บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) สำหรับแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) โดยคาดว่าจะแต่งตั้ง FA ได้ครบภายในสิ้นปีนี้ และเข้าจดทะเบียนได้ภายในปี 2566 ส่วน บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ เดินหน้าเข้าตลาดหุ้นปีหน้า คาดโกยเม็ดเงินจากการทำ IPO ประมาณ 1 แสนล้านบาท และมีมูลค่ามาร์เก็ตแคปถึงประมาณ 2-3 แสนล้านบาท
แหล่งข่าวที่ปรึกษาทางการเงินกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่าขณะนี้ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ที่มีกลุ่ม ‘ครอบครัวของเจริญ สิริวัฒนภักดี’ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ กำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) สำหรับดีลเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) ซึ่งคาดว่าจะสามารถแต่งตั้ง FA ได้ครบภายในสิ้นปีนี้ และหากภาวะตลาดหุ้นเอื้ออำนวย คาดว่าหุ้น IPO ของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จะเสนอขายและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ภายในปี 2566
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เจ้าสัวเจริญเล็งแยก ‘Big C’ ออกจาก BJC มาเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง หวังระดมทุน 1.9 หมื่นล้านบาท คาดจะ IPO ปีหน้า: https://thestandard.co/big-c-bjc/
- แม่ทัพ Big C ขอไม่ตอบเรื่อง IPO ยันเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง เปิดตัวแอป ‘Big C PLUS’ บุก Omni-Channel เต็มสูบ พร้อมหาน่านน้ำใหม่เข้าลงทุนในอนาคต
สำหรับ FA ที่น่าจะได้ทำดีล IPO ของบิ๊กซีฯ ซึ่งเป็นดีลขนาดใหญ่นั้น จะเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ให้การสนับสนุนเงินกู้กับธุรกิจในกลุ่มนี้อยู่แล้ว ทั้งธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และที่ปรึกษาทางการเงินในต่างประเทศ
“การตัดสินในกำหนดราคา IPO ของบิ๊กซีฯ คนที่มีส่วนสำคัญคือ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่เป็นคนลงมาดูเรื่องราคา IPO ด้วยตัวเอง หากได้ราคาที่พอใจและภาวะตลาดเอื้อเพียงพอ ก็มีโอกาสที่จะเห็นบิ๊กซีฯ ระดมทุนขายในปีหน้า เพื่อนำเงินใช้ขยายธุรกิจตามแผนที่วางไว้” แหล่งข่าวกล่าว
อีกทั้งในปีหน้ามีโอกาสที่จะเห็นดีล IPO ขนาดใหญ่อีก 1 ดีล คือ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ที่จะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีมูลค่าเสนอขาย IPO อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท และมีมูลค่ามาร์เก็ตแคปถึงประมาณ 2-3 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ จากกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ในการรับหลักทรัพย์ใหม่หรือบริษัทที่จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) โดยจากเดิมกำหนดให้บริษัทต้องยื่นทำงบการเงินย้อนหลังในรูปแบบกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Publicly Accountable Entities: PAEs) เพียง 1 ปี เฉพาะปีล่าสุด ปรับเป็นให้เพิ่มงบการเงินเป็น 3 ปีย้อนหลังล่าสุด ที่ต้องทำงบแบบ PAEs ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสากล (IFRS) ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้กับไฟลิ่งที่ยื่นในปี 2567 เป็นต้นไป ก็จะเป็นปัจจัยเร่งหนึ่งให้มีการขาย IPO ในปี 2566-2567 จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากภาวะปกติ
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ Bloomberg รายงานโดยอ้างอิงคำพูดของแหล่งข่าวที่ระบุว่า Big C ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้ BJC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี กำลังถูกวางแผนแยกออกมาเพื่อกลับสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง โดยหวังการระดมทุน 500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.9 หมื่นล้านบาท
รายงานระบุว่า Big C กำลังพิจารณาจากวาณิชธนกิจสำหรับข้อเสนอในการ IPO ซึ่งอาจเกิดขึ้นทันทีในปีหน้า แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการยืนยันว่าการ IPO จะเป็นไปตามคำพูดของแหล่งข่าวหรือไม่