รัฐมนตรีคลังตั้งเป้าจัดทำงบประมาณสมดุลให้ได้ภายใน 10 ปี โดยจะลดการขาดดุลงบประมาณลงตั้งแต่ปีหน้า เพื่อสร้างความมั่งคงทางการคลัง เผยแนวทางการจัดทำงบประมาณในอนาคตคือ การให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีดิจิทัล และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
วันนี้ (15 ธันวาคม) อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานการประชุมเชิงปฏิบัติการทางวิชาการด้านการงบประมาณ OECD Asian Senior Budget Officials Meeting ครั้งที่ 16 ว่ากระทรวงการคลังตั้งเป้าจัดทำงบประมาณสมดุลให้ได้ภายใน 10 ปี โดยขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการจัดเก็บรายได้ ซึ่งรวมไปถึงการขยายฐานภาษี โดยการนำระบบดิจิทัลมาใช้ก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่ทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘กรุงไทย’ เปิด 4 ปัจจัยหนุนท่องเที่ยวไทยฟื้นตัว คาดต้องใช้เวลาถึงปลายปี 2567 จึงจะกลับสู่ระดับก่อนโควิด
- รมว.ท่องเที่ยว ซาอุดีอาระเบีย หวังจีนเลิกคุมเข้มโควิด และเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง
- คลัง ‘หั่น’ คาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือ 3.4% เหตุการณ์ลงทุนภาคเอกชนจ่อทรุด พิษต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้น ยังหวังท่องเที่ยวดึง GDP ปีหน้าโต 3.8%
“ขนาดการขาดดุลงบประมาณควรต้องลดลง เพื่อสร้างความยั่งยืนและมั่นคงให้แก่ฐานะการคลัง ส่วนจะได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศและประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ โดยกระทรวงการคลังตั้งเป้าว่า ภายใน 10 ปี งบประมาณจะเข้าสู่ภาวะสมดุลได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามสถานการณ์” อาคมกล่าว
ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า การขาดดุลงบประมาณของไทยในปี 2022 น่าจะอยู่ที่ 5.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ก่อนจะขาดดุลลดลงเหลือ 3.2% ของ GDP ในปี 2023 ถือว่าน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่โดยเฉพาะการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ที่ขาดดุลถึง 7% ของ GDP
อย่างไรก็ตาม ในระยะปานกลาง (ระหว่างปี 2024-2027) การขาดดุลของประเทศไทยน่าจะอยู่ที่ 3.2-3.5% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนการระบาด (ปี 2013-2018) ซึ่งดุลงบประมาณอยู่ระหว่างขาดดุล 0.8% ถึงเกินดุล 0.5%
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคมนี้ สำนักงบประมาณร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการทางวิชาการด้านการงบประมาณ (OECD Asian Senior Budget Officials) ครั้งที่ 16 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ โดยประเด็นสำคัญในการประชุม ประกอบด้วย พัฒนาการด้านการงบประมาณและรายจ่ายภาครัฐในปัจจุบันและอนาคต การสร้างความยั่งยืนทางการคลังและการจัดลำดับความสำคัญใหม่ในประเด็นการคุ้มครองทางสังคมและโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล พัฒนาการด้านการพิจารณาทบทวนการใช้จ่ายภาครัฐ และบทบาทของสำนักงบประมาณของรัฐสภา เป็นต้น
อาคมกล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้แบ่งปันประสบการณ์การดำเนินนโยบายการคลัง โดยเฉพาะด้านงบประมาณ ซึ่งมีความสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ ตัวอย่างเช่น โครงการคนละครึ่ง และโครงการช่วยเหลือภาคธุรกิจท่องเที่ยว เราเที่ยวด้วยกัน
แนวทางการจัดทำงบประมาณของ ‘ไทย’ หลังโควิด
สำหรับแนวทางการจัดงบประมาณในอนาคตช่วงหลังโควิด อาคมระบุว่า ควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงรายจ่าย รวมไปถึงการหารายได้ให้แก่รัฐบาล เพื่อมาชำระหนี้ที่ได้ใช้จ่ายไปในช่วงโควิด
โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดทำงบประมาณสามารถทำได้โดยจัดอันดับว่าอะไรคือความสำคัญของประเทศ โดยประเทศไทยได้เสนอ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญแก่ BCG
- การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นำมาใช้ในกระบวนการทำงานมากขึ้น ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน
- การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะกับโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายการเติบโตของ GDP ที่กระทรวงการคลังตั้งไว้ที่ 3-4% จำเป็นต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากช่วง 2 ปีที่แล้ว การจัดงบประมาณมุ่งไปกับการให้ความช่วยเหลือ” อาคมกล่าว