×

โอม Cocktail พร้อมสร้างศิลปินสายพันธุ์ใหม่จากห้องทดลองทางดนตรีที่ชื่อ Gene Lab

16.02.2018
  • LOADING...

ในช่วงที่วงการดนตรีซบเซา เพลงกลายเป็นของฟรีที่หาฟังได้ง่าย และทุกคนพร้อมที่จะแจ้งเกิดได้ในรายการประกวดร้องเพลงได้ก่อให้เกิดไอเดียใหม่ร่วมกันของ นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้บริหารค่าย Genie Records และ โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ นักร้องนำวง Cocktail เพื่อสร้างศิลปินอาชีพรุ่นใหม่ที่สามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยการผลงานเพลงที่พวกเขารักได้จริงๆ ภายใต้ห้องทดลองทางดนตรีที่ชื่อ Gene Lab

 

ก่อนที่ห้องทดลองนั้นจะเริ่มเปิดทำการ THE STANDARD ได้ชวนโอมมาพูดคุยถึงสมมติฐานที่เขาพยายามไขรหัสความสำเร็จทางด้านดนตรี เพื่อสร้างศิลปินรุ่นใหม่ที่มี ‘ยีน’ พิเศษที่เต็มไปด้วยอัตลักษณ์เฉพาะตัว ถึงแม้ตอนนี้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นหา ‘ตัวแปร’ ที่ชื่อศิลปินรุ่นใหม่ แต่ความคิดในการพัฒนาวงการดนตรีของเขาน่าสนใจและควรค่าแก่การศึกษา

 

ซึ่งสุดท้ายแล้ว การทดลองทั้งหมดจะประสบความสำเร็จหรือออกมาในรูปแบบใด ทุกฝ่ายตั้งแต่ตัวของเขาเอง ศิลปินรุ่นใหม่ ค่าย Gene Lab และคนฟังทั้งหมดจะต้องมาพิสูจน์สมมติฐานนั้นร่วมกันอีกนาน

 

 

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณตัดสินใจสร้างห้องทดลองที่ชื่อ Gene Lab ในครั้งนี้

เริ่มต้นจากการที่เข้าสู่ปีที่ 20 ของ Genie Records พร้อมกับอายุของศิลปินในค่ายที่เพิ่มมากขึ้นตามกาลเวลา มาสู่จุดที่ทำเริ่มผลิตศิลปินใหม่แล้วรู้สึกว่าศิลปินใหม่ที่อยากเข้ามาที่ Genie Records มีความเกร็ง คิดง่ายๆ ว่าเดินเข้ามาแล้วเจอ Bodyslam, Potato หรือปาล์มมี่ เขาต้องเกร็งโดยธรรมชาติอยู่แล้ว พี่นิคเลยมาคุยกับผมว่าเราต้องมีอีกหนึ่งดิวิชันมาดูแลเฉพาะศิลปินหน้าใหม่จริงๆ เพื่อให้เขาไม่กดดันและรู้สึกเป็นกันเอง

 

การดูแลศิลปินหน้าใหม่ก็ต้องการวิธีบริหารงานแบบใหม่เพื่อให้สอดรับกับวงการดนตรีที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก เด็กสมัยใหม่ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับการได้มาอยู่ค่ายแกรมมี่เหมือนเมื่อก่อน เพราะไม่แน่ใจว่าถ้าลงยูทูบเองเขาอาจจะรวยกว่าก็ได้ เพื่อตอบโจทย์การทำงานแบบนั้น เราเลยต้องการสร้างแล็บขึ้นมาให้เป็นโอเปอเรชันใหม่ที่หลุดจากขนบเดิม ทำการทดลองกับศิลปินใหม่ๆ เพื่อหาความเป็นไปได้สูงสุดที่เหมาะกับวงการเพลงในตอนนี้ เราเลยเป็นเหมือนแผนก Research & Development และเป็นที่มาของคำว่า Gene Lab ที่สืบทอดความคิดมาจาก Genie Records เราให้เกียรติจุดเริ่มต้นของเราอยู่แล้ว เลยเอา i ของ Genie ออกไปหนึ่งตัว กลายเป็นสายพันธุ์ รวมกับคำว่า Lab เป็นการสร้างห้องทดลองทางดนตรีเพื่อสร้างศิลปินที่มียีนหรือสายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมา

 

การทดลองที่เกิดขึ้นใน Gene Lab จะมีอะไรบ้าง

ทดลองวิธีการทำธุรกิจดนตรีแบบใหม่ทั้งหมด บุคลากรใหม่ ศิลปินใหม่ เราจะไม่มีการย้ายศิลปินเก่าหรือบุคลากรจากค่ายหรือแผนกอื่นในแกรมมี่เข้ามาเลย ศิลปินเราออดิชันใหม่ทั้งหมด รับคนเพิ่มเพื่อสร้างแผนกนี้ขึ้นมา เพราะฉะนั้น Gene Lab คือซัพพลายเออร์ที่อยู่ข้างนอก ผมมีหน้าที่เสนองานให้แกรมมี่ว่าผมมีโปรเจกต์จะทำแบบนี้ คุณจะลงทุนไหม เขาควบคุมผมได้ด้วยการส่งเงินให้ผม แต่บุคลากรทั้งหมด การบริหารนโยบาย การบริหารเงินก้อนนั้นเป็นของผมหมดเลย เพียงแต่ผมต้องส่งงานให้แกรมมี่ตามข้อตกลง และผลงานทั้งหมดรวมทั้งคำว่า Gene Lab แบรนด์ โลโก้ ผลงานของศิลปินเป็นของแกรมมี่ ข้อดีของการทำแบบนี้คือเราไม่ต้องใช้ส่วนกลางร่วมกับแผนกอื่นๆ เยอะ สามารถทำทุกอย่างในการดูแลศิลปินได้แบบครบวงจรในแผนกของเราเอง

 

คำว่าศิลปินใหม่หมายถึงใหม่จริงๆ ไม่เคยมีผลงานกับที่ไหนมาก่อน

เขาอาจจะเคยมีผลงานตอนเป็นศิลปินอินดี้ก็ได้ แต่หมายความว่าเขาคือ New Resign ไม่เคยเซ็นสัญญาเป็นศิลปินอาชีพมาก่อน ซึ่งตอนนี้กำลังทำการออดิชันกันอยู่ ซึ่งเราไม่ได้ออดิชันเรื่องการเล่นเก่ง แต่เราออดิชันเรื่องทัศนคติเพื่อหาคนที่รู้สึกว่าทำงานด้วยได้ เราสามารถส่งเสริมเขาได้จริงๆ เราสร้างคนที่อยากมาเป็นศิลปินอาชีพจริงๆ จากทั่วประเทศเพื่อคัดเหลือ 4 วงสุดท้ายที่จะได้ทำเพลงกับเรา

 

เรื่องอะไรที่ต้องทำการทดลองต่อไปเมื่อได้ศิลปินใหม่ 4 วงนั้นมาแล้ว

เดี๋ยวเราจะมีการโปรโมตคอนเทนต์ในรูปแบบที่ไม่เคยมีการทำมาก่อน แต่ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ ที่พอจะบอกได้ก็คือเราจะทำให้ศิลปินทุกคนได้เรียนรู้และได้เห็นทุกอย่างที่เขาควรจะรู้เมื่อได้เป็นศิลปินอาชีพ เราจะมีการเทรนทุกอย่าง การขึ้นเพลง เพอร์ฟอร์แมนซ์ การขายงาน ทำมิวสิกวิดีโอ เขาต้องรู้ทุกอย่าง ไม่ใช่คิดแค่ว่าทำเพลงอย่างเดียวแล้วจะสามารถอยู่รอดไปได้ตลอด เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพวกเขา พัฒนาวงการ แม้ในวันที่ออกเพลงกับเราแล้วไม่ประสบความสำเร็จ วันที่เราคืนสัญญาให้ เขาก็ยังมีความรู้ติดตัวเอาไปทำอย่างอื่นได้ต่อไป

 

 

แสดงว่าแค่ทำเพลงให้ดีอย่างเดียวไม่พอ ศิลปินรุ่นใหม่จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องธุรกิจมากขนาดนั้นเลยใช่ไหม

ผมมองว่าจำเป็นมากครับ เพราะว่าการเข้าใจโครงสร้างธุรกิจทำให้เราเข้าใจที่มา ข้อหนึ่ง ถ้าคุณทำงานแล้วไม่มีเงิน คุณต้องขอเงินคนอื่น คุณต้องรู้ด้วยว่าคนที่ให้ยืมเงินเขาต้องการกำไร แล้วคุณต้องทำชิ้นงานที่จะสร้างผลตอบแทนให้เขาได้ เริ่มตั้งแต่การหาสปอนเซอร์ คุณต้องเรียนรู้ที่จะพรีเซนต์งานให้น่าเชื่อถือ สามารถโน้มน้าวได้ว่าทำไมเขาจะต้องลงทุนกับคุณ

 

บอกก่อนว่าผมไม่เคยเห็นด้วยกับคำพูดที่ว่าเราต้องทำเพลงให้ถูกใจตลาดนะครับ เราทำเพลงให้ถูกใจตัวเองก่อน แต่ทำอย่างไรให้ตลาดชอบในสิ่งที่เราถูกใจด้วย ไม่เหมือนกันนะครับ เราอาจจะตั้งต้นว่าฉันจะทำสิ่งนี้ด้วยตัวตน แต่จะใช้เครื่องมืออื่นๆ เพื่อให้ตลาดชอบ เช่น การเลือกเวลาพูดที่ถูกต้อง เลือกการพีอาร์ที่ถูกต้อง เลือกกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง รู้จักกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง

 

เพราะเมื่อไรก็ตามที่ทำเพลงแล้วบอกว่าอยากเป็นศิลปินอาชีพ นั่นคือคุณต้องเลี้ยงชีพได้ด้วยดนตรีของคุณ ต้องมีลูกค้า แล้วคุณรู้หรือยังว่าลูกค้าของคุณคือใคร ถ้าเขาไม่รู้ เขาจะไม่เข้าใจเหตุผล พอเพลงออกมาไม่สำเร็จก็มาโวยวายว่าคนไทยแม่งไม่ฟังเพลงกู คนฟังแม่งหูไม่ถึง ทั้งที่ประเทศนี้อยู่มาก่อนนานมาก คุณทำเพลงให้ตรงกับที่ตลาดต้องการไม่ได้แล้วก็โทษปี่โทษกลอง โทษว่าค่ายไม่สนับสนุนบ้าง โทษร้านที่จ้างบ้าง แต่ไม่เคยดูตัวเอง ถ้าคุณเข้าใจธุรกิจ เข้าใจว่าทุกอย่างมีเหตุผล จะเข้าใจว่าดนตรีเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมมนุษย์

 

ย้อนไปยุคก่อน The Beatles ก็เป็นผลผลิตจากวัฒนธรรมและการเมือง เนื้อเพลง สิ่งที่เล่ามันจับใจคน เพราะมันถูกจริตกับความคิดของคนในตอนนั้น อย่างที่ Paul McCartney and Wings ทำเพลงอย่าง Band on the Run ได้ เพราะฮิปปี้สปิริตมันเต็มไปหมด Nirvana มาเพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าในตอนนั้นสามารถผลิตเส้นใยมาทำเป็นเสื้อยืดได้ ทำให้แฟชั่นเปลี่ยน วงก็เปลี่ยนวิธีการแต่งตัว แล้วคนเริ่มเอียนกับดนตรีแบบประดิษฐ์ เริ่มต้องการอะไรที่ลดทอนลง ทุกอย่างมันสอดคล้องกันไปหมด ผมไม่เชื่อว่าดนตรีเกิดขึ้นแล้วทุกอย่างหมุนตาม แล้วดนตรีเป็นสิ่งหนึ่งที่บันทึกหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์ตอนนั้นเอาไว้

 

ถ้ามองเห็นความเชื่อมโยงเหล่านี้จะเข้าใจว่า ถ้าอยากทำอาชีพนักดนตรี คุณต้องวางตัวเองไว้ตรงไหน เห็นทุกอย่างในทุกมิติของวงการดนตรีจริงๆ หรือยัง ผมไม่ว่านะครับถ้าเขายืนยันว่าจะทำเพลงในแบบนั้นๆ ผมแค่จะบอกว่าถ้าทำแบบนี้ ตลาดของคุณจะอยู่ประมาณนี้ โอเคไหม ถ้าเขาโอเค ผมก็ไม่มีปัญหา เพียงแต่ผมไม่อยากให้เขาโทษปี่โทษกลองเท่านั้นเอง  

 

https://www.youtube.com/watch?v=KBX2dySWGew 

เพลง Band on the Run ของ Paul McCartney and Wings

 

 

ดนตรีคือเครื่องมือบันทึกประวัติศาสตร์ คุณคาดหวังให้ศิลปินใน Gene Lab บันทึกอะไรเอาไว้

ทุกอย่างที่เขาทำมันจะบันทึกด้วยตัวเองอยู่แล้ว สิ่งที่เขาทำจะสะท้อนวัฒนธรรมของคนไทยตอนนี้ ช่วงวัยของเขา เทรนด์ในการฟังเพลง วัยรุ่นไทยรู้สึกอย่างไร แต่งตัวแบบไหน มีความต้องการแบบไหน อย่างที่บอกว่าดนตรีคือสิ่งสะท้อนมาจากความคิดของมนุษย์ ความคิดมนุษย์ก็สะท้อนจากบริบทของสังคม เพราะฉะนั้นผมไม่ได้อยากให้เขาบันทึกอะไร ผมแค่อยากให้เขาแสดงสิ่งที่เขาเป็นออกมา หรือแม้กระทั่งสิ่งที่เขาทำล้มเหลว นั่นก็คือการบันทึกประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง

 

ถ้าการทดลองนั้นล้มเหลวจริงๆ ในฐานะคนที่ดูแลพวกเขาขึ้นมา คุณจะรับผิดชอบกับความล้มเหลวนั้นอย่างไร

เราจะมาหาสาเหตุกันก่อนว่าล้มเหลวเพราะอะไร ตอนนั้นจะเกิดการเรียนรู้ เท่ากับว่าเราจะไม่ล้มเหลวมือเปล่า เพราะอย่างน้อยเขาจะได้ไม่ผิดซ้ำสอง คนที่น่ากลัวคือคนที่ผิดซ้ำรอยเดิมนะ ครั้งแรกใครก็ล้มเหลวได้ ต่อให้ผมมีประสบการณ์มากกว่าก็ไม่ได้แปลว่าผมทำถูก ผมอาจจะบอกบางคนที่เข้ามาว่าไม่เวิร์กหรอก แต่สุดท้ายมันเวิร์ก ผมก็ต้องเรียนรู้ว่า เออ มันมีทางไปของมัน เพราะฉะนั้นการทดลองใน Gene Lab จะล้มเหลวที่สุดก็ต่อเมื่อทุกคนที่ทำงานจบโปรเจกต์ออกไปแล้วไม่เกิดการเรียนรู้อะไรขึ้นเลย วันที่เข้ามามีเท่าไร ออกไปมีเท่าเดิม

 

ศิลปินใน Gene Lab จะต้องมียีนพิเศษแบบไหนอยู่ในตัว

เขาต้องมีอัตลักษณ์ ต้องมียีนที่กลายพันธุ์จากยีนอื่นประมาณหนึ่ง ไม่ใช่ยีนที่ถูกประดิษฐ์ซ้ำ ซึ่งเขาสามารถสร้างขึ้นมาได้จากเรียนรู้ผู้อื่น การสร้างตัวตนมันยากนะ เหมือนที่ได้ยินในวงการการศึกษาไทยที่บอกว่าเด็กเราเก่งขึ้น แต่มีตัวตนน้อยลง เพราะเด็กทุกคนทำตามแบบอย่างเดิมๆ เหมือนกัน เข้าใจว่าตัวเองกำลังเป็นปัจเจก การที่มีความเห็นอะไรก็ได้ แต่สุดท้ายคุณกำลังโดนสื่อชุดหนึ่งครอบความคิดแบบเดียวกันหมด เราเห็นทำตัวไม่ดี เข้าไปด่าว่าไอ้เหี้ย แล้วจบ แต่ไม่ได้ดูความคิดเห็นของคนอื่นเลย ตัดสินใจจากมุมของเรามากกว่าศึกษาความเห็นคนอื่น เพราะฉะนั้นการรู้ตัวคนอื่นน้อยเท่ากับว่าเราเห็นภาพสะท้อนน้อย เพราะสังคมคือกระจกสะท้อนภาพเรากลับมา

 

ประหลาดนะที่การรู้จักตัวเองที่ดีที่สุดคือการศึกษาผู้อื่น เพราะมองแต่มุมตัวเอง ทำให้เราอยู่ที่เดิม เห็นเท่าที่เห็น ความคิดจะไม่โดนแตกแขนงออกไป สมัยผมเรียนวาดรูปใหม่ๆ ก็ไม่มีอะไรหรอก นอกจากก๊อบปี้งานคนอื่น หัดวาดรูปเหมือนคนอื่นก่อน วาดไปวาดมา เมื่อเทคนิคของเราสมบูรณ์ เดี๋ยวเราก็คิดรูปแบบของเราก่อน ปิกัสโซกับแวน โก๊ะ ก็เริ่มจากวาดรูปเหมือน ก่อนที่รูปเหมือนจะกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่เป็นรูปแบบเฉพาะตัวของเขาเอง

 

 

ในยุคที่ทุกอย่างมีเรื่องราวของคนอื่นให้ศึกษาเต็มไปหมด อะไรคือตัวกรองที่ทำให้ศิลปินรุ่นใหม่รู้ว่าสิ่งไหนควรเอามาปรับใช้เพื่อสร้างยีนที่มีอัตลักษณ์ของตัวเองได้บ้าง

ตัวเขาเองล้วนๆ เลย อัตลักษณ์เกิดขึ้นจากประสบการณ์ การมองเห็น การสัมผัสจนเกิดการตกตะกอน สิ่งหนึ่งที่จะไม่มีทางได้ยินจากค่าย Gene Lab คือการขายฝัน ผมไม่ชอบคำนี้ มันดูโรแมนติกเกินไป ผมชอบคำว่าขอบเขตมากกว่า เรามาคุยกันเลยว่าขอบเขตของคุณอยู่ตรงไหน แล้วมาคิดกันว่าทำอย่างไรเราจะไปถึงขอบเขตนั้นร่วมกัน

 

ขอบเขตที่คุณต้องการไปให้ถึงในตอนนี้คืออะไร

สำหรับวง Cocktail คือข้ามจากจุดที่เรายืนอยู่ไปให้หมด ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นอดีตทันทีที่เราสำเร็จ เราจะทำอย่างไรไม่ให้ติดอยู่ในลูปตรงนี้ แล้วทะลุออกไปในจุดที่คนคิดว่าเราไม่มีทางไปได้ ทำอย่างไรที่จะไปยืนในจุดใหม่โดยที่ไม่เสียจุดยืนเก่า เป็นตัวเชื่อมของวัฒนธรรมทั้งกลุ่มคนฟังเพลงเก่าและใหม่เข้าไว้ด้วยกัน

 

ส่วนของ Gene Lab สิ่งที่มุ่งหวังคืออยากให้วงการดนตรีกลับมามีสีสันในแง่คุณค่าของดนตรีอีกครั้งหนึ่ง ไม่มีใครดังขึ้นมาเพราะดนตรีแท้ๆ มาพักหนึ่งแล้ว ลองคิดดูดีๆ มีน้อยมากเลยนะ ไม่มีใครดังเพราะการสร้างชิ้นงานดนตรีเพียวๆ แต่ทุกคนดังขึ้นเพราะรายการร้องเพลงที่ใส่หน้ากาก หรือดังขั้นเพราะมีข่าวฉาว ข่าวทะเลาะกับคนอื่นสักเรื่อง

 

ผมเคารพรายการ The Mask Singer นะครับ เพราะผมก็ได้จากเขามาเยอะ แต่ในมุมหนึ่งมันก็น่าคิดว่าหลายอย่างหายไป ผมโชคดีที่โตมาในยุคที่แค่ทำเพลงฮิตก็โตไปได้เรื่อยๆ แต่สมัยนี้ถ้าเกิดทำเพลงฮิตติดกัน 5 เพลงก็ไม่ดังขึ้นนะ มันอยู่ที่เดิมเลย แค่รักษาฐานเอาไว้ได้ แต่ขยายฐานไม่ไป

 

คุณค่าทางดนตรีแบบเดิมจะกลับมาได้จริงๆ ใช่ไหม ในยุคที่โลกและวงการดนตรีเปลี่ยนแปลงไปถึงขนาดนี้แล้ว

คุณค่าทางจิตวิญญาณยังเหมือนเดิมครับ แต่ก็ต้องมีคุณค่าบางอย่างที่เปลี่ยนไป เพราะสังคมตีค่าดนตรีไม่เหมือนเดิม ทุกวันนี้คนมองว่าดนตรีเป็นของฟรี แต่ผมยังอยากให้ดนตรีไม่ใช่ของถูกและมีค่าในตัวเอง ไม่เหมือนภาพยนตร์นะ ฮอลลีวูดกล้าลงทุนทีละ 200 ล้านเหรียญกับการทำหนัง แต่ไม่มีใครอยากลงทุนกับการทำเพลงแล้ว

 

 

Gene Lab จะกล้าลงทุนกับการทำเพลงให้ศิลปินมากขนาดไหน

ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะทำให้เราเชื่อได้มากแค่ไหน เขาต้องทำให้เราเชื่อ ถ้าผมเชื่อมาก ผมก็ลงทุนมาก สิ่งที่ทำให้ผมกล้าลงทุนก็คือคุณต้องมีความจริงใจในการทำงานแบบยุคก่อน คือมีความจริงใจต่อสิ่งที่จะเล่า การเล่าต้องคำนึงถึงบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปว่าทำอย่างไรให้จับใจคนฟัง

 

นอกจากนี้ยีนอีกตัวหนึ่งที่เขาควรมีคือการเปิดกว้างและกล้าพอที่จะเถียง เพราะผมอยากให้เขาฟังในสิ่งที่ผมรู้ และผมก็อยากฟังในสิ่งที่เขารู้เช่นกัน ถ้าเขาเป็นประเภทได้ครับพี่ ดีครับท่าน เราก็ลำบากใจ เพราะเราจะไม่รู้อะไรจากเขาเลย แล้วพวกได้ครับพี่ ดีครับท่าน เขาก็จะเหมือนกันหมด คือเขาจะด่าผมลับหลัง คุยตรงหน้าโอเค แต่ข้างหลังนั่นอีกเรื่องเลยนะ (หัวเราะ) และที่สำคัญ ผมสัญญาว่าทุกครั้งที่คุณถูกปฏิเสธเรื่องใดๆ ก็ตาม มันจะมาพร้อมเหตุผลในการปฏิเสธเสมอ และทุกครั้งที่ให้เหตุผล ผมสัญญาเป็นข้อที่สองว่าคุณมีสิทธิ์อุทธรณ์เหตุผลนั้นได้เสมอ และเราจะกลับมาคุยกันอีกรอบ

 

เป็นไปตามหลักกฎหมายที่คุณศึกษามาและเป็นอาจารย์สอนลูกศิษย์ในตอนนี้เลย

ผมชอบเรื่องนี้ที่สุดแล้ว เมื่อคุณถูกปฏิเสธ คุณต้องได้รับเหตุผลของการถูกปฏิเสธ และเมื่อคุณได้รับเหตุผลก็มีสิทธิ์โต้แย้งอีกครั้งหลังได้รับเหตุผล ไม่ใช่แค่เรื่องตรรกะของเรากับศิลปินนะ มันคือตรรกะในองค์กรและการทำงานของเราด้วย การทำงานระหว่างสายบังคับบัญชากันเองในทีมงานก็ต้องได้รับเหตุผล จะไม่มีการปฏิเสธแบบ ไม่เอาอะ แล้วลุกออกไปเลย ไม่มี

 

คุณมีวิธีจัดการกับความคิดสองฝั่งระหว่างนักกฎหมายที่ใช้เหตุและผลในการตัดสินใจ กับศิลปินที่ต้องใช้อารมณ์และความรู้สึกในการสร้างผลงาน

การทำเพลงใช้อารมณ์ แต่การทำธุรกิจดนตรีใช้เหตุและผลทั้งหมด และเราจะเอาโปรดักต์ที่ถูกสร้างด้วยอารมณ์ไปขายอย่างไร นั่นเป็นอีกเรื่องที่ผมต้องใช้สมองคนละซีก ผมถึงกลับมาที่เรื่องเดิมว่าเราไม่ได้สร้างเพลงด้วยเหตุผล ถ้าเราสร้างเพลงด้วยเหตุผล นั่นคือเรากำลังทำเพลงแบบที่เรารู้ว่าคนจะชอบอะไร เราเลยทำแบบที่เขาชอบ แต่ของเราคือเราจะทำแบบที่ชอบอย่างไรให้เขาชอบด้วย นั่นเป็นเรื่องของ post- production ไม่ใช่เรื่องของการสร้างเพลง

 

 

เท่าที่สังเกตมา คุณดูเป็นคนที่หาเหตุผลให้กับสิ่งต่างๆ ได้ทุกเรื่อง เคยมีเรื่องไหนบ้างไหมที่ยังไม่สามารถหาเหตุผลมารองรับได้จริงๆ

มีครับ แต่ผมก็จะยังไม่หยุดหา เพราะมันไม่มีอะไรที่ไม่มีเหตุ ทุกอย่างมันมีเหตุ มีทุกข์ ก็มีสมุทัยไม่ต่างกัน

 

ซึ่งเรื่องนั้นก็คือ…

ทำไมคนชอบฟัง ตราบธุลีดิน เวอร์ชันหน้ากากหอยนางรม (หัวเราะ) จริงๆ นะครับ ผมยังไม่รู้เลยว่าเพราะอะไร กำลังคิดอยู่ (หัวเราะ) ทำไมมันถึงเกิดเรื่องอะไรในชั่วข้ามคืนได้ขนาดนั้น 3 ล้านวิวใน 24 ชั่วโมงแรก สุดท้ายกลายเป็นติดเทรนด์ยูทูบทั่วโลก (ได้อันดับ 1 ในการจัดอันดับ YouTube Top 10 Trending Videos of 2017 ล่าสุดมียอดวิวสูงถึง 223 ล้านวิว)

 

มันพอรู้อยู่บ้าง เพราะส่วนหนึ่งคนไทยเล่นโซเชียลมีเดียเยอะพอที่จะมีอิทธิพลกับเทรนด์โลก แต่อะไรที่ทำให้เพลงมันไปถึงขนาดนั้นได้ล่ะ เพราะเราเก่งเหรอ ก็ไม่ใช่ ผมไม่อยากคิดอะไรที่ตื้นอย่างนั้น หรืออาจจะเพราะมันมีสูตรอะไรบางอย่างในเพลงนี้ ทำนอง เนื้อร้อง ความหมายของเพลงที่จับใจ บวกกับฟังง่ายพอดีใช่ไหมที่เอาเพลงสำเนียงภาษาเหนือมาร้องเป็นสำเนียงภาคกลาง แต่พวกนั้นมันเป็นแค่สมมติฐานขั้นต้น ซึ่งไม่น่าจะสรุปได้ง่ายขนาดนั้น เพราะฉะนั้นเรากำลังไขรหัสเพื่อหาสูตรสำเร็จของเพลงที่จะประสบความสำเร็จอยู่ ซึ่งหลายๆ อย่างเราจะทำมาทดลองเพื่อพิสูจน์สมมติฐานนั้นในค่าย Gene Lab ที่กำลังจะเกิดขึ้นมา

 

เพลง ตราบธุลีดิน เวอร์ชันหน้ากากหอยนางรม

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising