×

50 ปีแห่งความยั่งยืนของ BDMS กับการยกระดับองค์กรด้วย ‘BDMS Sustainability’ เฟรมเวิร์กที่ทำให้ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก DJSI 2 ปีซ้อน

โดย THE STANDARD TEAM
10.12.2022
  • LOADING...
BDMS Sustainability

HIGHLIGHTS

  • ‘BDMS’ หรือ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ คือผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพ (Healthcare Services) แบบครบวงจร ทั้งในรูปแบบธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และติด 1 ใน 5 ของโลก
  • น้อยคนนักที่จะรู้ว่า BDMS เป็นองค์กรธุรกิจด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพรายแรกของไทยและในภาคพื้นเอเชียที่เข้าเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) 2 ปีซ้อน (ปี 2564 และปี 2565) โดย BDMS ใช้เวลาเพียง 1 ปีในการสมัครและได้รับเลือกให้เป็นสมาชิก DJSI นี่คือข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนที่สุดว่า การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนภายใต้กรอบ ESG และดำรงตนเป็นธุรกิจที่ดีเป็นสิ่งที่ BDMS ทำเป็นเรื่องปกติสามัญมาตลอด 50 ปีของการดำเนินธุรกิจ

น้อยคนนักที่จะไม่รู้ว่า ‘BDMS’ คือผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพแบบครบวงจร (Healthcare Services) ทั้งในรูปแบบธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก 

 

BDMS Sustainability

 

นับตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2512 จากหนึ่งโรงพยาบาลขนาด 4 ชั้น 50 เตียง บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จนถึงตอนนี้ BDMS ขยายอาณาจักรออกไปโดยมีโรงพยาบาลในเครือข่ายทั้งหมด 56 แห่ง แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบีเอ็นเอช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล กลุ่มโรงพยาบาลรอยัล (ประเทศกัมพูชา) และโรงพยาบาลอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีธุรกิจด้านเวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ ร้านยา ‘เซฟดรัก’ (SAVE DRUG) รวมถึงโรงงานผลิตยาสหแพทย์ฯ บริษัทแล็บ N Health และล่าสุดคือกลุ่ม Wellness Clinic 

 

 

แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า BDMS เป็นองค์กรธุรกิจด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพรายแรกของไทยและในภาคพื้นเอเชียที่เข้าเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) 2 ปีซ้อน (ปี 2564 และปี 2565) 


DJSI คือดัชนีความยั่งยืนระดับสากลสำหรับบริษัทจดทะเทียน ที่จัดอันดับโดย S&P Global ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อรับรองว่าธุรกิจนั้นๆ มีการบริหารจัดการตามหลัก ESG ตรงตามเกณฑ์หรือไม่ 


การได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก DJSI ของ BDMS ไม่เพียงตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนเท่านั้น แต่การที่ธุรกิจด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพสามารถผ่านเกณฑ์การวัดผลจากการประเมินคะแนน ESG ที่องค์กรจะต้องตอบคำถาม รวมถึงเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ จะทำให้องค์กรอื่นๆ ที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันมองเห็นความเป็นไปได้ 


“เราอยากเป็นต้นแบบให้กับคนในธุรกิจเดียวกันเห็นว่า จริงๆ แล้ว Healthcare ทำได้ เพราะยิ่งธุรกิจด้านสุขภาพหันมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะเป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพใหญ่มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเราเองก็ต้องการพลิกโฉมธุรกิจบริการทางการแพทย์ของไทยให้มีมาตรฐานความยั่งยืนระดับโลก” พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าว 


นี่ก็อีกเรื่องที่น้อยคนจะรู้ว่า เมื่อปี 2563 BDMS ได้รับคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ติดทำเนียบหุ้นยั่งยืน Thailand Sustainability Investment (THSI) ในกลุ่มบริการ จนถึงปี 2565 ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 3 สร้างความเขื่อมั่นให้กับนักลงทุนตามแนวคิดการลงทุนอย่างยั่งยืน 

 

พญ.ปรมาภรณ์ บอกกับเราว่า “BDMS ริเริ่มนโยบายหลักเพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการองค์กรตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม รวมทั้งมุ่งรักษาสมดุลและควบคุมผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยได้ยึดหลักกระบวนการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนตามหลักสากล และได้นำมาปรับใช้ในการทำงานขั้นพื้นฐาน และผลักดันให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์และวัฒนธรรมองค์กร รวมถึงการกำกับดูแลการดำเนินงาน BDMS มาโดยตลอด”

 

“จุดเริ่มต้นของการเข้าเป็นสมาชิก DJSI เกิดจากการที่เราอยากก้าวไปในระดับสากล ก็สื่อสารเป้าหมายนี้ไปถึงคนในองค์กรว่าเราจะเดินหน้าเรื่องนี้จริงจัง ตอนนั้นคิดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ถึงจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกได้ แต่ปรากฏว่าเราใช้เวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น”

 

“จริงๆ แล้วในช่วงเริ่มต้นที่ต้องมีการทบทวนสิ่งที่เราทำมาตลอด 50 ปี พบว่าหลายส่วนเราทำตามแนวทางของ Sustainability และตรงกับข้อกำหนดมานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่เคยนำมารวบรวมเป็นข้อมูลส่วนกลาง เช่น Waste Management เราจับมือกับ SCG นำแกลลอนน้ำยาล้างไตใช้แล้ว มาเปลี่ยนเป็นกระถางต้นไม้ปลูกพลูด่าง นำมาเรียงเป็นต้นคริสต์มาส ซึ่งเราทำงานวิจัยภายในองค์กรพบว่าพลูด่างช่วยทำให้อากาศในพื้นที่ปิดสะอาดขึ้น พอจบงานก็เอากระถางต้นไม้ไปแจก 


“ช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 แม้ว่าเราจะเป็นธุรกิจเอกชน แต่ก็ทำงานร่วมกันภาครัฐในการดูแลสุขภาพในรูปแบบต่างๆ ทั้งการฉีดวัคซีน รักษาผู้ป่วยโควิด ทำโรงพยาบาลสนาม ถือว่าเป็นหน้าที่ในฐานะผู้ให้บริการด้านสุขภาพ อย่างการทำงานร่วมกับมูลนิธิเวชดุสิต ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และกองทัพอากาศ สร้างโรงพยาบาลสนาม 100 เตียง ที่สนามกีฬาธูปะเตมีย์ รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง หรือส่งบุคลากรในองค์กรไปทำงานร่วมกับมูลนิธิเวชดุสิตฯ ในโครงการ Green Health ดูแลเด็กอ่อนในสลัม ตรวจสุขภาพคนด้อยโอกาส หรือมอบรถเข็น วีลแชร์ เตียง ในกลุ่มคนไข้ด้อยโอกาส เป็นต้น” 

 

 

พญ.ปรมาภรณ์ ยังเล่าถึงการทำ Pilot Study โรงพยาบาลอาคารสีเขียว Green Hospital โดยตั้งใจที่จะให้เป็นมาตรฐานของโรงพยาบาลและธุรกิจในเครือทั้งหมด เริ่มที่ 2 แห่งแรก ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ และ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน

 

 

“ที่เลือก 2 โรงพยาบาลนี้ เพราะเป็นโรงพยาบาลที่รองรับนักท่องเที่ยว เราต้องการให้เขารับรู้ว่า ในฐานะองค์กรใหญ่ นอกจากคุณภาพชีวิตของคนที่มาใช้บริการ เรายังให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน”


โครงการ Green Hospital นำไปขยายผลและต่อยอดโครงการเปลี่ยนชื่อให้เหมาะสมเป็นโครงการ Green Healthcare เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล และเพิ่มเกณฑ์การประเมินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยปี 2566 มีโรงพยาบาลที่สนใจเข้าร่วมโครงการ 18 แห่ง

 

 

ปัจจุบัน โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่, โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน, โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงราย และล่าสุดโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ได้รับการประเมินอาคารสีเขียว (Green Hospital) ตามมาตรฐาน The LEED 2009 for Healthcare สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเกณฑ์ประเมินโครงสร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ พัฒนาขึ้นโดย U.S Green Building Council (USGBC) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


“เราอยากให้โรงพยาบาลในเครือใส่ใจกับเรื่องนี้มากขึ้น และจะเริ่มทยอยให้ทุกโรงพยาบาลเข้าโครงการนี้จนกว่าจะครบ นอกจากนี้เราจะทำเกณฑ์ของ Green Building เข้ามาใช้กับอาคารที่จะเริ่มก่อสร้างหลังจากนี้ เรามีต้นแบบคือโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ที่เข้าเกณฑ์ Green Building มาตั้งแต่แรก รวมถึงการพัฒนา Solar Roof ที่โรงพยาบาลและโรงงาน โดยปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 20 แห่ง” 

