“วิกฤตโควิดทำให้เราต้องทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำ จนเกิดเป็นธุรกิจป๊อปคอร์นขึ้นมา จากเดิมขายหน้าโรงก็ต้องปรับเป็นเดลิเวอรี ซึ่งแรกๆ ขายได้วันละไม่กี่หมื่นบาท แต่ตอนนี้ 20 กว่าล้านบาทต่อวันเฉพาะเดลิเวอรรี บางครั้งก็พุ่งไปถึง 30 ล้านบาทด้วยกัน” นี่คือคำกล่าวของ วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป หรือ MAJOR ถึงธุรกิจที่กำลังเป็นดาวดวงใหม่
วิชายกให้ปี 2563 เป็น The Dark Year เพราะธุรกิจโรงภาพยนตร์จอมืด ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก และวิกฤตที่เกิดขึ้นยังทำให้ Major Cineplex ขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปี จากที่เคยได้กำไรหลักพันล้านมาทุกปี กลับต้องขาดทุนกว่า 500 ล้านบาทในปีนั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- แกะปมสาเหตุ MAJOR ทุ่ม ‘พันล้าน’ ถือหุ้น 5% ใน TKN และ WORK พร้อมเล็งซื้อเพิ่มเป็นไม่เกิน 10%
- โควิด-19 ทำเมเจอร์ขาดทุนครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปี แค่โรงหนังจึงไม่พอ ต้องเป็น ‘คอนเทนต์โปรไวเดอร์’ ถึงอยู่รอด
- แค่เงินสดไม่พอ ‘เมเจอร์’ เริ่มทดลองจ่ายค่าตั๋วหนังด้วย ‘บิตคอยน์’ นำร่องที่สาขารัชโยธินเป็นแห่งแรก
“โควิดช่วยให้เราทำอะไรใหม่ๆ มองอะไรในสิ่งที่เราไม่เคยมอง อย่างยอดขายป๊อปคอร์นแต่ก่อนมีสัดส่วนรายได้ 40% เมื่อเทียบกับตั๋วหนัง แต่ตอนนี้ด้วยความที่ขยายธุรกิจออกไป ทำให้เดือนที่แล้วเพิ่มมาเป็น 70% ด้วยกัน”
‘ป๊อปคอร์น’ โตต่อเนื่อง
การจำหน่ายป๊อปคอร์นมีตัวเลขการเติบโตของรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดขายป๊อปคอร์นนอกโรงหนัง (Out Cinema) ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบันมีช่องทางการจัดจำหน่าย 4 ช่องทางหลักๆ คือ เดลิเวอรี, Kiosks & Event (ณ สิ้นปี 2565 มี Kiosks สาขานอกโรงภาพยนตร์บริการรวม 19 สาขา และในปี 2566 จะมี Kiosks บริการเพิ่มอีก 20 สาขา), Modern Trade และ Major Mall
คาดว่าปีนี้รายได้จากการขายป๊อปคอร์นจะอยู่ที่ราว 2,500 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่ไม่ได้น้อย แต่วิชาบอกว่าจะสามารถเพิ่มขึ้นกว่านี้ได้อีกเท่าตัว เพราะ “การจับมือกับเถ้าแก่น้อยจะทำให้เราสามารถวางกลยุทธ์ใหม่ได้ ทั้งรสชาติใหม่ๆ ราคาที่ถูกลง และการขยายไปยังช่องทางอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ได้ถนัด”
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม Major Cineplex ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงการเข้าซื้อหุ้นใน ‘บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)’ หรือ TKN ในมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาท ซึ่งนี่จะทำให้ Major Cineplex สามารถใช้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจขนมขบเคี้ยวของเถ้าแก่น้อยในการต่อยอดธุรกิจป๊อปคอร์น ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเสริมความแข็งแกร่งช่องทางขายสินค้า และช่วยลดต้นทุนในการผลิตสินค้าลง
“ปีหน้าเราอยากให้รายได้ป๊อปคอร์นกับตั๋วหนังเท่ากันเลย โดยคาดว่ารายได้จากป๊อปคอร์นบวกกับเครื่องดื่มจะอยู่ที่ราว 5,000 ล้านบาท ซึ่งเรายังวางแผนที่จะขยายไปที่ต่างประเทศด้วย”
Avatar 2 ช่วยหนุนรายได้
สำหรับภาพรวมในปี 2565 วิชาคาดว่าจะมีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 70% เมื่อเทียบกับรายได้ของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด แต่หากรวมรายได้ของ Avatar: The Way of Water ตัวเลขอาจจะเพิ่มขึ้น ก่อนจะขยับมาเป็นตัวเลขเท่ากันในปี 2566
บล.บัวหลวงวิเคราะห์ว่า Avatar: The Way of Water มีกำหนดฉายในประเทศไทยวันที่ 15 ธันวาคม ซึ่งถือเป็นความตื่นเต้นอย่างมาก เนื่องจากแฟนรอมาหลายปีแล้ว โดยในประเทศไทย Avatar ภาคก่อนทำรายได้ใน 2 สัปดาห์แรกหลังเปิดตัว รวม 170 ล้านบาท (ทำรายได้รวม 270 ล้านบาท) ต้องการรายได้จาก Avatar 2 ในช่วงวันที่ 15-31 ธันวาคม อีก 155 ล้านบาทเพื่อที่จะทำรายได้เท่ากับไตรมาส 3/65 และ 250 ล้านบาทเพื่อที่จะทำรายได้ทะลุบ็อกซ์ออฟฟิศของไตรมาส 4/65 ซึ่งมองว่าเป้าหมายแรกมีโอกาสสำเร็จแน่นอน แต่เป้าหมายที่ 2 ยังคงท้าทายอยู่
การเข้ามาของ Avatar 2 จะไม่ได้หนุนรายได้ของ Major Cineplex แค่รายได้ในไตรมาส 4/65 แต่จะยาวไปถึงไตรมาส 1/66 ซึ่งสังเกตว่ารายได้รวมไตรมาส 1/65 ต่ำมากที่เพียง 224 ล้านบาทเท่านั้น
บล.โนมูระประเมินว่า กำไรสุทธิปีนี้จะอยู่ที่ราว 339 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 79% เนื่องจากมีกำไรจากรายการพิเศษสูง และคาดปี 2566 กำไรสุทธิฟื้นต่อเนื่องเป็น 856 ล้านบาท เพิ่ม 152% ซึ่งเกิดจากการคลี่คลายของโควิดอย่างเต็มที่
ด้าน บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า กําไรปี 2566 ของ Major Cineplex จะอยู่ที่ 866 ล้านบาท เติบโตกว่า 82%YoY จากฐานที่ต่ำในปีนี้ ประกอบกับกําลังซื้อของผู้บริโภคที่กลับมา การกลับเข้าโรงหนังของผู้คนที่น่าจะหนุนรายได้ภาพยนตร์กลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดที่ 1,200-1,800 ล้านบาท และยอดขายป๊อปคอร์นที่ยังคงมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้โฆษณาในโรงที่จะปรับตัวขึ้นตาม Eyeballs ของผู้คนในโรง
ขยายโรงหนังมากสุดในรอบ 3 ปี
วิชาย้ำว่า สำหรับในปี 2566 จะเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีนับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ซึ่ง Major Cineplex จะขยายสาขาโรงภาพยนตร์มากที่สุดถึง 13 สาขา 49 โรง ด้วยงบลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท หากรวมงบรีโนเวตและอื่นๆ จะอยู่ที่ราว 800-1,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน Major Cineplex มีสาขาโรงภาพยนตร์ที่เปิดให้บริการ ณ สิ้นปี 2565 รวมทั้งสิ้น 180 สาขา 839 โรง 188,973 ที่นั่ง แยกเป็น
- ในประเทศ 172 สาขา 800 โรง 180,081 ที่นั่ง ได้แก่ สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 44 สาขา 346 โรง 77,605 ที่นั่ง และสาขาในต่างจังหวัด 128 สาขา 454 โรง 102,919 ที่นั่ง
- ต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง 8,449 ที่นั่ง ได้แก่ สาขาใน สปป.ลาว 3 สาขา 13 โรง 3,235 ที่นั่ง และในประเทศกัมพูชา 5 สาขา 26 โรง 5,368 ที่นั่ง
นอกจากนี้มีสาขาโบว์ลิ่ง บลูโอ ริธึม แอนด์ โบว์ล เปิดให้บริการ 8 สาขา 210 เลน, คาราโอเกะ 121 ห้อง, ห้องแพลตตินั่ม 9 ห้อง ซึ่งวางแผนขยายสาขาโบว์ลิ่งเพิ่มอีก 3 สาขา 40 เลน และคาราโอเกะ 30 ห้อง
หนุนหนังไทยต่อเนื่อง
แม่ทัพ Major Cineplex กล่าวต่อว่า ยังมองภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยด้วยการเน้นการพัฒนาและสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ไทย หวังผลักดันให้มีส่วนแบ่งการตลาดภายในประเทศให้ได้ 50% ตั้งเป้าหมายให้ภาพยนตร์ไทยเข้าฉายให้ได้ปีละ 20 เรื่อง เฉลี่ยประมาณเดือนละ 2 เรื่อง
“ในประเทศอินโดนีเซีย รายได้หนังท้องถิ่นคิดเป็นสัดส่วน 50% ไปแล้ว ปีนี้สร้างออกมา 100 กว่าเรื่อง สำหรับบ้านเราปีนี้คาดมีสัดส่วนราว 30% ไม่ได้เลวร้ายแต่ไม่ได้ดี ปีหน้าเราจะทำหนังอีกเพื่อดันสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นมา”
ทิศทางของการลงทุนในหนังของ Major Cineplex จะไม่ลงในหนังทุนต่ำแล้ว แต่จะอยู่ที่ราว 25 ล้านบาท เมื่อรวมการทำโปรโมชันและการตลาดคาดว่าจะใช้งบราว 30-35 ล้านบาทด้วยกัน
“เราพยายามคิดว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองไทย แต่การเติบโตตอนนี้อยู่ที่ต่างจังหวัด ดังนั้นเราจึงจะทำหนังเพื่อเจาะกลุ่มคนต่างจังหวัดเป็นหลัก”
นอกจากฉายในโรงแล้ว หนังที่สร้างออกมายังถูกซื้อโดยแพลตฟอร์มสตรีมมิง “ซึ่งตอนนี้มี 3 ราย แย่งกันซื้อด้วยตัวเลขเกือบ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเรื่อง ถือเป็นรายได้ที่เข้ามาเสริมให้กับเรา” วิชากล่าว