ผลการศึกษาทางการแพทย์ในฝรั่งเศส ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารสุขภาพ Lancet Public Health ในสัปดาห์นี้ พบว่าการติดแอลกอฮอล์เรื้อรังจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) หลายชนิด รวมถึงโรคสมองเสื่อมก่อนวัยอันควรด้วย
คณะนักวิจัยได้ศึกษาข้อมูลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในฝรั่งเศสจำนวน 1,109,343 คนที่เคยรักษาตัวในโรงพยาบาลในช่วงปี 2008-2013 โดยดูเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการติดสุราหรือโรคเรื้อรังอันเนื่องมาจากการดื่มเหล้ามากเกินไป ซึ่งพบว่า 57% ของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 57,353 คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมก่อนวัยอันควร (อายุต่ำกว่า 65 ปี) มีพฤติกรรมการดื่มเหล้ามากเกินไป โดยจำนวนนี้ 17.6% เป็นผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดสุราเรื้อรัง ขณะที่อีกเกือบ 40% ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์โดยตรง
ดร.เจอร์เกน เรห์ม (Dr.Jürgen Rehm) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเพื่อสุขภาพจิตแห่งศูนย์ Addiction and Mental Health (CAMH) มหาวิทยาลัยโทรอนโต ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้จัดทำรายงานวิจัยครั้งนี้ ระบุว่า “เราตั้งสมมติฐานในตอนแรกว่า แอลกอฮอล์จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคสมองเสื่อมไม่มากก็น้อย แต่ไม่คิดว่ามันจะส่งกระทบมากขนาดนี้”
ผลการศึกษาดังกล่าวทำให้คณะนักวิจัยเสนอแนะให้แพทย์พิจารณาคัดกรองและบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอันเนื่องมาจากการติดสุราเรื้อรัง โดยให้ลดการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
ดร.เรห์ม กล่าวว่า “ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า การดื่มสุรามากเกินไปหรือติดแอลกอฮอล์เรื้อรังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดของโรคสมองเสื่อมชนิดที่เกิดก่อนอายุ 65 ปี และเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วย ดังนั้นเราจึงสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้สมองถูกทำลายจากพิษแอลกอฮอล์หรือป้องกันไม่ให้เป็นโรคสมองเสื่อมก่อนถึงวัยได้”
เขาระบุด้วยว่า การติดแอลกอฮอล์เรื้อรังจะบั่นทอนอายุขัยเฉลี่ยลงกว่า 20 ปี และโรคสมองเสื่อมก็เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของคนเหล่านั้นด้วย
อีกหนึ่งผลการศึกษาที่น่าสนใจที่พบจากงานวิจัยนี้ก็คือ ถึงแม้ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ 2 ใน 3 ของผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมก่อนวัยอันควร (64.9%) เป็นผู้ชาย
ดร.เรห์ม กับคณะนักวิจัยยังได้วิเคราะห์ข้อมูลประวัติผู้ป่วยในฝรั่งเศสเพิ่มเติมเพื่อหาความสัมพันธ์ของปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ของการเกิดโรคสมองเสื่อมด้วย เช่น การสูบบุหรี่ ความดันเลือดสูง การสูญเสียการได้ยินหรือหูหนวก โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะซึมเศร้า เป็นต้น แต่ทีมวิจัยพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด
ขณะที่ ไมเคิล ชวาร์ซิงเกอร์ (Michael Schwarzinger) หนึ่งในผู้จัดทำรายงานระบุว่า ผลการศึกษายังพบด้วยว่า สมองที่ถูกทำลายจากแอลกอฮอล์แล้วจะไม่สามารถฟื้นคืนสภาพได้ดีอย่างเดิมอีกต่อไป
ด้านศาสตราจารย์โรเบิร์ต โฮเวิร์ด (Robert Howard) แห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน แสดงความเห็นต่องานวิจัยชิ้นนี้ว่า “สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดเกี่ยวกับรายงานฉบับนี้ก็คือ เราใช้เวลานานมากกว่าที่จะยอมรับได้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในทางที่ผิดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม”
ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ว่า การดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เกิน 60 กรัมต่อวันสำหรับผู้ชาย และ 40 กรัมสำหรับผู้หญิง จัดเป็นการติดแอลกอฮอล์เรื้อรัง ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ
สำหรับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขของไทย กำหนดว่า 1 ดื่มมาตรฐานหมายถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ปริมาณ 10 กรัม โดยผู้ชายที่มีสุขภาพดีไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 4 ดื่มมาตรฐานในแต่ละวัน ส่วนผู้หญิงที่มีสุขภาพดีไม่ควรดื่มมากกว่า 2 ดื่มมาตรฐานในแต่ละวัน นอกจากนี้ทั้งชายและหญิงยังไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ติดกันทุกวันด้วย เพราะจะให้โทษต่อร่างกาย
อ้างอิง: