×

เงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน หลังประธาน Fed ส่งสัญญาณชะลอความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ย

01.12.2022
  • LOADING...

ค่าเงินบาทในวันนี้ (1 ธันวาคม) แข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดในวันก่อนหน้าที่ 35.26 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 34.98 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการแข็งค่าสูงสุดในรอบเกือบ 6 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน หลัง เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ออกมาให้สัญญาณสนับสนุนการลดความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เช่นเดียวกันกับบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed คนอื่นๆ

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ต่างคลายกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed มากขึ้น และเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเต็มที่ หลังประธาน Fed ได้ออกมาสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี ประธาน Fed ยังคงย้ำจุดยืนว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed นั้นจะยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายควบคุมเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังห่างไกลจากจุดสูงสุด (Terminal Rate)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ทั้งนี้ แนวโน้ม Fed ชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงกว่า -17 bps สู่ระดับ 3.62% หนุนให้ผู้เล่นในตลาดกลับเข้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคและหุ้นสไตล์ Growth (Nvidia +8.2%, Meta +7.9%, Microsoft +6.2%) ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทค Nasdaq พุ่งขึ้นแรงกว่า +4.41% ส่วนดัชนี S&P 500 ปิดตลาด +3.09%

 

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.63% หนุนด้วยความหวังว่าทางการจีนจะสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดได้เร็วขึ้น เพื่อลดแรงกดดันจากการประท้วง ส่งผลให้หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ต่างปรับตัวขึ้น (Dior +4.4%, Hermès +3.9%)

 

นอกจากนี้รายงานเงินเฟ้อยูโรโซนในเดือนพฤศจิกายนที่ชะลอลงสู่ระดับ 10% น้อยกว่าที่ตลาดคาด ยังช่วยหนุนโอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาซื้อหุ้นกลุ่มเทคอีกครั้ง (Adyen +2.6%)

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน แนวโน้ม Fed ชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นและลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์ กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงสู่ระดับ 105.8 จุด

 

ขณะเดียวกันการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์) ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วสู่ระดับ 1,788 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่าการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำดังกล่าวอาจทำให้มีผู้เล่นบางส่วนเข้ามาขายทำกำไรทองคำ ซึ่ง Flow ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท

 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) ในเดือนพฤศจิกายน โดยตลาดคาดว่าดัชนี PMI ภาคการผลิตจะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.8 จุด (ดัชนีน้อยกว่า 50 จุด หมายถึงภาวะหดตัว) สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตที่ซบเซาลง ท่ามกลางแรงกดดันจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก

 

ส่วนในฝั่งไทย ตลาดประเมินว่าแรงกดดันจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ซบเซา จะส่งผลให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยก็อาจขยายตัวในอัตราชะลอลง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนพฤศจิกายน อาจปรับตัวลดลงสู่ระดับ 51 จุด

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ประเมินว่าบรรยากาศของตลาดการเงินที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยงเต็มที่ จะช่วยหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึง Flow ธุรกรรมขายทำกำไร การรีบาวด์ของราคาทองคำ และอาจยังมีแรงหนุนจาก Fund Flow นักลงทุนต่างชาติที่สามารถกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยเพิ่มขึ้นได้ในช่วงนี้ โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้อยู่ที่ระดับ 34.95-35.20 บาทต่อดอลลาร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X