ปกติเราจะคุ้นเคยกับการแยกเจเนอเรชันแบบสากลโลกด้วยคำว่า เบบี้บูมเมอร์ Gen X, Gen Y และ Gen Z แต่ไม่ใช่กับประเทศญี่ปุ่น เพราะพวกเขามีการแบ่งเจเนอเรชันที่แตกต่างและละเอียดกว่า โดยอ้างอิงจากแนวโน้มของเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น
‘ซาโตริ เจเนอเรชัน’ หรือ ‘さとり世代’ เป็นการแบ่งกลุ่มคนที่เกิดหลังจากปี 1997 เป็นต้นไป ที่มีแนวคิดแบบ ‘ผู้ตื่นรู้’ ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า ‘ซาโตริ’ ซึ่งใช้กันในเชิงศาสนา ว่าด้วยเรื่องของผู้ที่รับรู้ความเป็นไปของสรรพสิ่ง และละทิ้งความวัตถุนิยมและสิ่งของนอกกายได้แล้ว
คำนี้ถูกหยิบขึ้นมาใช้ในเชิงเปรียบเทียบครั้งแรกในเว็บบอร์ดดังของญี่ปุ่นในปี 2010 และเริ่มเป็นที่แพร่หลายจนปรากฏในหนังสือขายดีเล่มหนึ่งของนักวิเคราะห์การเงินในปี 2013 ซึ่งยิ่งทำให้คำว่าซาโตริเป็นคำที่ไปไหนก็จะได้ยินอยู่เสมอ จนได้รับการเสนอให้เป็นผู้ท้าชิงรางวัลคำไวรัลในปี 2013 เลยทีเดียว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จะให้สร้างตัวในเศรษฐกิจแบบนี้? ‘ปล่อยให้เน่าไป’ แนวคิดล่าสุดของหนุ่มสาวชาวจีนที่ขอยอมแพ้กับชีวิต
- ทำงานไม่หยุด เพราะ ‘คิดว่าไม่มีใครแทนตัวเองได้’ งานวิจัยค้นพบ นี่แหละสาเหตุหลักที่คน Gen Y หยุดทำงานไม่ได้สักที!
- ทำงานจนตาย เดี๋ยวไม่ได้ใช้เงิน! รับเงินเดือนน้อยลง แต่ได้เวลาชีวิตมากขึ้น เทรนด์ใหม่มาแรงในหมู่พนักงานทั่วโลก
จากความหมายของคำว่าซาโตริ หลายคนน่าจะเริ่มเดาได้ว่านี่น่าจะคล้ายกับเทรนด์ ‘Frugality’ ของหนุ่มสาวสมัยใหม่ทั่วโลกที่ยอมใช้ชีวิตแบบรายได้ลดน้อยลง ประหยัดมากขึ้น เพื่อแลกกับเวลาในชีวิตและสุขภาพกายใจ หรือเทรนด์ ‘Soft Life’ ที่โฟกัสความเป็นอยู่ที่ดี และสุขภาพกายใจมากกว่าการวิ่งไล่ล่าตำแหน่ง เงินทอง และชื่อเสียง
จากการเก็บข้อมูลในปี 2017 พบว่าหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นมีแนวโน้มใช้จ่ายลดลงมาก แต่ไม่ใช่เพราะพวกเขามีรายได้น้อย กลับเป็นเพราะพวกเขาปรับเปลี่ยนแนวคิดและการใช้ชีวิตของตัวเองให้เบาสบายลงต่างหาก ซึ่งการปรับเปลี่ยนแนวคิดของหนุ่มสาวรุ่นใหม่นี้ก็มีให้เห็นในเอเชียตะวันออกประเทศอื่นอย่างเกาหลี ไต้หวัน และจีน ที่มีการใช้จ่ายลดลงมากกว่าเจเนอเรชันก่อนหน้าในช่วงที่อายุเท่ากัน
ด้วยความที่พวกเขาเกิดในปลายยุคการเติบโตหลังฟองสบู่แตก ซาโตริ เจเนอเรชันจึง ‘ตื่นรู้’ เพราะพวกเขาพอใจที่จะมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาแบบนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่พวกเขามีอยู่ ไม่จำเป็นต้องไขว่คว้าหาอะไรฟุ่มเฟือย หรืออะไรที่ไม่จำเป็นมาปรนเปรอตัวเองแต่อย่างใด
ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศแห่งการดื่มหลังเลิกงาน รวมไปถึงตัวเลือกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีหลากหลาย หนุ่มสาวยุคใหม่ของญี่ปุ่นนั้นเริ่มไม่สนใจการดื่มฉลองหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกต่อไปด้วยเหตุผลที่ว่า ‘ไม่จำเป็น’ เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ตอนเช้ายังต้องรับมือกับอาการแฮงก์ที่เกิดขึ้น แถมยังเสียสุขภาพอีกด้วย จนรัฐบาลได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีที่ได้น้อยลง และต้องออกแคมเปญเพื่อให้คนหนุ่มสาวหันมาดื่มแอลกอฮอล์กันมากขึ้น
นิสัยในการทำงานโดยธรรมชาติของพวกเขาจะพยายามหลีกเลี่ยงการขัดแย้งที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร และไม่เสียเวลาถกเถียงกับคนที่ไม่ได้มองโลกในมุมมองเดียวกันกับพวกเขา นอกจากนี้พวกเขายังหลบหนีจากความคาดหวังที่มากเกินไป มีความสุขกับอะไรที่พวกเขามีอยู่
แม้หลายคนจะไม่ได้เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ หรือมีหน้าที่การงานมั่นคงอย่างที่พ่อแม่พวกเขาทำอยู่ก็ตาม บางคนก็ไม่ได้ทำงานประจำ เลือกมีชีวิตอยู่ด้วยการทำงานพาร์ตไทม์ แต่พวกเขาก็ไม่ได้รู้สึกอิจฉาริษยาคนที่ประสบความสำเร็จแล้วแต่อย่างใด เน้นไปที่ความสุขในใจของตัวเองตามแบบฉบับ ‘ซาโตริ’
อ้างอิง: