×

ซูนัคชี้ ยุคทองความสัมพันธ์สหราชอาณาจักร-จีน สิ้นสุดแล้ว ท่ามกลางแรงกดดันจากในพรรคให้ดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวขึ้นต่อปักกิ่ง

29.11.2022
  • LOADING...

วานนี้ (28 พฤศจิกายน) ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ระบุว่า ยุคทองของความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและจีนสิ้นสุดลงแล้ว ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติถดถอยลงในช่วงหลัง และล่าสุดเกิดความตึงเครียดขึ้นอีกจากกรณีที่ เอ็ด ลอเรนซ์ ผู้สื่อข่าว BBC ของสหราชอาณาจักร ถูกตำรวจจีนใช้กำลังและควบคุมตัวขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวการประท้วงมาตรการล็อกดาวน์โควิดในนครเซี่ยงไฮ้ 

 

โดยซูนัคชี้แจงว่า ยุคทองของทั้งสองประเทศที่ตนหมายถึงนี้ อ้างถึงความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนจะแน่นแฟ้นอย่างมากเมื่อราวๆ ปี 2015 ในช่วงที่ จอร์จ ออสบอร์น ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหราชอาณาจักร ในสมัยรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน

 

ผู้นำสหราชอาณาจักรคนใหม่ยังระบุอีกว่า รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของตนจะให้ความสำคัญด้านการค้าและความมั่นคง ควบคู่ไปกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรในแถบอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจและความมั่นคงไม่สามารถแยกออกจากกันได้

 

โดยก่อนหน้านี้ ซูนัคเคยให้คำมั่นว่า เขาจะดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวต่อจีน หากเขาชนะการเลือกตั้งและได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร พร้อมทั้งยังเคยเรียกประเทศมหาอำนาจอย่างจีนว่า เป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ต่อความมั่นคงภายในประเทศ และความมั่นคงของโลกอีกด้วย 

 

แต่อย่างไรก็ตาม สมาชิกร่วมพรรคคอนเซอร์เวทีฟของซูนัคมองว่า เขามีแนวทางที่ยังแข็งกร้าวต่อจีนไม่มากพอ เมื่อเทียบกับอดีตผู้นำอย่าง ลิซ ทรัสส์ อีกทั้งความพยายามที่ซูนัคจะเจรจาทวิภาคีกับสีจิ้นผิงในช่วงการประชุม G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็ประสบความล้มเหลว เนื่องจากมีการเรียกประชุมด่วนของสมาชิก NATO เกี่ยวกับกรณีขีปนาวุธตกในโปแลนด์ 

 

ซูนัคระบุว่า “เราตระหนักดีว่าจีนกำลังสร้างความท้าทายอย่างเป็นระบบต่อค่านิยมและผลประโยชน์ของสหราชอาณาจักร และนับเป็นความท้าทายที่ยิ่งก้าวร้าวรุนแรงขึ้น เมื่อจีนเคลื่อนไปสู่การเป็นเผด็จการอำนาจนิยมที่ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น

 

และเราก็ทราบดีว่า เราไม่สามารถเพิกเฉยต่อความสำคัญของจีนที่มีในเวทีโลก ทั้งในมิติของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและในมิติอื่นๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ในประชาคมโลกต่างเข้าใจตรงจุดนี้เป็นอย่างดี” 

 

แต่อย่างไรก็ตาม เจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ชี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้สื่อข่าว BBC เป็นสิ่งที่น่าเป็นกังวล โดยยืนยันว่า “สิทธิเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการชุมนุมประท้วงจะต้องได้รับการปกป้อง ไม่มีประเทศใดได้รับการยกเว้น สื่อมวลชนจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ โดยปราศจากการข่มขู่คุกคาม”

 

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของจีน ชี้แจงว่า ลอเรนซ์ไม่ได้แสดงตนว่าเป็นสื่อมวลชนแต่อย่างใด พร้อมทั้งแนะให้สื่อต่างประเทศปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของประเทศจีน ขณะที่ตนกำลังปฏิบัติหน้าที่ในประเทศแห่งนี้

 

โดยหลายพื้นที่ทั่วประเทศจีนกำลังเกิดกระแสความไม่พอใจมาตรการล็อกดาวน์ และมาตรการรับมือโควิดต่างๆ ของรัฐบาลจีน ตามแนวทางที่ต้องการจะให้โควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) โดยมีเหตุไฟไหม้ที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในเมืองอุรุมชี เขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน ที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนออกมาชุมนุมประท้วงในหลายพื้นที่ บางแห่งบานปลายกลายเป็นเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทั้งเกิดกระแสเรียกร้องให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศ

 

แฟ้มภาพ: Anadolu Agency via Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X