หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่รอบการประชุมเดือนสิงหาคมและกันยายน 2565 ครั้งละ 0.25% รวมเป็น 0.50% ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยืนอยู่ที่ 1.00% นั้น ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยตามทันทีในระยะแรกๆ อย่างไรก็ดี ในเดือนตุลาคม 2565 การปรับอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์เริ่มหนาตามากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
ล่าสุด ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า จำนวนแคมเปญเงินฝากพิเศษในตลาดเริ่มหนาตาขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยแคมเปญเงินฝากพิเศษออกใหม่ของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่า 20 แคมเปญ ส่วนใหญ่เป็นการออกแคมเปญของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดเล็กเป็นหลัก แม้ว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นการออกเพื่อชดเชยโครงการ/แคมเปญเงินฝากที่ครบกำหนดหรือเตรียมจะครบกำหนด แต่เมื่อหักปัจจัยดังกล่าวแล้วก็ยังพบว่ามีสัญญาณการออกแคมเปญเงินฝากที่เร่งตัวขึ้น
ศูนย์วิจัยฯ ระบุว่า ภาพการเร่งขึ้นของจำนวนแคมเปญเงินฝากออกใหม่สุทธิทยอยปรากฏขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 สอดคล้องกับการเร่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ ขณะที่จำนวนแคมเปญเงินฝากออกใหม่สุทธิขยับขึ้นจากประมาณ 6-7 แคมเปญในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 มาที่ประมาณ 18 แคมเปญในเดือนตุลาคม 2565 นอกจากนี้แคมเปญที่ออกใหม่ในเดือนตุลาคม 2565 ยังนำเสนออัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าเดิมประมาณ 0.36-1.00% เมื่อเทียบกับแคมเปญที่ออกในช่วงเดือนมิถุนายน 2565
โดยสำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์สำหรับบุคคลธรรมดาประมาณ 0.20% จากธนาคารพาณิชย์เพียงหนึ่งแห่ง ขณะเดียวกันก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 3-36 เดือนในกรอบประมาณ 0.10-0.75% นอกจากนี้ยังมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของฝั่งลูกค้านิติบุคคลในเดือนตุลาคมเช่นกัน โดยมีการปรับขึ้นประมาณ 0.05-0.18% สำหรับเงินฝากออมทรัพย์ และประมาณ 0.10-0.83% สำหรับเงินฝากประจำประเภท 3-36 เดือน
ทั้งนี้ การแข่งขันด้านราคาเงินฝากที่เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นมาจากหลายสาเหตุ เช่น
- การส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของ กนง.
- ทิศทางสินเชื่อที่ยังรักษาโมเมนตัมการขยายตัว โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 สินเชื่อขยายตัว 5.0%YoY แม้จะชะลอลงเมื่อเทียบกับการขยายตัว 6.0% ณ สิ้นปี 2564 แต่ก็เป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าอัตราการเติบโตของเงินฝาก
- ปริมาณสภาพคล่องส่วนเกินที่ทยอยลดลง ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่ปรับขึ้นจาก 93.0% ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 มาที่ 95.0% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 นอกจากนี้สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (% LCR) และปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกิน (จากประมาณการกระแสเงินสดไหลออกในระยะ 30 วัน) ได้ทยอยปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงประมาณกลางปี 2565 โดยสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการปรับพอร์ตการลงทุนในตราสารหนี้และการปรับลดลงของมูลค่าตราสารหนี้ที่ถือครองตามราคาตลาด (Mark to Market) ในช่วงที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยปรับสูงขึ้น ประกอบกับผู้ฝากเงินอาจมีการปรับเปลี่ยนการออมเงินในรูปเงินฝากบางส่วนไปลงทุนในหุ้นกู้
- การออกแคมเปญเพื่อรักษาฐานลูกค้าเงินฝากกลุ่มต่างๆ ตามนโยบายของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง โดยมีการออกแคมเปญเงินฝากระยะยาวที่อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นในลักษณะขั้นบันไดสำหรับรองรับวัยเกษียณ หรือรับดอกเบี้ยเงินฝากคืนในลักษณะรายเดือน แคมเปญเงินฝากปลอดภาษี รวมถึงโครงการเงินฝากพิเศษสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง และแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษที่ฝากสม่ำเสมอเป็นรายเดือน เพื่อตอบวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมการออมที่สม่ำเสมอ เป็นต้น
ศูนย์วิจัยฯ ระบุอีกว่า หากมองไปข้างหน้า แม้เงินฝากจะไม่ได้เติบโตในอัตราเร่ง แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากน่าจะปรับสูงขึ้นในลักษณะที่ชันขึ้นอีก โดยมาจากแรงส่งทั้งการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ (ก่อนกำหนดการปรับเพิ่มอัตรานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ อีก 0.23% ในช่วงต้นปี 2566) ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้นมากกว่า 0.50% ภายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566
ส่วนประมาณการเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ณ สิ้นปี 2565 นี้ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.5-3.7% (เทียบกับ 4.0% ณ สิ้นปี 2564 และ 3.6% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565) ก่อนที่จะขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ในกรอบประมาณ 4.0-5.5% ในปี 2566 ตามทิศทางเศรษฐกิจที่น่าจะทยอยฟื้นตัวและการเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการเติบโตของสินเชื่อ
สำหรับผู้มีเงินออม ราคาหรืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่เพิ่มขึ้น รวมถึงแคมเปญเงินฝากที่ทยอยออกมามากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี คงทำให้ผู้มีเงินออมที่รับความเสี่ยงได้น้อยมีทางเลือกในการออมเงินที่ให้ผลตอบแทนดีขึ้น หรือมีผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนถี่ขึ้นกว่ารายครึ่งปี อันอาจช่วยตอบโจทย์การนำดอกผลไปใช้จ่าย เพื่อดำรงชีวิตประจำวันได้ดีขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ดี ด้วยเงินเฟ้อที่คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 2.5% ในปีหน้า ก็ยังทำให้การออมในรูปของเงินฝาก โดยเฉพาะเงินฝากระยะสั้น ยังให้ผลตอบแทนที่ติดลบ ดังนั้นผู้มีเงินออมที่สามารถรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จึงอาจพิจารณากระจายการลงทุนไปสินทรัพย์อื่นๆ เช่น กองทุนรวม ตราสารหนี้ หรือแม้กระทั่งตราสารทุน เพื่อให้ได้ส่วนผสมของพอร์ตการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนโดยรวมเพิ่มขึ้น ซึ่งย้ำอีกครั้งว่า การที่จะได้ผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนตามที่คาดหวังได้ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนักลงทุนได้ศึกษาและเข้าใจความเสี่ยงและบริบทเฉพาะของสินทรัพย์นั้นๆ อย่างรอบคอบแล้ว
สำหรับธนาคารพาณิชย์นั้นคงต้องบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวนี้ไปยังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้มากน้อยเพียงใดนั้นคงขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ ความพร้อมของลูกค้า และการเติบโตของธุรกิจหลัก อย่างเช่น เงินให้สินเชื่อ เป็นสำคัญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารออมสิน เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได จ่ายสูงสุด 4.5% และ 10% หวังส่งเสริมการออมระยะยาว
- เตรียมตัวไว้! ตั้งแต่ 15 พ.ย. นี้ ‘ฝากเงินผ่านตู้’ ต้องยืนยันตัวตนผ่านบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม และบัตรเครดิต เพื่อป้องกันการฟอกเงิน
- ไม่ตกขบวน! ไทยพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR และ MOR 0.25% พร้อมขยับดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงสุด 0.50%