ยุคดอลลาร์แข็งค่ากำลังถึงจุดสิ้นสุด ขณะที่บอนด์และตลาดเกิดใหม่จะผงาดอีกครั้ง เป็นส่วนหนึ่งของคำนายจากบรรดาผู้จัดการกองทุนทั่วโลกสำหรับปี 2023
- สิ้นสุดยุคดอลลาร์แข็ง
แม้ว่าดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) ได้ปรับตัวขึ้นมากกว่า 15% ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายนในปี 2022 เนื่องจาก Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรง
อย่างไรก็ตาม Joe Little หัวหน้านักกลยุทธ์ระดับโลกของ HSBC Asset Management ประเมินว่าดัชนีดอลลาร์จะลดลงมากกว่า 10% ในปี 2023 โดยอ้างถึงอัตราเงินเฟ้อที่ถึงจุดสูงสุดแล้ว และความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายของ Fed
นอกจากนี้ ในทางตรงกันข้าม เงินเยนของญี่ปุ่นอาจกลับมาพลิกแข็งค่าในปีนี้ หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สร้างสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการปรับกรอบการเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี
โดย Chris Jeffery หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อจาก Legal & General Investment Management กล่าวว่า ถ้าผมต้องเลือกสกุลเงินหนึ่งที่เคลื่อนไหวตรงข้ามดอลลาร์สหรัฐ ผมจะเลือก ‘เงินเยน’
- แรงซื้อหุ้นจีนกลับมา
นักลงทุนมองว่าหุ้นจีนจะกลับมา เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID การกลับมาให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้ง และการสนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลจีน
เนื่องจากจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดในจีนที่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง ทำให้ความไม่แน่นอนจึงยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตาม ความกระตือรือร้นในการเปิดประเทศใหม่อีกครั้งจะช่วยยกระดับตลาดทุนในเอเชียและการทำข้อตกลงในที่สุด
จะเห็นได้ว่าดัชนี MSCI ของจีนเพิ่มขึ้นเกือบ 40% ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคม และมีความเป็นไปได้ว่าจะสูงขึ้นอีก โดย BNP Paribas มองว่า หุ้นธุรกิจการเดินทาง การบริโภคภายในประเทศ และหุ้นเทคโนโลยีจะสามารถปรับตัวขึ้นได้อีก และได้ยกระดับมุมมองหุ้นจีนไปสู่ระดับ ‘Overweight’ ในปี 2023 ซึ่งรวมถึงหุ้นอื่นๆ เช่น Tencent และ trip.com ด้วย
- ตลาดเกิดใหม่ผงาดอีกครั้ง
ตลาดเกิดใหม่ (EM) จะพลิกฟื้นอีกครั้ง หลังจากปี 2022 เพิ่งขาดทุนครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์
โดย UBS ประเมินว่าหุ้นและดัชนีตลาดเกิดใหม่อาจได้รับผลตอบแทนระหว่าง 8-15% ในปี 2023 ขณะที่ Morgan Stanley ประเมินว่าตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นตลาดเกิดใหม่จะได้รับผลตอบแทนเกือบ 17%
นอกจากนี้ จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ตลาดเกิดใหม่ก็เคยฟื้นตัวแรงหลังเกิดวิกฤต โดยดัชนีหุ้นตลาดเกิดใหม่ของ MSCI เคยพุ่งขึ้น 64% ในปี 1999 หลังเกิดวิกฤตการเงินในเอเชีย และ 75% ในปี 2009
- บอนด์เตรียมฟื้น
หลังจากผ่านปีที่เลวร้ายที่สุดมา ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ประเมินว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในตลาดบอนด์ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ (ที่บีบบังคับให้ธนาคารกลางต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของพันธทั่วโลก) มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงในปีนี้ เนื่องจากภาวะถดถอยที่น่าจะเกิดขึ้น
โดยจากการสำรวจของ Reuters พบว่า บรรดานักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐอเมริกาจะชะลอตัวลงเหลือ 3.1% ภายในสิ้นปี 2023
ขณะที่ Valentine Ainouz นักกลยุทธ์ตราสารหนี้จาก Amundi Institute คาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีจะสิ้นสุดปี 2023 ที่ 3.5% จากระดับประมาณ 3.88% ในปัจจุบัน
สอดคล้องกับ Joost van Leenders นักยุทธศาสตร์อาวุโสจาก Van Lanschot Kempen ที่ซื้อเข้าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยคาดหวังว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลง เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง
- ตลาดหุ้นจ่อฟื้นตัวช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หรือนานกว่านั้น
J.P. Morgan คาดการณ์ว่าความวุ่นวายของตลาดและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะเริ่มต้นขึ้น แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะดีขึ้น เมื่อ Fed ตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางนโยบายในที่สุด
ขณะที่ Hani Redha ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของ PineBridge Investments คาดการณ์ว่าหุ้นสหรัฐฯ จะมีขาลงมากขึ้น ก่อนที่จะถึงจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ขณะที่ Trevor Greetham จาก Royal London Asset Management คิดว่าอาจใช้เวลานานกว่านั้น โดยระบุว่า ผมจะไม่แปลกใจเลย หากช่วงเวลาในการซื้อหุ้นอยู่ห่างออกไป 1 ปี หรือนานกว่านั้นเล็กน้อย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ทองคำ กำลังไหลเข้าเอเชีย ท่ามกลางดอกเบี้ยโลกที่กำลังขึ้นต่อเนื่อง
- ไขคำตอบ…ทำไม หุ้นเวียดนาม ดิ่งเกือบจะหนักสุดของโลก ล้างภาพดาวรุ่งแห่งเอเชีย
- เจมี ไดมอน จาก JP Morgan ชี้ สกุลเงินดิจิทัลรวมถึง Bitcoin เป็นแชร์ลูกโซ่แบบกระจายอำนาจ
อ้างอิง: