เมื่อคืนนี้ (13 ธันวาคม) สหรัฐฯ รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงอัตราเงินเฟ้อ ออกมาเพิ่มขึ้น 7.1% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ระดับ 7.3% ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้ง 3 ตลาดสำคัญ คือ Dow Jones, S&P 500 และ Nasdaq ปรับตัวขึ้นได้ทั้งหมด
ขณะที่ตลาดหุ้นในฝั่งเอเชียช่วงเช้าวันนี้ต่างได้รับ Sentiment เชิงบวกจากประเด็นดังกล่าวเช่นกัน โดยตลาดหุ้นเกือบทั้งหมดสามารถยืนอยู่ในแดนบวกได้ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นแตะ 1,638.88 จุด เพิ่มขึ้น 12.97 จุด หรือ 0.79% จากวันก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รายงานชี้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยไม่ช่วยสกัดเงินเฟ้อ ตราบใดที่การใช้จ่ายภาครัฐยังอยู่ในระดับสูง
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ ‘หดตัว’ สองไตรมาสต่อเนื่อง เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ขณะที่ NBER ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ
สรพล วีระเมธีกุล หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย มองว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาดมาจากฝั่งสินค้าที่ชะลอลง ในขณะที่ฝั่งบริการเหลือเพียงส่วนของอสังหาริมทรัพย์ที่ยังเห็นการเพิ่มขึ้นได้ต่อ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน
“การประชุม FOMC ที่จะเกิดขึ้นในวันนี้มีโอกาสสูงมากๆ ที่จะเห็นการส่งสัญญาณว่าจุดพีคของอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อาจจะไม่ถึง 5% แต่ในมุมของการกลับลำนโยบายการเงินอาจยังเห็นจนกว่าจะถึงเดือนมีนาคมปีหน้า”
สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย สรพลคาดว่า จะเห็นปรากฏการณ์ ‘Santa Rally’ หนุนให้ดัชนี SET วิ่งขึ้นไปถึงระดับ 1,740 จุด โดยจะเป็นการวิ่งขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีนี้ ไปจนถึงช่วงก่อนการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมปี 2566
“การชะลอของเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะช่วยให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง โดยมีโอกาสจะแข็งค่าไปถึงระดับ 33.5-34 บาทต่อดอลลาร์ ช่วยให้ Fund Flow ไหลเข้าไทย ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่น่าจะดีต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ไปจนถึงไตรมาส 1 ปีหน้า”
อย่างไรก็ตาม การขึ้นของหุ้นไทยในรอบนี้อาจจะไม่ได้ขึ้นทั้งตลาด แต่จะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ เช่น ค้าปลีก การเงิน โรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยัง Laggard และมีแนวโน้มที่จะถูกปรับประมาณการกำไรขึ้น
ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจจะพีคไปแล้วในแง่ของอัตราการเติบโตจากปีก่อน แต่เรายังคงเห็นการเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทำให้เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูง หมายความว่าราคาสินค้าต่างๆ จะยังอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกพักใหญ่
“เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงเป็นที่มาที่ไปของ Terminal Rate ที่มีโอกาสขยับขึ้นเป็น 4.75-5% และอาจจะเป็นการมองโลกในแง่บวกเกินไปหากจะคาดการณ์ว่า Fed อาจจะลดดอกเบี้ยลงทันทีในครึ่งปีหลังของปีหน้า”
อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นมีโอกาสจะตอบรับในเชิงบวกตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ไปจนถึงไตรมาส 1 ของปีหน้า ซึ่งประเมินดูแล้วไม่มีเหตุการณ์สำคัญใดๆ ที่จะเข้ามากระทบมากนัก
“ช่วงที่เหลือของปีนี้ทางค่อนข้างจะสะดวก การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ การประชุม Fed จะผ่านพ้นไปแล้ว เว้นแต่ว่าการประชุมคืนนี้จะมีเซอร์ไพรส์เชิงลบ ก่อนที่ตลาดจะเผชิญกับปัจจัยลบอีกครั้งในช่วงไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ปีหน้า ซึ่งจะเป็นช่วงที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ จะเริ่มส่งสัญญาณลบจากนโยบายการเงินแบบหดตัวที่สะสมมา”
อย่างไรก็ดี การวิ่งขึ้นของหุ้นไทยในรอบนี้อาจจะไม่ได้ถึงขั้นทำจุดสูงสุดใหม่ ขณะที่มูลค่าของหุ้นไทยก็ไม่ได้มีแต้มต่อมากนัก สำหรับกลุ่มหุ้นที่น่าจะโดดเด่นในรอบนี้คือกลุ่มที่อิงกับการบริโภคในประเทศ รวมทั้งกลุ่มที่อิงกับการท่องเที่ยว ในขณะที่กลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจยังมีแรงกดดันในระยะกลางจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก