การประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) หรือ APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตลอด 2 วันที่ผ่านมา (18-19 พฤศจิกายน) ปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์ ท่ามกลางความคาดหวังจากผลสำเร็จต่างๆ โดยเฉพาะด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันครั้งแรกระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ในรอบ 4 ปี ซึ่งนอกจากจะเป็นเวทีหารือระหว่างผู้นำและผู้แทนจาก 21 สมาชิกเขตเศรษฐกิจ ยังเป็นพื้นที่สำหรับการหารือระดับทวิภาคีของไทยและประเทศต่างๆ ไปจนถึงการจัดประชุมฉุกเฉินในประเด็นระดับโลก อย่างการยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ของเกาหลีเหนือ ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการประชุม APEC ที่ไทยเรากำลังจะเป็นเจ้าภาพ
- ประมวลภาพผู้นำนานาประเทศตบเท้าร่วมงาน APEC CEO Summit 2022
- วาทะเด็ดในงาน APEC CEO Summit 2022 วันสุดท้าย
โดยบรรดาผู้นำ APEC ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับแขกพิเศษที่เข้าร่วมการประชุมคือ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และเจ้าชายมูฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
ซึ่งนอกจากการประชุมเวทีหลัก ยังมีเวทีคู่ขนานของผู้นำภาคธุรกิจ APEC (APEC CEO Summit) และการหารือระหว่างผู้นำ APEC กับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ APEC ในขณะที่นายกรัฐมนตรียังได้ร่วมรับฟังมุมมองของกลุ่มผู้แทนเยาวชน APEC จาก APEC Voices of the Future 2022 ด้วย
และนี่คือความสำเร็จและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการประชุมผู้นำ APEC 2022 ในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นเวทีประชุมที่สำคัญและเป็นอีกโอกาสของคนไทยทั้งประเทศ
ปฏิญญาผู้นำ APEC 2022
ผลลัพธ์จากการประชุมที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในการแถลงภายหลังการประชุม เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จและความภูมิใจ ภายหลังการทำงานอย่างหนักของทุกฝ่ายตลอดทั้งปีที่ผ่านมา คือการที่ผู้นำทุกเขตเศรษฐกิจสามารถบรรลุฉันทามติ รับรอง ‘ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC 2022’
การประกาศปฏิญญาผู้นำ APEC ฉบับนี้ ยังถือเป็นการสะท้อนผลสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทย ที่ขับเคลื่อนให้ APEC สามารถเดินหน้าทำงานได้ ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายที่หนักหน่วงในปัจจุบัน
เนื้อหาสำคัญในปฏิญญาผู้นำ APEC 2022 นั้นระบุถึงหลายประเด็น เช่น การดำเนินการเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040) ผ่านแผนปฏิบัติการ Aotearoa ซึ่งมุ่งเน้นการบรรลุประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสงบสุขภายในปี 2040 เพื่อความรุ่งเรืองของประชาคม APEC
ขณะเดียวกัน ในประเด็นระดับโลกอย่างสถานการณ์สงครามยูเครนนั้น เนื้อหาในปฏิญญาผู้นำระบุว่า ที่ประชุมผู้นำ APEC ได้เน้นย้ำถึงจุดยืน เช่นเดียวกับที่แสดงในเวทีประชุมระหว่างประเทศอื่นๆ รวมถึงการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีมติแสดงความเสียใจอย่างรุนแรงที่สุดต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังทหารออกจากดินแดนของยูเครนอย่างสมบูรณ์และไม่มีเงื่อนไข
โดยสมาชิกเขตเศรษฐกิจ APEC ส่วนใหญ่มีท่าทีประณามการทำสงครามในยูเครน และเน้นย้ำถึงผลกระทบที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานต่อมนุษย์และเศรษฐกิจโลก ตลอดจนขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มภาวะเงินเฟ้อ ขัดขวางห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ความไม่มั่นคงด้านพลังงานและอาหารสูงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน
ขณะที่ผู้นำ APEC เห็นพ้องว่า มีมุมมองอื่นๆ ตลอดจนการประเมินทั้งสถานการณ์และมาตรการคว่ำบาตรที่แตกต่างกัน และตระหนักดีว่า APEC ไม่ใช่เวทีสำหรับแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคง แต่ยอมรับว่าประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ผู้นำ APEC ยังมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและเสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคีที่อิงตามกฎระเบียบ โดยมีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นแกนหลัก และจะร่วมมือกับ WTO เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปที่จำเป็นต่อไป เพื่อปรับปรุงการทำงานทั้งหมด และเพื่อให้มั่นใจว่า WTO สามารถจัดการกับความท้าทายทางการค้าโลกที่มีอยู่และที่กำลังเกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น
ส่วนในประเด็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังโควิด ผู้นำ APEC เห็นพ้องว่าสิ่งสำคัญอันดับแรก คือการขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างที่มุ่งเน้นการเติบโต โดยมีการออกแบบที่ครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับธุรกิจทุกประเภท โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) และธุรกิจสตาร์ทอัพ ตลอดจนร่วมมือกันปรับปรุงโอกาสสำหรับธุรกิจเหล่านี้ เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขัน มีความเชี่ยวชาญ สร้างสรรค์นวัตกรรม และขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศได้
ทั้งนี้ การประกาศปฏิญญาผู้นำ APEC ดังกล่าว ยังสะท้อนถึงการทำงานอย่างใกล้ชิดของสมาชิก APEC และยังเป็นการวางรากฐานเพื่อให้ APEC มีทิศทางการทำงานด้านความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ
เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG
หนึ่งในประเด็นที่เป็นที่พูดถึงของการประชุม APEC 2022 คือการผลักดัน ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ (Bangkok Goals) ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว)’ ซึ่งบรรดาผู้นำ APEC ให้การสนับสนุนและรวมอยู่ในปฏิญญาผู้นำที่ประกาศออกมา โดยถือเป็นการประกาศถึงความสำเร็จของแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยพยายามผลักดัน และเป็นเสมือนเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการยืนยันถึงผลลัพธ์ตามหัวข้อหลักของการประชุม 3 ข้อ คือ ‘Open. Connect. Balance.’ หรือ ‘เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล’
เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย BCG นั้นเป็นกรอบการทำงานที่ครอบคลุมเพื่อต่อยอดวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนของ APEC โดยที่ประชุมยืนยันจะพัฒนาเป้าหมายกรุงเทพฯ ด้วยความชัดเจน ตอบสนอง และครอบคลุม โดยสร้างจากความมุ่งมั่นและแนวทางการทำงานที่มีอยู่ ตลอดจนการพิจารณาแรงบันดาลใจใหม่ๆ
ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของ พล.อ. ประยุทธ์ ในการกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นของแนวคิดเศรษฐกิจแบบ BCG ท่ามกลางสถานการณ์และความท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งซ้ำเติมผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยประกาศอย่างหนักแน่นว่า “เราไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมได้อีกต่อไป พวกเราต้องปรับมุมมองและเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจ”
ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
สำหรับหัวข้อ ‘Open. Connect. Balance.’ นั้นถือเป็น 3 ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนตามที่ไทยตั้งเป้า โดยมีรายละเอียดและผลที่ได้ดังนี้
1. Open – เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์
APEC ได้สานต่อการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) โดยมีผลงานที่เป็นรูปธรรมคือการจัดทำแผนงานต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิก และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับประเด็นการค้าการลงทุนใหม่ๆ
2. Connect – เชื่อมโยงกัน
APEC ได้ฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนระหว่างกันอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ เพื่อสร้างความพร้อมรับมือวิกฤตใหม่ในอนาคต
3. Balance – สู่สมดุล
ผู้นำ APEC ทุกคนได้ร่วมกันรับรอง ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG’ เพื่อวางรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเน้นเป้าหมายหลัก 4 ข้อ ได้แก่
- การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ
- การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน
- การบริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืน
- การลดและจัดการของเสียอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.bangkokgoals.apec.org เพื่อรวบรวมแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและข้อริเริ่มของสมาชิก APEC ให้เป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้สนใจสืบค้น ศึกษา และประยุกต์ใช้ต่อไปด้วย
สหรัฐฯ รับภารกิจ สานต่อเป้าหมายกรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะเป็นสหรัฐฯ ที่รับไม้ต่อในฐานะเจ้าภาพการประชุม APEC 2023 โดยไทยพร้อมให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อขับเคลื่อนงานของ APEC ต่อไปอย่างไร้รอยต่อ และแสดงความมั่นใจว่าประเด็นด้านความยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งระบุในเป้าหมายกรุงเทพฯ ที่ได้ร่วมกันวางรากฐานไว้เป็นอย่างดีนั้นจะได้รับการสานต่อในปีหน้า ภายใต้หัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพ APEC ของสหรัฐฯ และเชื่อมั่นว่าภายใต้การนำของสหรัฐฯ APEC จะได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างดี
อ้างอิง: