×

จีนเตรียมจัดตั้งเขตนำร่องอีก 33 แห่ง พัฒนา ‘อีคอมเมิร์ซ’ ข้ามพรมแดน

25.11.2022
  • LOADING...
อีคอมเมิร์ซ

ประเทศในเอเชียรุกเสริมความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ จีนเตรียมจัดตั้งเขตนำร่องสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อีก 33 แห่งทั่วประเทศ หวังยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมดั้งเดิม ด้านเกาหลีใต้ตั้งเป้าสร้างอุตสาหกรรมอาวุธของประเทศ และปั้นให้เป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ในอันดับที่ 4 ของโลก

 

เว็บไซต์ข่าว Global Times รายงานว่า สภาแห่งรัฐของจีนได้อนุมัติการจัดตั้งเพิ่มเขตนำร่องสำหรับอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่ครอบคลุมพื้นที่ใน 33 เมือง และภูมิภาคทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ห่างไกล เพื่อใช้ประโยชน์จากบทบาทเชิงบวกของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในการอำนวยความสะดวกต่อการรเปลี่ยนแปลง ยกระดับและพัฒนาดิจิทัลของอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้าต่างประเทศของจีน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


รายงานระบุว่า จีนได้มีการจัดตั้งเขตนำร่องที่ครอบคลุมเป็นครั้งแรกสำหรับอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในปี 2015 ก่อนที่จะมีการขยายจำนวนเขตหลายครั้งหลังจากนั้น ทำให้จำนวนเขตนำร่องที่ครอบคลุมสำหรับอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนมีมากกว่า 100 แห่งแล้ว

 

ทั้งนี้ สภาแห่งรัฐซึ่งมีบทบาทในการบริหาร กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (24 พฤศจิกายน) ว่า จะมุ่งเน้นไปที่การสำรวจและสร้างสรรค์มาตรฐานทางเทคนิค กระบวนการทางธุรกิจ รูปแบบการกำกับดูแล และการสร้างข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซระหว่างธุรกิจกับธุรกิจข้ามพรมแดน

 

เอกสารของสภาแห่งรัฐระบุว่า รัฐบาลทุกระดับควรสนับสนุนวิสาหกิจในการสร้าง และแบ่งปันคลังสินค้าในต่างประเทศ สภาแห่งรัฐกล่าว

 

นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมบทบาทที่เป็นแบบอย่าง และเป็นผู้นำของเขตนำร่องอย่างมีประสิทธิภาพ สภาแห่งรัฐกล่าวว่าจะปรับปรุงระบบสถิติของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งตัวอย่างของนโยบายสนับสนุนดังกล่าวก็เช่น การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีการบริโภคสำหรับสินค้าส่งออกค้าปลีกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในเขตนำร่อง

 

Zhu Qiucheng ซีอีโอของ Ningbo New Oriental Electric Industrial Development กล่าวว่า เขตนำร่องชุดใหม่นี้ได้ขยายไปยังภาคกลางและภาคตะวันตก ซึ่งอีคอมเมิร์ซได้รับการพัฒนาน้อยกว่า แสดงถึงการพัฒนาที่ครอบคลุมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนอย่างแท้จริง

 

“การจัดตั้งเขตนำร่องที่ครอบคลุมในเมืองห่างไกลจะมีบทบาทเชิงบวกมากขึ้น ในการส่งเสริมการพัฒนาระดับสูงของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน การเปิดสู่โลกภายนอก และส่งเสริมเศรษฐกิจตลาดท้องถิ่นต่อไป” Zhu กล่าว 

 

จากข้อมูลของ Zhu พบว่า ในปี 2022 เศรษฐกิจโลกโดยรวมกลับเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนยังคงเป็นรูปแบบใหม่ของการค้าต่างประเทศที่มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว มีศักยภาพที่แข็งแกร่ง และยังอยู่ในช่วงที่รวดเร็ว

 

ขณะที่ข้อมูลของทางการจีนระบุว่า ขนาดการนำเข้าและส่งออกของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนในปี 2021 อยู่ที่ประมาณ 1.92 ล้านล้านหยวน โดยมีอัตราการเติบโต 18.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็น 4.9% ของการค้าต่างประเทศทั้งหมดของจีน 

 

ทั้งนี้ จำนวนคลังสินค้าในต่างประเทศมีมากกว่า 2,000 แห่ง พื้นที่รวมกว่า 16 ล้านตารางเมตร และขอบเขตธุรกิจครอบคลุมทั่วโลก

 

ด้านกระทรวงพาณิชย์จีน (MOFCOM) เพิ่งเผยแพร่รายงานระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขตนำร่องที่ครอบคลุมสำหรับอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของภูมิภาคขั้นสูง และบรรลุผลในเชิงบวก

 

นอกจากนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์จีนยังพบว่า เขตนำร่องในพื้นที่ภายในของจีนกำลังสำรวจเส้นทางการพัฒนาของตนเองร่วมกับอุตสาหกรรม และข้อได้เปรียบด้านที่ตั้ง ในขณะที่เขตนำร่องในภูมิภาคชายฝั่งตะวันออกกำลังมุ่งเน้นไปที่การสำรวจโมเดลใหม่ และรูปแบบธุรกิจใหม่ ค่อยๆ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างทางบกและทางทะเล และระหว่างตะวันออกและตะวันตก

 

เกาหลีใต้หวังขึ้นแท่น Top 4 ส่งออกอาวุธของโลก 

วันเดียวกัน ทางเว็บไซต์ข่าว Al Jazeera รายงานว่า ประธานาธิบดี Yoon Suk-yeol แห่งเกาหลีใต้ ประกาศให้คำมั่นที่จะยกระดับความพยายามในการส่งเสริมการส่งออกอาวุธ และเทคโนโลยีการป้องกันรักษาความปลอดภัยที่ทันสมัยของประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างอุตสาหกรรมอาวุธของประเทศ และปั้นให้เกาหลีใต้เป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับที่ 4 ของโลก

 

ผู้นำเกาหลีใต้กล่าวเมื่อวานนี้ (24 พฤศจิกายน) ในขณะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเกี่ยวกับการส่งเสริมการส่งออกด้านกลาโหม เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ซึ่งการประชุมดังกล่าวออกแบบมาเพื่อสำรวจแนวทางที่จะเปลี่ยนแกนหลักของอุตสาหกรรมจากการผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นการส่งออก

 

ทั้งนี้ ประธานาธิบดี Yoon กล่าวต่อที่ประชุม ซึ่งจัดขึ้นที่กลุ่ม Korea Aerospace Industries ผู้พัฒนาเครื่องบินรบเพียงรายเดียวของเกาหลีใต้ที่ตั้งอยู่ในเมืองซาชอน ทางตะวันออกเฉียงใต้ว่า อุตสาหกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์จะเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต และเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง

 

“ด้วยการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นเพื่ออำนาจสูงสุดทางเทคโนโลยี เราจำเป็นต้องรักษาความสามารถในการแข่งขันทางเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาระบบอาวุธที่เปลี่ยนแปลงเกมสำหรับสงครามในอนาคต” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้กล่าว 

 

ทั้งนี้ ผู้นำเกาหลีใต้ยังเรียกร้องให้มีเงื่อนไขที่ดีกว่าสำหรับผู้รับเหมาด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ในการดำเนินการวิจัย การลงทุนพัฒนา และการจัดตั้งระบบนิเวศที่สามารถส่งเสริมโครงสร้างอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกให้มากขึ้น

 

การประชุมครั้งนี้มีขึ้น 4 เดือนหลังจากเกาหลีใต้บรรลุข้อตกลงด้านอาวุธครั้งใหญ่ที่สุดกับโปแลนด์ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 20 ล้านล้านวอน รวมถึงการส่งออกรถถังและปืนครก  โดยในเวลาไล่เลี่ยกันในเดือนสิงหาคม ประธานาธิบดี Yoon ยังได้เปิดเผยเป้าหมายในการทำให้อุตสาหกรรมการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของประเทศก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ รัสเซีย และฝรั่งเศส

 

ผู้นำเกาหลีใต้เปิดเผยว่า หลายประเทศทั่วโลก รวมถึง ออสเตรเลีย และนอร์เวย์ กำลังหาทางยกระดับความร่วมมือด้านกลาโหม ซึ่งจะช่วยหนุนขีดความสามารถของเกาหลีใต้ในการตอบโต้ภัยคุกคามของเกาหลีเหนือ ขณะเดียวกันก็มีส่วนส่งเสริมสันติภาพ และเสถียรภาพในประชาคมระหว่างประเทศ

 

“บางคนบอกว่าอาจมีภาวะสุญญากาศในกองกำลังทหารของเรา เนื่องจากการส่งออกด้านกลาโหม ซึ่งข้อโต้แย้งดังกล่าวถือเป็นข้ออ้างที่ใช้โจมตีทางการเมือง แต่รัฐบาลจะรักษาการเตรียมความพร้อมทางทหารอย่างละเอียด ในขณะที่สนับสนุนการส่งออกเหล่านั้นอย่างแข็งขัน” ประธานาธิบดี Yoon ระบุ 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X