‘ไปรษณีย์ไทย’ เดินหน้าแผนปั้นรายได้ใหม่จากกระแสขนส่งสินค้าข้ามประเทศบูมจากการช้อปอออนไลน์ เตรียมรุกขนส่ง ‘ไทย-สปป.ลาว’ เตรียมปั้นแผนเชื่อมพื้นที่อีสานสู่จีน ผ่านรถไฟเร็ว ‘เวียงจันทน์-คุนหมิง’ พร้อมดันธุรกิจโอนเงินระหว่างประเทศ
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริการขนส่งข้ามพรมแดนเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับไปรษณีย์ไทยและผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในกลุ่มค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ ซึ่งหนึ่งในปลายทางที่มีโอกาสในการสร้างรายได้ในปัจจุบันและอนาคต ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เนื่องจาก สปป.ลาวนิยมเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตจากไทย รวมทั้งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดรับการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงเปิดพื้นที่เพื่อรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจหลายประเภท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘ไปรษณีย์ไทย’ อยากสลัดภาพ ‘บริษัทขนส่ง’ ทุ่ม 1 พันล้านเสริมแกร่งเทคโนโลยี ตั้งเป้าปี 66 จะขึ้นเป็น Data Company
- ไม่แข่งแล้วเรื่องสงครามราคา ไปรษณีย์ไทย ประกาศชัดขอโฟกัสเรื่องคุณภาพและบริการใหม่ๆ หลังปีที่ผ่านมาขาดทุนหลัก ‘พันล้านบาท’
- ไปรษณีย์ไทย ขึ้นราคาครั้งแรกในรอบ 18 ปี จดหมายประเภทซองเพิ่ม 5-10 บาท หีบห่อเป็นประเภทใหม่ เคาะเริ่มต้น 30 บาท
เพื่ออาศัยประโยชน์จาก สปป.ลาวให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้มีการขนส่งสินค้าไปลาวทั้งหมด 3,000 ชิ้นงาน ล่าสุดไปรษณีย์ไทยจึงได้เดินหน้าสร้างความร่วมมือทางด้านขนส่งกับรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ลาว (Entreprise des Postes Lao: ปนล) เพื่อกระตุ้นให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศมีความคึกคัก รวมถึงขยายตลาดสินค้าประเภทต่างๆ ไปสู่หัวเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพของทั้ง 2 หน่วยงาน
“ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นได้เพราะเราต้องการให้ไทยเป็นฮับของ CLMV ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม รวมไปถึงเรื่องการขนส่ง เนื่องจากการมีประชากรรวมกันกว่า 300 ล้านคน หากทำให้การขนส่งเชื่อมกันและทำให้แข็งเกร่งได้ จะกลายเป็นตัวต่อรองหากมีผู้เล่นยักษ์ใหญ่เข้ามา แทนที่ลงทุนเองก็หันมาใช้บริการของเราแทน”
สิ่งที่น่าจับตาคือ ‘ความร่วมมือเส้นทางขนส่ง’ ที่ได้เร่งหารือถึงความเป็นไปได้ในการขนส่งทางราง และทางภาคพื้นในเส้นทาง สปป.ลาว-คุนหมิง เพื่อรองรับการขนส่งข้ามแดนที่รวดเร็ว เช่น สินค้าทางการเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค จากไทยผ่าน สปป.ลาวไปถึงจีน และต้นทางจีนผ่าน สปป.ลาวมายังไทย
โดยเป็นการหารือแบบพหุภาคีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากไทย สปป.ลาว เวียดนาม และจีน ซึ่งหากในอนาคตสามารถใช้การขนส่งทางรถไฟได้ จะทำให้การขนส่งทั้ง 3 ประเทศมีความสะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อไปยังปลายทางยุโรป ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาระวางขนส่งอากาศซึ่งมีจำกัดและอัตราค่าขนส่งค่อนข้างสูงได้อีกด้วย
