero-COVID จะส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร

04.01.2023
  • LOADING...

ก่อนหน้านี้การยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) ของจีนแทบเป็นไปไม่ได้เลย นับตั้งแต่การล็อกดาวน์เมืองอู่ฮั่นตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2020 ทางการจีนก็ใช้มาตรการควบคุมโควิดอย่างเข้มงวดเช่นนี้มาโดยตลอด อย่างเมื่อกลางปี 2022 ในขณะที่หลายประเทศให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้ว นครเซี่ยงไฮ้ซึ่งมีประชากรมากที่สุดของจีนกลับถูกล็อกดาวน์นานหลายสัปดาห์

 

จนกระทั่งวันที่ 7 ธันวาคม 2022 ทางการจีนประกาศยกเลิกนโยบาย Zero-COVID อย่างกะทันหัน ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดหลายด้าน และอีก 3 สัปดาห์ถัดมาก็ประกาศยกเลิกการกักกัน (Quarantine) ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 8 มกราคม 2023 เท่ากับว่าจีนกำลังจะเปิดประเทศเร็วๆ นี้ การยกเลิกนโยบาย Zero-COVID จะส่งผลกระทบต่อจีนและทั่วโลกอย่างไรบ้าง

 

นโยบาย Zero-COVID คืออะไร

 

Zero-COVID เป็นนโยบายควบคุมการระบาดให้เป็นศูนย์ และมีเป้าหมายกำจัด (Elimination) ไวรัสในท้ายที่สุด ตรงกันข้ามกับนโยบายอยู่ร่วมกับโควิด (Living with COVID) ที่ลดการระบาด (Mitigation) ให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ หลายประเทศเคยใช้มาตรการ Zero-COVID ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นอย่างหลังเมื่อมีความพร้อมด้านวัคซีนและยามากขึ้น 

 

มาตรการควบคุมโควิดสามารถสรุปเป็นตัวอักษรย่อว่า ‘TTIQ’ ได้แก่ การตรวจหาเชื้อ (Test) การค้นหาผู้สัมผัส (Trace) การแยกกักผู้ติดเชื้อ (Isolation) และการกักกัน (Quarantine) ทั้งผู้สัมผัสใกล้ชิดและผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ นโยบาย Zero-COVID จะใช้มาตรการเหล่านี้อย่างเข้มงวดและกว้างขวาง รวมถึงมาตรการทางสังคม เช่น การงดกิจกรรม การปิดสถานที่ การจำกัดการเดินทาง

 

สำหรับประเทศจีน นักวิชาการในกรุงปักกิ่งระบุว่าเป็นนโยบายที่จัดการการระบาดในพื้นที่อย่างแม่นยำ ตัดวงจรการระบาดอย่างรวดเร็ว และหยุดการแพร่ระบาดทันเวลา โดยเมื่อพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ เจ้าหน้าที่จะค้นหาผู้สัมผัสอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีใหม่อย่างการวิเคราะห์ Big Data ภายใน 24 ชั่วโมง และคัดกรองด้วยการตรวจสารพันธุกรรม ช่วยให้กักกันโรคได้อย่างแม่นยำ

 

เมื่อกลางปี 2022 การล็อกดาวน์ยังคงเป็นมาตรการหลักของจีน ประชาชน 25 ล้านคนในนครเซี่ยงไฮ้ต้องอยู่ภายใต้การล็อกดาวน์นานเกือบ 2 เดือนเพื่อควบคุมการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน โดยประชาชนถูกจำกัดกิจกรรมตามระดับความเสี่ยงของพื้นที่ โรงเรียน สถานที่ทำงาน และโรงงานหลายแห่งถูกปิด และมีการติดตั้งรั้วกั้นบนถนนเพื่อจำกัดการเดินทางของประชาชน

 

บทความของสำนักข่าวซินหัวเมื่อ 1 มกราคม 2023 อธิบายว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นโยบายนี้ของจีนสามารถจัดการการระบาดมากกว่า 100 เหตุการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถควบคุมอุบัติการณ์ อัตราป่วยรุนแรง และอัตราตายให้อยู่ในระดับต่ำสุดของโลก นอกจากนี้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรยังคงเพิ่มขึ้นท่ามกลางการระบาดใหญ่ จาก 77.93 ปีในปี 2020 เป็น 78.2 ปีในปี 2021 

