วันนี้ (22 พฤศจิกายน) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงกรณีภาระหนี้สินของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในส่วนของการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2
วิศณุกล่าวว่า สัญญารถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ถ้าพิจารณาจะมีความแตกต่างกัน โดยส่วนที่ 1 กทม. ทำสัญญาจ้างบริหารจัดการระบบกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT จากนั้น KT ทำสัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงกับ BTSC
ส่วนต่อขยายที่ 2 กทม. มอบหมายกิจการให้กับ KT หลังจากนั้น KT ทำสัญญา E&M (สัญญาจ้างการติดตั้งระบบงาน ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล) และ O&M (สัญญาค่าจ้างการเดินรถ)
ทั้งนี้ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณในการก่อหนี้ผูกพันของ กทม. หมวดที่ 3 ข้อ 16 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเห็นสมควร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอาจจัดงบประมาณอุดหนุนในการดำเนินงานของบริษัทได้โดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.)
ที่ผ่านมาในการดำเนินงานส่วนต่อขยายที่ 1 มีการบรรจุโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครลงในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครในส่วนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2555 จากนั้นมีการลงนามสัญญาจ้างโครงการบริหารจัดการระหว่าง กทม. และ KT และ KT ได้ลงนามสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงกับทางเอกชนต่อ
วิศณุกล่าวต่อไปว่า ในข้อบัญญัติของ กทม. เรื่องวิธีการงบประมาณปี 2529 และ 2536 การจะก่อหนี้ผูกพันได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติเงินประจำงวดแล้ว และการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อๆ ไปทางผู้ว่าฯ กทม. จะสั่งก่อหนี้ผูกพันได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก สภา กทม. เท่านั้น
ทั้งนี้ ขั้นตอนของส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ต่างจากส่วนต่อขยายที่ 1 เริ่มจากเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ปี 2558 กทม. ออกหลักเกณฑ์ในการมอบหมายงานให้ KT
15 มิถุนายน 2559 รักษาการผู้ว่าฯ กทม. ลงนามเห็นชอบมอบหมายให้ KT จัดการเดินรถและตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการชำระคืนค่า E&M
28 มิถุนายน 2559 KT ทำสัญญา E&M กับบริษัทเอกชนมูลค่าสัญญา 19,358 ล้านบาท ทำสัญญาก่อนบันทึกมอบหมาย
28 กรกฎาคม 2559 กทม. ลงนามบันทึกมอบหมายระหว่าง กทม. กับ KT ลงนามโดยที่ยังไม่ได้มีการทำโครงการเสนอขออนุมัติงบประมาณจาก สภา กทม.
1 สิงหาคม 2559 KT ทำสัญญา O&M กับบริษัทเอกชน มูลค่าสัญญา 161,097.64 ล้านบาท
ปี 2561 สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้เสนอสำนักงบประมาณเพื่อขอจัดสรรงบประมาณโครงการติดตั้งระบบเดินรถและบริหารจัดการเดินรถระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียว ระยะเวลาดำเนินการ 15 ปี ระหว่างปี 2561-2575 วงเงินรวม 31,988,490,000 บาท ทาง สภา กทม. พิจารณาแล้วไม่อนุมัติโครงการดังกล่าว
ปี 2564 สจส. เสนอสำนักงบประมาณเพื่อขอจัดสรรงบประมาณในการชำระหนี้ส่วนต่อที่ 1 และ 2 วงเงินรวม 9,246,748,339 บาท สภา กทม. ไม่เห็นชอบให้ กทม. จ่ายขาดเงินสะสม เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการดำเนินการได้มีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งคณะกรรมการดำเนินการเจรจาพร้อมร่างสัญญา โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมทุนโครงการ
ต่อมาในสมัยที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. ทางกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือแจ้ง กทม. ขอทราบแนวทางดำเนินโครงการ เนื่องจากมีผู้ว่าฯ กทม. และสภา กทม. ชุดใหม่ และผู้ว่าฯ กทม. ได้มีหนังสือตอบกลับ 3 ประเด็นหลัก
- เห็นพ้องกับนโยบาย Through Operation ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถ
- เห็นควรที่จะเดินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562
- การหาข้อยุติของ ครม. ตามคำสั่ง คสช. จะทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงาน
วิศณุกล่าวต่อไปว่า สำหรับเหตุผลที่ยังไม่สามารถดำเนินการชำระหนี้สินได้เนื่องจากปัจจุบันยังเป็นการดำเนินการตามคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562
ในส่วนต่อขยายที่ 1 กทม. ไม่ได้มีเจตนาจะไม่ชำระหนี้ เนื่องจาก กทม. ได้มีการสนับสนุนค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมาตลอดจนถึงเดือนเมษายน 2562 กระทั่งมีคำสั่ง คสช. ได้มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการและได้มีการเจรจาให้เอกชนรับภาระค่าจ้างเดินรถของส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่พฤษภาคม 2562 ระบุไว้ในร่างสัญญาร่วมทุน
มูลค่าหนี้อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ค่าดอกเบี้ย เนื่องจาก กทม. ไม่มีเจตนาจะไม่ชำระหนี้ และสัญญาที่ กทม. ทำกับ KT ไม่ได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้
อีกทั้ง กทม. เห็นว่า KT มีการจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อตรวจสอบคิดคำนวณค่าจ้างใหม่ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งอาจทำให้ยอดหนี้เปลี่ยนไปไม่ตรงกับที่เอกชนฟ้อง
ส่วนต่อขยายที่ 2 เนื่องจากบันทึกมอบหมายยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณจาก สภา กทม. และ กทม. ไม่ได้มีการทำนิติกรรมโดยตรงกับเอกชน มีเพียงการทำบันทึกมอบหมายให้ KT เท่านั้น นอกจากนี้ในบันทึกข้อตกลงมอบหมายข้อที่ 13.3 ยังมีการระบุไว้ว่า บันทึกข้อตกลงนี้ไม่มีผลทำให้ KT เป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของ กทม.
ทั้งนี้ การดำเนินการต่อไปในอนาคต เป้าหมายค่าใช้จ่ายที่เป็นหนี้ผูกพันระยะยาวต้องผ่านการพิจารณาของสภา กทม.
ส่วนต่อขยายที่ 1 ในส่วนที่มีการดำเนินการครบถ้วนแล้วสามารถชำระหนี้ได้ถ้าหากมีข้อยุติการต่อสัมปทานจาก ครม.
ส่วนต่อขยายที่ 2 จะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามข้อบัญญัติของ กทม.
วิศณุกล่าวเสริมว่า ทาง กทม. ต้องรอคำตอบจากที่ประชุม ครม. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือขอความชัดเจนไป 3 ข้อ ประกอบด้วย
- ให้รัฐบาลสนับสนุนงบค่าก่อสร้างและระบบเดินรถ
- ผ่านการเห็นชอบส่วนของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562
- ให้ ครม. หาข้อยุติกรณีคำสั่ง คสช. ปี 2562 ตั้งคณะกรรมการเจรจาเรื่องสัญญาสัมปทาน
ด้านต่อศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ทาง กทม. เองไม่ได้ขาดงบประมาณหรือมีงบประมาณไม่พอ เพราะเมื่อประเมินจากเงินสะสมในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 อยู่ที่ประมาณ 70,000 กว่าล้านบาท และได้สำรองเอาไว้แล้วสำหรับการชำระ 10,000 ล้านบาท แต่ทุกกระบวนการจะต้องมีการแจกแจง เพราะฉะนั้นขอยืนยันว่าไม่ใช่ไม่พร้อมจ่ายแต่กระบวนการต้องครบถ้วน