นอกจากนี้ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ดีขึ้น ได้มีการเปิดพรมแดนระหว่างไทยและ สปป.ลาว ทำให้สามารถเปิดให้บริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศทางภาคพื้นได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่น บริการไปรษณียภัณฑ์ บริการพัสดุไปรษณีย์ โดยทั้ง 2 ประเทศจะแลกเปลี่ยนถุงไปรษณีย์ ณ บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 แลกกัน 2 วันต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถทำการค้าได้สะดวกสบายกว่าเดิม
“นี่เป็นครั้งแรกที่เราจะขนส่งผ่านทางราง ปกติแล้วการส่งระหว่างประเทศจะใช้เครื่องบิน ซึ่งในช่วงโควิดมีต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการส่งทางรางทำให้เรามองว่าจะช่วยลดต้นทุนได้ราว 20% เมื่อเทียบกับการขขนส่งผ่านทางอากาศ”
ด้านการขายสินค้า-อีคอมเมิร์ซ ด้วยการนำสินค้าท้องถิ่นของ สปป.ลาว มาจำหน่ายบนเว็บไซต์ thailandpostmart.com ของไปรษณีย์ไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างคัดเลือกสินค้า เช่น งานคราฟต์ กาแฟ สินค้าหัตถกรรมจากไม้ ผ้าทอมือ ฯลฯ โดยจะเน้นกลุ่มสินค้าที่มีเรื่องราวหรือความน่าสนใจ ทั้งในเชิงการผลิต แหล่งที่มา อัตลักษณ์ของสินค้า รวมถึงการทำการตลาด-ขนส่งให้กับสินค้าไทยที่ต้องการขยายไปสู่ สปป.ลาว
อีกบริการที่น่าจับตามองคือบริการการเงิน โดยทั้ง 2 หน่วยงานได้เตรียมพัฒนาบริการการเงินในรูปแบบใหม่เพื่อรองรับการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เช่น การจ่ายเงินผ่านแอปลิเคชันหรือ E-Wallet และบริการจ่ายเงินปลายทาง (COD) ระหว่างประเทศ
“มีคนลาวมาทำงานในไทยประมาณ 5 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่รายได้ที่เข้ามาจะส่งกลับบ้าน โดยเราเห็น Pain Point คือการส่งเงินที่ต้องผ่านตัวกลางที่จะต้องโดนหัก 5-10% แต่เราสามารถทำให้ค่าธรรมเนียมดังกล่าวลดน้อยลงได้”
ด้านภาพรวมรายได้ของไปรษณีย์ไทยปัจจุบันแบ่งเป็นกลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 47.62%, กลุ่มไปรษณียภัณฑ์ 31.26%, กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 15.94%, กลุ่มธุรกิจการเงิน 1.78%, กลุ่มธุรกิจค้าปลีก 2.78% และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ 0.66%
นอกเหนือจากการสร้างรายได้จากกลุ่มดังกล่าวแล้ว ไปรษณีย์ยังมีแผนในการแสวงหารายได้จากน่านน้ำใหม่ทางธุรกิจ ซึ่งเป็น New S-Curve ขององค์กร ทั้งการเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจไปรษณียภัณฑ์เดิม เช่น แสตมป์ NFT, บริการจัดส่งสื่อโฆษณาทางไปรษณีย์ หรือ Advertising Mail ที่สามารถจัดส่งสิ่งพิมพ์โฆษณา หรือสินค้าตัวอย่าง ให้แก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายในรูปแบบ Direct Mail, บริการ e-Timestamp ประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ โดยปัจจุบันมีลูกค้า เช่น หน่วยงานภาครัฐ โรงพยาบาล สถานศึกษา เป็นต้น
นอกจากนี้ยังตั้งเป้าที่จะเป็นขนส่งรายแรกในการนำยานยนต์ไฟฟ้าจำนวนกว่า 600 คันมาใช้ในระบบงานไปรษณีย์และระบบนำจ่าย ทดแทนรถเดิมที่หมดอายุใช้งานในปี 2566 สอดรับกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมโลก
“ปีนี้เราคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่จะกำไรไหมอาจจะต้องดูอีกที แต่ที่แน่ๆ ปีหน้าเราตั้งเป้าที่จะกลับมาทำกำไรอย่างแน่นอน“ แม่ทัพไปรษณีย์ไทยกล่าว