Guillermo del Toro’s Pinocchio คือภาพยนตร์ Stop Motion จาก Netflix ที่ได้สองผู้กำกับมากฝีมืออย่าง Guillermo del Toro เจ้าของรางวัลออสการ์จาก The Shape of Water (2017) และ Mark Gustafson ผู้อยู่เบื้องหลังงาน Stop Motion เรื่องเยี่ยม Claymation Easter (1992) มารับหน้าที่หยิบนำวรรณกรรมสุดคลาสสิกอย่าง The Adventures of Pinocchio ของนักเขียนชาวอิตาลี Carlo Collodi มาตีความใหม่
ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวของ Geppetto (David Bradley) ชายชราผู้สูญเสียลูกชายอันเป็นที่รักไปในช่วงสงคราม จึงทำให้เขาจมอยู่กับความโศกเศร้าอยู่นานหลายปี ก่อนที่เขาจะตัดสินใจตัดต้นสนต้นหนึ่งมาทำเป็นหุ่นเชิดเพื่อหวังว่าจะเป็นตัวแทนของลูกชาย และในค่ำคืนนั้นเอง จู่ๆ ก็มีนางฟ้าปรากฏตัวขึ้นและร่ายเวทมนตร์ให้หุ่นเชิดมีชีวิตขึ้นมา พร้อมกับตั้งชื่อให้ว่า Pinocchio (Gregory Mann) เพื่อหวังว่า Pinocchio จะช่วยให้ Geppetto กลับมามีความสุขอีกครั้ง เรื่องราวการผจญภัยของ Pinocchio จึงเริ่มต้นขึ้น
The Adventures of Pinocchio นับว่าเป็นอีกหนึ่งวรรณกรรมสุดคลาสสิกที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นฉบับภาพยนตร์อยู่หลายครั้ง จนใครหลายคนน่าจะรับรู้เรื่องราวการผจญภัยของ Pinocchio กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
ดังนั้นแล้ว การที่ผู้กำกับ Guillermo del Toro และมือเขียนบท Patrick McHale ตัดสินใจตีความเรื่องราวของ Pinocchio ขึ้นมาใหม่ให้มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีประเด็นที่จริงจังมากขึ้น รวมถึงการใช้เทคนิค Stop Motion ที่เปี่ยมเสน่ห์ จึงส่งให้ Guillermo del Toro’s Pinocchio เรื่องนี้มีทั้งความสดใหม่และอัดแน่นไปด้วยมนตร์เสน่ห์ที่ชวนให้เราหลงใหล
ไล่เรียงตั้งแต่การหยิบนำเหตุการณ์สงครามโลกมาเป็นฉากหลัง ซึ่งขับเน้นให้มู้ดแอนด์โทนของเรื่องมีความจริงจังมากขึ้น และเสริมให้ปมปัญหาของตัวละครมีความหนักแน่นและมีมิติมากยิ่งขึ้น เช่น การฉายภาพความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง Geppetto และ Carlo ลูกชายของเขาให้เราได้รู้จัก ก่อนที่ Carlo จะโดนลูกหลงจากการทิ้งระเบิดจนเสียชีวิต ก็เสริมให้ปมปัญหาของ Geppetto ที่ต้องเผชิญกับความโศกเศร้ามีความน่าสนใจ และทำให้เราเข้าใจในการตัดสินใจต่างๆ ของเขามากขึ้น
รวมไปถึงการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ของตัวละครที่มีมิติ และปมปัญหาที่ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงกับพวกเขาได้ไม่ยาก ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ชวนให้เราอยากติดตามการผจญภัยของพวกเขาไปได้ตลอดทั้งเรื่อง ไล่เรียงตั้งแต่ Pinocchio ที่นอกจากจะเป็นตัวแทนของเด็กผู้ไร้เดียงสาเช่นเดียวกับต้นฉบับ ผู้กำกับยังเสริมแต่งเรื่องราวให้เขาเป็นภาพแทนของเด็กๆ ที่ถูกผู้ใหญ่คาดหวังให้พวกเขาเป็นในสิ่งที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็น มากกว่าการทำความเข้าใจและรักในตัวตนของเด็กๆ เหล่านั้น
หรือ Geppetto ที่ไม่ได้เป็นคุณพ่อผู้แสนใจดีและอ่อนโยนเช่นเดียวกับที่เรารู้จัก แต่เขายังเป็นตัวแทนของพ่อหรือผู้ใหญ่ที่ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบนัก บางครั้งก็ตัดสินใจบางอย่างผิดพลาด บางครั้งก็อ่อนแอเกินกว่าจะแบกรับความโศกเศร้าไว้ได้ และบางครั้งก็ไม่อาจเป็นที่พึ่งพิงให้กับเด็กๆ ได้ในยามที่พวกเขาต้องการเสียด้วยซ้ำ
ด้วยเรื่องราวของตัวละครที่ต่างก็มีบาดแผลที่ตัวเองต้องแบกรับเหล่านี้ จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกอินไปกับเรื่องราวที่ตัวละครกำลังเผชิญ และอยากเอาใจช่วยให้พวกเขาสามารถข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปได้ตลอดทั้งเรื่อง
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อการผจญภัยของ Geppetto และ Pinocchio เดินทางมาถึงตอนจบ เรื่องราวของพวกเขาก็ช่วยย้ำเตือนให้เราเห็นว่า ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม เราต่างมีแง่มุมที่อ่อนแออยู่ในตัวด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นแล้วการมีใครสักคนที่คอยอยู่เคียงข้าง คอยมอบความรัก ความห่วงใยให้แก่กัน จึงเป็นสิ่งสำคัญของคำว่าครอบครัว
ในภาพรวมแล้ว Guillermo del Toro’s Pinocchio เรียกว่าเป็นภาพยนตร์ Stop Motion จากผู้กำกับ Guillermo del Toro และ Mark Gustafson ที่หยิบนำวรรณกรรมคลาสสิกมาตีความใหม่ได้อย่างน่าสนใจ ทั้งในแง่ของงานสร้างที่เปี่ยมสีสัน เนื้อเรื่องที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น สามารถเชื่อมโยงกับผู้ชมได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมไปถึงการสร้างสรรค์เรื่องราวของตัวละครที่มีมิติ จนทำให้เราหลงรักพวกเขาได้ในทันที
Guillermo del Toro’s Pinocchio เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ ทาง Netflix
รับชมตัวอย่างได้ที่
https://www.youtube.com/watch?v=N0TEAU2qY-Q
ภาพ: Netflix