 

 


“และในโอกาสครบรอบ 50 ปี BDMS เรามีโปรเจกต์ HERO ที่ได้ผลตอบรับดีเกินคาด เป็นโปรเจกต์ที่เราตั้งใจส่งต่อพลังฮีโร่ให้กับทุกคนด้วยการส่งบุคลากรไปสอนการทำ CPR อย่างถูกวิธีให้กับโรงเรียน ชุมชน และองค์กรต่างๆ ตอนแรกตั้งเป้าผู้เข้าร่วมตลอดโครงการ 5,000 คน โดยทำมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ปรากฏกว่ามีคนเข้าร่วมโครงการมากกว่า 40,000 คนแล้ว คุณค่าที่ได้กลับมาคือ เราเห็นบุคลากรของเรามีความสุข คนที่เข้าร่วมโครงการก็ได้ความรู้ และในอนาคตเขาก็นำสิ่งที่เรียนรู้ไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ คงจะทำต่อไปเรื่อยๆ เพราะมันสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับคนในวงกว้าง”

‘BDMS Sustainability Framework’ เฟรมเวิร์กที่ปรับใช้ขัดเกลาองค์กรสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ 

กลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกองค์กรต้องหันมาสร้างกรอบการทำงานเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง แม้ว่า BDMS จะทำมาตั้งนานแล้วแต่ด้วยความที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ และมีธุรกิจหลากหลาย จำเป็นต้องมีเฟรมเวิร์กเพื่อให้ง่ายต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน 

 

 

“เฟรมเวิร์กเราจำง่าย เพราะล้อไปกับ BDMS ทุกองค์กรภายใต้เครือสามารถปรับกิจกรรมให้กับธุรกิจนั้นๆ ได้ เช่น B = Beyond Excellence ในภาพของโรงพยาบาลจะเห็นชัดเจนคือการให้บริการที่เป็นเลิศในทุกๆ ด้าน ถ้าเป็นโรงงานก็ต้องผลิตโปรดักส์ที่ดีที่เป็นเลิศเช่นกัน ตัวต่อมาคือ D = Development Mental Innovation มันถูกผสมผสานเข้าไปทุกส่วนขององค์กรอยู่แล้ว อย่างตอนนี้เราผลักดันเรื่อง Healthcare Ecosystem จากเดิมโรงพยาบาลต้องรอให้คนไข้เข้ามาหา ตอนนี้ต้องปรับ ทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ก็นำบริการ Teleconsultation หรือ Telepharmacy เข้ามาปรับใช้ ถ้ามาที่โรงพยาบาลก็จะเห็นเราปรับเป็น Smart Hospital สามารถทำนัดหมายล่วงหน้าได้ ต่อไปนี้ไม่ต้องรอรับยา เลือกให้จัดส่งยาไปที่บ้าน รวมถึงระบบ e-Payment ทั้งหมดนี้ BDMS เราทำก่อนที่จะเกิดการระบาด เพียงแต่โควิด-19 ทำให้คนเปิดรับสิ่งเหล่านี้ง่ายขึ้น ไม่แต่เฉพาะคนไข้ บุคลากรเราเองก็เช่นกัน
 

M = Meaningful Sustainable Engagement พูดเรื่องการมีส่วนร่วมของคนในองค์กรที่ต้องทำเรื่อง Sustainable อย่างจริงจัง และต้องมองไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจนั้นๆ เช่น โรงพยาบาล เรามีทั้งคู่ค้า คนไข้ รวมไปถึงสังคมโดยรอบ และตัวสุดท้ายคือ S = Social Contribution แต่ละธุรกิจจะทำเองหรือจะทำร่วมกันกับเราก็ต้องมาปรับกันอีกที” 


เมื่อถามว่า ภาพองค์กรที่ยั่งยืนในสายตาของผู้กุมบังเหียนคนปัจจุบันของ BDMS คืออะไร พญ.ปรมาภรณ์ บอกว่า นอกจากการความการเติบโตของรายได้และผลกำไร สังคม ผู้มีส่วนได้เสีย สิ่งแวดล้อม และการมีหลักธรรมาภิบาลที่ดีต้องเดินไปพร้อมกัน แต่อาจจะมีรายละเอียดที่ท้าทายต่างกัน 

 

“เรื่องการดูแลสังคมเชื่อว่าเราทำได้ดีเพราะน่าจะอยู่ในจิตวิญญาณของทุกคนในองค์กร ส่วนเรื่องหลักธรรมาภิบาล ด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพเราเทรนกันมาแบบนี้ ถ้าท้าทายที่สุดคงเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่ง มีปัจจัยมากมายเป็นตัวแปร และในบางเรื่องบางต้องได้รับความร่วมมือกับคนอื่นถึงจะทำสำเร็จ 

 

“การที่ BDMS ดำเนินงานตามหลัก ESG และมุ่งมั่นที่จะทำต่อไป คนที่ได้รับประโยชน์คือทุกคน คือสังคม คือโลกของเรา มันมีความรู้สึกหนึ่งที่เราอยากส่งให้ถึงคนที่เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลในเครือ BDMS เราอยากให้พวกเขาได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดสิ่งดีๆ กับสิ่งแวดล้อมและสังคม เหมือนเวลาเราไปซื้อของหรือใช้บริการธุรกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เท่ากับว่าเราเองก็ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นกัน และยังสนับสนุนให้ธุรกิจเหล่านี้เขาเดินหน้าต่อไป” 


พญ.ปรมาภรณ์ ยังบอกด้วยว่า การที่ได้เป็นสมาชิก DJSI 2 ปีซ้อน เป็นเพียงเครื่องชี้วัดว่า แนวคิด วิธีปฏิบัติ และการทำงานตลอด 50 ปีของ BDMS มาถูกทางแล้ว 

 

 

“การได้รางวัลอะไรก็ตามหรือการได้เป็นสมาชิก DJSI ไม่ใช่ว่าเรามาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จแล้ว มันแค่บอกให้เรารู้ว่าอะไรที่เราทำดีแล้วและเรื่องอะไรที่ยังต้องปรับ ถ้า DJSI คือสมุดพกความดี เราให้คะแนนบุคลากรเต็ม 10 เพราะเขาคือส่วนสำคัญที่ทำให้ความตั้งใจของเราเป็นจริงได้ และยังมีอีกหลายข้อที่เราคิดว่าสามารถทำได้ดีกว่านี้ ซึ่งเราต้องทบทวนทุกปี เพราะเกณฑ์การให้คะแนนของ DJSI ก็ค่อนข้างท้าทาย ต้องเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ต้องพิสูจน์ได้ว่าทำจริง ไม่ใช่แค่นโยบาย” 

“ได้เข้ามาเป็นสมาชิกแล้วต้องไปต่อ ส่วนตัวไม่กดดันนะ เพราะพันธกิจขององค์กรเราชัดเจนว่าจะมุ่งไปทางไหน แต่ความกดดันอาจจะไปอยู่ที่ทีมงาน เพราะการเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อประเมินว่าเราผ่านคุณสมบัติหรือไม่จะต้องดูโรงพยาบาลทั้งหมดในเครือ ดังนั้น เราจึงดึงคนที่อยู่ต่างธุรกิจเข้ามาเป็นคณะกรรมการ มันทำให้เราได้มุมมองใหม่ๆ จากคนนอก” 

 

ภายใต้ข้อจำกัดของการเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีเลเยอร์ซับซ้อน ฟังดูเป็นเรื่องยากหากจะปรับเปลี่ยนไปพร้อมๆ กันทั้งองค์กร พญ.ปรมาภรณ์ บอกว่า แต้มต่อของ BDMS น่าจะมาจากความมุ่งมั่นของทีมผู้บริหารและคณะกรรมการ ในการสร้างพลังและความเชื่อมั่นให้กับคนในองค์กรเชื่อว่า เราจะมุ่งหน้าไปทางนี้จริง ลงมือทำจริง และจะทำไปพร้อมกับพวกเขา

 

“ถ้า BDMS ซึ่งเป็นธุรกิจด้านสุขภาพขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนยังทำได้ ธุรกิจแบบเดียวกับเราไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ทำได้ในรูปแบบของเขา เชื่อว่าทุกธุรกิจมีปัจจัยพื้นฐานของการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอยู่ หากธุรกิจสุขภาพเข้าร่วมเป็นสมาชิก DJSI เยอะขึ้น จะช่วยยกระดับภาพรวมของธุรกิจสุขภาพในเมืองไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นองค์กรที่ทุกคนมองว่าเราทำเพื่อโลก เพื่อสังคม” 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X