กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานการศึกษาเกี่ยวกับหนี้ทั่วโลกพบว่า หนี้สาธารณะของภาครัฐและหนี้ของบรรดาภาคเอกชนปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 70 ปี ในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา หลังพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อันเป็นผลจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด กระนั้นปริมาณหนี้สินโดยรวมในขณะนี้ก็ยังถือว่าสูงกว่าก่อนที่ไวรัสโควิดแพร่ระบาดอยู่มาก
ทั้งนี้ ในบล็อกของ IMF ที่เผยรายงาน Global Debt Monitor ระบุว่า หนี้ภาครัฐและเอกชนโดยรวมลดลง 10% คิดเป็น 247% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลกในปี 2021 โดยลดลงจากระดับสูงสุดในปี 2020 ก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 257% แต่ก็ยังถือว่าสูงเมื่อเทียบกับประมาณ 195% ของ GDP ในปี 2007 ก่อนเกิดวิกฤตการเงินโลก
ส่วนในแง่ของเงินดอลลาร์ หนี้ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะเพิ่มในอัตราที่ช้าลงมาก โดยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 235 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2021
ขณะเดียวกัน IMF กล่าวว่า หนี้ภาคเอกชนซึ่งรวมถึงภาระผูกพันที่ไม่ใช่สถาบันการเงินและภาระผูกพันในครัวเรือนได้ผลักดันการลดลงโดยรวม โดยลดลง 6% เป็น 153% ของ GDP โดยอ้างอิงข้อมูลจาก 190 ประเทศทั่้วโลก และตัวเลขหนี้สาธารณะที่ลดลง 4% เหลือ 96% ของ GDP ถือเป็นการลดลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
IMF ระบุว่า อัตราส่วนหนี้สินที่แกว่งตัวมากผิดปกติหรือที่เรียกว่า Global Debt Roller Coaster เกิดจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากโควิดและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน รายงานของ IMF ฉบับนี้ยังพบว่าพลวัตของหนี้มีความแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มประเทศ ประเทศที่พัฒนาแล้วมีหนี้ลดลงมากที่สุด โดยทั้งหนี้ภาครัฐและเอกชนลดลง 5% ของ GDP ในปี 2021 ตามมาด้วยผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกันในตลาดเกิดใหม่ ยกเว้นจีน
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีรายได้ต่ำจะมีสัดส่วนหนี้รวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2021 โดยได้รับแรงหนุนจากหนี้ภาคเอกชนที่สูงขึ้น ส่งผลให้มีหนี้รวมสูงถึง 88% ของ GDP นับเป็นการส่งสัญญาณน่ากังวลในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยังไม่ส่งสัญญาณดีขึ้นและต้นทุนการกู้ยืมยังเพิ่มสูง
ทั้งนี้ IMF กังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความสามารถของประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางในการชำระหนี้ โดยประมาณ 25% ของประเทศตลาดเกิดใหม่และกว่า 60% ของประเทศที่มีรายได้ต่ำ ไม่ว่าจะอยู่ในหรือใกล้เคียงกับปัญหาหนี้สิน
Vitor Gaspar หัวหน้าฝ่ายกิจการการคลังของ IMF และนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสอีกสองคนของ IMF กล่าวในบล็อกที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 ธันวาคม) ว่าการจัดการหนี้ในระดับสูงจะยากขึ้นเรื่อยๆ หากแนวโน้มเศรษฐกิจแย่ลงอย่างต่อเนื่องและต้นทุนการกู้ยืมปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก
รายงานของ IMF เปิดเผยอีกว่า ระดับเงินเฟ้อที่สูงยังคงช่วยลดอัตราส่วนหนี้สินในปี 2022 แต่การใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นหากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ ซึ่งอาจนำไปสู่เบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้น ก่อนเสนอแนะให้รัฐบาลควรดำเนินนโยบายการคลังที่ช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในขณะนี้และความเปราะบางของหนี้ในระยะยาว ในขณะที่ยังคงสนับสนุนกลุ่มที่เปราะบางที่สุดต่อไป ก่อนย้ำว่า ในช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วนและความโกลาหล ความมั่นใจในเสถียรภาพในระยะยาวถือเป็นทรัพย์สินอันล้ำค่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด เปิดกลยุทธ์รับมือเน้น Predict-Prepare-Perform
- ‘ไบเดน’ ปัดเศรษฐกิจโลกตกต่ำไม่ได้มาจากดอลลาร์แข็ง แต่มาจากนโยบายที่ผิดพลาดของประเทศอื่น
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี
อ้างอิง: