×

กูรูเตือน บาทอาจกลับมาอ่อนค่าในระยะสั้น หลังแข็งค่าขึ้นเกือบ 8% ในเดือนที่ผ่านมา ประเมินสิ้นปี 2023 อยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์

02.12.2022
  • LOADING...

ค่าเงินบาทในวันนี้ (1 ธันวาคม) ทำสถิติแข็งค่าสูงสุดในรอบกว่า 5 เดือน โดยแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดในวันก่อนหน้าที่ 35.26 บาทต่อดอลลาร์ ไปแตะจุดสูงสุดที่ 34.88 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะอ่อนค่าลงมาเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 34.96 บาทต่อดอลลาร์ 

 

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า การแข็งค่าของเงินบาทในวันนี้เป็นผลมาจากการคลายความกังวลต่อแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ของตลาด หลังประธาน Fed ได้ออกมาสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง ทำให้ตลาดเริ่มกลับมารับความเสี่ยง ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงสวนทางกับสกุลเงินอื่นๆ

 

โดยในส่วนของเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค จากปัจจัยหนุนเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะได้รับอานิสงส์ในกรณีที่จีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติอื่นๆ ก็ปรับตัวดีขึ้นจนทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มกลับมาเป็นบวกในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

 

“ในวันนี้เราเห็นโฟลวต่างชาติที่ไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรกว่า 9 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบอนด์ระยะยาว และหากย้อนกลับไปดูภาพรวมในเดือนที่ผ่านมาจะพบว่าภายในเดือนเดียวบาทแข็งค่าขึ้นเกือบ 8% ซึ่งถือว่าเป็นการแข็งค่าที่เร็วเกินไป” รุ่งกล่าว

 

รุ่งระบุว่า การแข็งค่าที่ต่อเนื่องและเร็วของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาทำให้ในระยะสั้นเงินบาทมีโอกาสจะเด้งกลับไปอ่อนค่าได้ โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงสั้นๆ เอาไว้ที่ 34.70-35.70 บาทต่อดอลลาร์

 

“เรามองว่าโอกาสที่บาทจะแข็งค่าได้ต่อเริ่มจำกัดแล้ว เพราะแม้ว่า Fed จะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยช้าลงแต่ก็ยังย้ำถึงเป้าหมายในการเอาชนะเงินเฟ้อ และส่งสัญญาณว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5% ระยะหนึ่ง เราคงต้องจับตาดูข้อมูลทางเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ทั้งการจ้างงานนอกภาคเกษตรและดัชนีผู้บริโภคที่กำลังจะออกมา หากออกมาสูงเกินคาดก็จะทำให้ดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งได้” รุ่งกล่าว

 

ทั้งนี้ หากมองระยะยาวไปถึงปีหน้า รุ่งประเมินว่าเงินบาทมีเทรนด์ที่จะแข็งค่าขึ้นจากปีนี้ จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลได้ 5-6 พันล้านดอลลาร์ รวมถึงปัจจัยกดดันอื่นๆ ที่จะค่อยๆ คลายตัวลง เช่น การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และการควบคุมโควิดของจีน โดยคาดว่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2023 จะอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เงินบาทในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงเก็งกำไรในบอนด์ระยะสั้น อย่างไรก็ดี มองว่าการแข็งค่าของเงินบาทในระยะข้างหน้าจะเริ่มจำกัดแล้ว โดยมีความเป็นไปได้ที่ในระยะข้างหน้าเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าจาก 2 ปัจจัย ได้แก่

 

  1. การประชุมของกลุ่ม OPEC ที่มีแนวโน้มจะลดกำลังการผลิตน้ำมันในตลาดโลกลง และแนวโน้มการเปิดประเทศมากขึ้นของจีน ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้จะทำให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ไทยต้องใช้เงินดอลลาร์เพื่อนำเข้านำ้มันมากขึ้น

 

  1. การประชุม FOMC ที่คาดว่าสหรัฐฯ จะมีการส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ Terminal Rate ยาวนานกว่าที่คาดเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ซึ่งเรื่องนี้อาจทำให้ตลาดผิดหวังและเกิดภาวะปิดรับความเสี่ยง ซึ่งจะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายได้อีก

 

“ผมค่อนข้างห่วงว่าเงินบาทจะไม่แข็งต่อเนื่อง เพราะอะไรที่เคลื่อนไหวเร็วเกินไปจะมีการพักฐาน ในระยะสั้นบาทอาจจะผันผวนและอาจกลับมาอ่อนค่าได้จาก 2 ปัจจัยที่ได้กล่าวไป” อมรเทพกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X