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Our World in Data ระบุว่า ณ วันที่ 31 ตุลาคม จีนมีผู้ติดเชื้อสะสม 1.03 ล้านราย (724.3 รายต่อประชากรล้านคน) ในขณะที่ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 660 ล้านราย (79,093.7 รายต่อประชากรล้านคน) เท่ากับว่าที่ผ่านมาจีนสามารถควบคุมการระบาดให้ต่ำกว่าทั่วโลกถึง 100 เท่า ก่อนที่จีนจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2022 

 

มาตรการควบคุมโรคที่เปลี่ยนไป

 

จีนประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดอย่างกะทันหันในวันที่ 7 ธันวาคม 2022 เพราะก่อนหน้านั้นเพียง 10 วัน จีนเพิ่งประกาศล็อกดาวน์เมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของนครฉงชิ่ง พร้อมกับการตรวจหาเชื้ออย่างกว้างขวาง (Mass Testing) และการกักกันโรค ถึงแม้ว่าจีนจะไม่ได้กล่าวว่ายกเลิกนโยบาย Zero-COVID โดยตรง แต่ความเข้มงวดของมาตรการ TTIQ ลดลงอย่างชัดเจน กล่าวคือ

 

  • การตรวจหาเชื้อ: ไม่บังคับให้มีใบรับรองผลการตรวจเป็นลบ และไม่ตรวจสถานะสุขภาพ (Health Code) ยกเว้นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานพยาบาล ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน
  • การแยกกักโรค: ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยให้แยกกักที่บ้าน และครบแยกกักเมื่อผลตรวจสารพันธุกรรมในวันที่ 6 และ 7 หากเป็นลบ 2 ครั้ง
  • การกักกันโรค: ผู้สัมผัสให้กักกันที่บ้าน และครบกักกันเมื่อผลตรวจสารพันธุกรรมในวันที่ 5 เป็นลบ
  • การล็อกดาวน์: ระบุพื้นที่เสี่ยงสูงในระดับอาคาร/ชั้น/ครัวเรือน ไม่ขยายเป็นระดับเขตที่พักอาศัย/ชุมชน และครบล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงสูงเมื่อไม่พบผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 5 วัน 
  • การปิดสถานที่: ไม่ปิดสถานที่ในพื้นที่เสี่ยงต่ำ และเปิดโรงเรียนตามปกติ

 

จีนประกาศผ่อนคลายมาตรการอีกรอบในวันที่ 28 ธันวาคม โดยเปลี่ยนการเรียกชื่อ ‘โรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่’ เป็น ‘โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่’ และลดระดับการควบคุมโรคจากโรคติดเชื้อ ‘กลุ่ม B และจัดการแบบกลุ่ม A’ เป็น ‘กลุ่ม B และจัดการแบบกลุ่ม B’ (น่าจะคล้ายกับการลดระดับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังของไทย) กล่าวคือ

 

  • ตรวจหาเชื้อตามความสมัครใจ 
  • ไม่มีการค้นหาผู้สัมผัส/แยกกักโรค/กักกันโรค 
  • ไม่มีการระบุพื้นที่เสี่ยงสูง/ต่ำ 
  • รักษาผู้ติดเชื้อตามระดับความรุนแรง
  • ปรับความถี่และเนื้อหาของการรายงานข้อมูล
  • ยกเลิกการกักกันผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ แต่ยังต้องมีผลการตรวจสารพันธุกรรมเป็นลบภายใน 48 ชั่วโมงก่อนเดินทาง

 

สรุปคือไม่มีมาตรการ TTIQ อีกต่อไป และเปิดประเทศเกือบเต็มรูปแบบ เท่ากับว่าจีนได้ยกเลิกนโยบาย Zero-COVID ที่ดำเนินการมาตลอด 3 ปี ซึ่งจะมีผลในวันที่ 8 มกราคม 2023 ในระยะยาวการเปลี่ยนนโยบายครั้งนี้น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจโลก เพราะภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวจะกลับสู่ภาวะปกติ แต่ในระยะสั้นจะต้องผ่านข่าวร้ายที่เป็นการระบาดรุนแรงในจีนไปก่อน

 

ความพร้อมสำหรับนโยบายใหม่

 

บทความของสำนักข่าวซินหัวเมื่อเร็วๆ นี้ย้ำว่าการเปลี่ยนนโยบายควบคุมโควิดของจีนมีการวางแผนและเป็นไปตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ อีกทั้งคำนึงถึงความจำเป็นทางเศรษฐกิจและสังคม โดยอธิบายว่ามีปัจจัยที่เหมาะสมหลายประการคือ ไวรัสที่มีความรุนแรงลดลง อัตราการฉีดวัคซีนที่สูง และประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทำให้นโยบายป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของจีนเข้าสู่ระยะใหม่ 

 

ในระยะนี้จีนได้เตรียมระบบสาธารณสุขของประเทศ ได้แก่ การเพิ่มบริการทางการแพทย์ การส่งเสริมระบบการวินิจฉัยและรักษา และการขยายบริการทางการแพทย์บนอินเทอร์เน็ต โดยจัดตั้งคลินิกไข้ (Fever Clinic) มากกว่า 15,000 แห่งในโรงพยาบาลทุติยภูมิขึ้นไป และคลินิกไข้หรือห้องให้คำปรึกษามากกว่า 35,000 แห่งในสถานพยาบาลปฐมภูมิ นั่นคือการรองรับการระบาดเป็นวงกว้าง

 

อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยที่น่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจครั้งนี้คือการชุมนุมประท้วงนโยบาย Zero-COVID ในหลายเมืองช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน รวมถึงที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์ไฟไหม้ในเมืองอุรุมชี แต่ทางหนีไฟถูกปิดเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ (การผ่อนคลายมาตรการเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม กล่าวถึงการห้ามปิดทางหนีไฟและประตูทางเข้าอาคารเพื่อความปลอดภัยด้วย)

 

ทว่าการเปลี่ยนนโยบายอย่างกะทันเช่นนี้ทำให้มีความกังวลว่าจีนมีความพร้อมสำหรับนโยบายอยู่ร่วมกับโควิดมากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาจีนไม่เคยมีประสบการณ์ในการรับมือกับการระบาดเป็นวงกว้างทั่วประเทศ อัตราการฉีดวัคซีนที่สูงเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย และประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เคยติดเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้อาจเกิดการระบาดรุนแรง ทั้งจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต

 

สำนักข่าว South China Morning Post รายงานเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2022 ว่ายาลดไข้ในประเทศจีนขาดตลาด ผู้ป่วยล้นห้องฉุกเฉินและโรงพยาบาล ผู้สูงอายุเสียชีวิตเพิ่มขึ้น และห้องเก็บศพเต็มไปด้วยศพผู้เสียชีวิต สาเหตุที่ยาลดไข้ขาดตลาด เนื่องจากมาตรการ Zero-COVID ไม่อนุญาตให้ประชาชนซื้อยาผ่านร้านขายยา ทำให้บริษัทยาลดกำลังการผลิต และร้านขายยาสำรองยาไว้จำกัด

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Our World in Data ผู้ติดเชื้อโควิดในจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนพฤศจิกายน 2022 ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มระบาดมาที่มากกว่า 70,000 รายต่อวัน จากนั้นเริ่มลดลงในเดือนธันวาคมเหลือต่ำกว่า 10,000 รายต่อวัน ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการยกเลิกการตรวจหาเชื้อ และหยุดรายงานยอดผู้ติดเชื้อมาตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตมีรายงานไม่เกิน 10 รายต่อวัน 

 

ในขณะที่เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม หน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นของเมืองชิงเต่าระบุว่าพบผู้ติดเชื้อ 490,000-530,000 รายต่อวัน แสดงว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจริงในจีนน่าจะมากกว่าที่รายงานหลายเท่า ซึ่งบริษัทวิจัย Airfinity ในสหราชอาณาจักรคาดการณ์ว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 ล้านรายต่อวัน ผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,000 รายต่อวัน และน่าจะระบาดถึงจุดสูงสุดในช่วงกลางเดือนมกราคม 2023 

 

อัตราการฉีดวัคซีนในผู้สุงอายุ

 

ถึงแม้ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนจะมีความรุนแรงลดลง แต่ยังคงมีความรุนแรงในบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน และถึงแม้อัตราการฉีดวัคซีนในจีนจะสูงถึง 90% แต่จีนเน้นฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มวัยทำงานเป็นหลัก และวัคซีนที่ฉีดในประเทศเป็นชนิดเชื้อตาย นี่อาจเป็น 2 เหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการระบาดรุนแรงหลังจีนยกเลิกมาตรการ Zero-COVID

 

สำนักข่าว BBC อ้างรายงานอัตราการฉีดวัคซีนของทางการจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 ว่าในกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 65.8% (จาก 50.7% ในเดือนเมษายนของปีเดียวกัน) และได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 40.4% (จาก 19.7%) แสดงว่านโยบาย Zero-COVID ของจีนบังคับการตรวจหาเชื้อเป็นหลัก แต่ไม่ได้บังคับให้ประชาชนฉีดวัคซีนไปพร้อมกันด้วย

 

ทั้งนี้จีนพึ่งพาวัคซีน Sinovac หรือ Sinopharm ที่ผลิตในประเทศ ส่วนวัคซีนชนิด mRNA ไม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในจีนแผ่นดินใหญ่ นอกจากนี้การควบคุมให้ไม่เกิดการระบาดเลยมาตลอด ทำให้ประชาชนไม่มีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ จนเกิดเป็นภูมิคุ้มกันผสม (Hybrid Immunity) ซึ่งป้องกันอาการรุนแรงได้ดีกว่าการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อเพียงอย่างเดียว 

 

ดังนั้นเมื่อจีนประกาศยกเลิกนโยบาย Zero-COVID แล้ว สิ่งที่ต้องรีบทำในขณะนี้คือการเร่งฉีดวัคซีนทั้ง 2 เข็มแรกและเข็มกระตุ้นให้กับประชาชน โดยควรอนุมัติวัคซีนชนิด mRNA เหมือนในฮ่องกง ซึ่งทางการจัดหาวัคซีน mRNA ที่ผลิตโดยบริษัท Fosun ของจีน ร่วมกับ BioNTech ของเยอรมนี และยังควรจัดหายาต้านไวรัสแพ็กซ์โลวิดและโมลนูพิราเวียร์ให้เพียงพอด้วย

 

สายพันธุ์ของไวรัสในจีน

 

ปัจจุบันการระบาดของโควิดยังคงเกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แต่การระบาดที่รวดเร็วและรุนแรงในจีนในขณะนี้เกิดจากสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป (ECDC) ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1-30 ธันวาคม 2022 จีนรายงานข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสเข้าฐานข้อมูลระดับโลก (GISAID) มากขึ้น รวมทั้งหมด 592 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์ดังนี้

 

  • BA.5.2 (35%)
  • BF.7 (24%)
  • BQ.1 (18%)
  • BA.2.75 (5%)
  • XBB (4%)
  • BA.2 (2%)

 

ECDC ประเมินว่าสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในจีนอยู่ในขณะนี้แพร่อยู่ในสหภาพยุโรปอยู่แล้ว และด้วยอัตราการฉีดวัคซีนที่สูง การระบาดที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนจึงไม่มีผลกระทบต่อสหภาพยุโรป 

 

สำหรับประเทศไทย BA.5.2 เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2022 ส่วน BF.7 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกของ BA.5.2 อีกที พบเพียง 1% และปัจจุบันมี BA.2.75 เป็นสายพันธุ์หลัก

 

ดังนั้นถ้าข้อมูลที่จีนรายงานเป็นตัวแทนของทั้งประเทศ การระบาดรุนแรงในขณะนี้น่าจะเป็นผลมาจากระดับภูมิคุ้มกันของประชาชนที่ไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อหรืออาการรุนแรงของสายพันธุ์โอมิครอน ประเทศต่างๆ ที่ใช้นโยบายอยู่ร่วมกับโควิดอยู่ก่อนหน้านี้ (ส่งผลให้ยังมีการระบาดภายในประเทศอยู่) เช่น ไทย น่าจะไม่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศของจีน

 

ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ กลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหากฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน และลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในสถานที่แออัด ส่วนกระทรวงสาธารณสุขต้องเฝ้าระวังสายพันธุ์ในนักท่องเที่ยวและอาชีพใกล้ชิดนักท่องเที่ยว และพร้อมปรับมาตรการให้ทันเวลา

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X