×

Transition Finance for Net Zero: การเงินกู้วิกฤตโลกร้อน (ตอนที่ 1)

15.11.2022
  • LOADING...

ก่อนที่ผมจะเขียนถึงบทบาทที่สำคัญของภาคการเงินในการกู้วิกฤตโลกร้อน ผมอยากชวนให้ทุกคนลองจินตนาการถึงโลกในยุค Net Zero ซึ่งเราต้องการให้เกิดขึ้นจริงภายในอีก 30 กว่าปีข้างหน้า 

 

เราขับรถยนต์ EV ออกจากคอนโด หรือนั่งรถเมล์หรือวินมอเตอร์ไซด์ที่วิ่งด้วยแบตเตอร์รี่ไฟฟ้า ไปห้างสรรพสินค้าแถวบ้าน ตัวอาคารของห้างสร้างด้วยคอนกรีตและเหล็กกล้าที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบคาร์บอนต่ำ เหมือนกับตัวอาคารของคอนโดที่เราอาศัยอยู่ เราเดินเพลิดเพลินตากแอร์ในห้างที่ใช้ระบบปรับอากาศที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นห้างที่ติดตั้งแผงโซลาร์พลังงานแสงอาทิตย์บนดาดฟ้าเต็มพื้นที่ มีระบบเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารที่ทันสมัย และกระแสไฟฟ้าทั้งหมดที่ห้างใช้มีต้นตอมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด ไม่ได้มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ไปซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต หยิบปลากระป๋องทุกแบรนด์ขึ้นมาดูบนฉลากจะมีตรา Net Zero รับรองว่ากระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานของสินค้าปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ปลาทุกตัวจับมาโดยเรือประมงที่ใช้พลังงานสะอาด ไม่ใช่เครื่องยนต์ดีเซลแบบทุกวันนี้ และโรงงานแปรรูปปลาก็ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่ปล่อยคาร์บอน แถมกระป๋องยังผลิตจากอลูมิเนียมรีไซเคิล 100% จากนั้นไปซื้อน้ำมันพืชก็มีตรารับรองมาตรฐานว่ามาจากการเพาะปลูกถั่วเหลืองหรือปาล์มน้ำมันแบบยั่งยืน ไร้การตัดไม้ทำลายป่า ก่อนไปซื้อข้าวสารที่มาจากการทำนาแบบไร้ก๊าซมีเทน  

 

ก่อนกลับเดินไปดูสินค้าเนื้อวัวปรากฏว่ามีตัวเลือกน้อยมากและมีราคาแพง เพราะการเลี้ยงวัวปล่อยก๊าซมีเทนสูงจากการผายลมของวัว รัฐเลยเก็บภาษีคาร์บอนในอัตราที่สูง เลยเปลี่ยนใจเดินไปซื้อสินค้าโปรตีนจากพืช (plant based protein) ที่อร่อยและมีให้เลือกหลากหลายแทน 

 

ตอนชำระเงินด้วยแอพลิเคชั่นมือถือ ใบเสร็จบนหน้าจอนอกจากจะบอกยอดเงินที่ต้องจ่ายแล้ว ยังมีตัวเลข carbon footprint ของสินค้าทั้งหมดที่เราซื้อไปด้วย ซึ่งน่าจะเป็นศูนย์หรือเกือบจะศูนย์ 

 

หลังจากกลับบ้านมาพักสักหน่อย ตอนเย็นๆ เราออกเดินทางด้วยแท็กซี่ EV ไปสนามบิน ขึ้นเครื่องบินไปเที่ยวต่างประเทศกับครอบครัว แต่ที่พิเศษคือเครื่องบินโดยสารของเราเป็น zero-carbon flight ไม่ได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลเหมือนทุกวันนี้ แต่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน 

 

เมื่อเราเริ่ม “เห็นภาพ” ของโลกยุค Net Zero เราจะเข้าใจว่าการเปลี่ยนผ่านจากโลกในวันนี้ไปสู่โลกในอนาคตที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ “ทั้งระบบ” ครั้งยิ่งใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีขอบเขตและ scale ที่มากกว่าการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทนหรือการเปลี่ยนมาใช้รถ EV เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ทุกภาคส่วนต้อง “ปฏิวัติ” กระบวนการและเทคโนโลยีการผลิตสินค้าและบริการแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทาน ทั้งภาคพลังงาน ภาคการขนส่ง ภาคเกษตรและประมง ภาคอุตสาหกรรม 

 

ผู้ประกอบการธุรกิจ เกษตรกร ผู้บริโภค และหน่วยงานรัฐ ไม่สามารถทำอะไรแบบเดิมๆ หรือ business as usual ได้อีกต่อไป 

 

ถ้าผู้ประกอบการรายใดยังรีรอชักช้า ไม่เร่งลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ธุรกิจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เพราะจะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนที่สูงจากมาตรการของรัฐทั้งในไทยและต่างประเทศ ลูกค้าจะไม่ยอมรับในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใส่ใจความยั่งยืน หันไปซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทอื่นที่เป็น low carbon แทน นักลงทุนและเจ้าหนี้อาจถอนทุนออกหรือคิดดอกเบี้ยแพง กลายเป็นต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นสำหรับธุรกิจ แถมยังสุ่มเสี่ยงที่จะเสี่ยมเสียชื่อเสียงของบริษัทอีกด้วย (reputational risk) 

 

ธุรกิจจึงต้องระลึกว่า การดำเนินงานด้าน climate นอกจากจะช่วยปกป้องโลกและอนาคตของลูกหลานแล้ว ยังเป็นการสร้าง competitiveness และลดความเสี่ยงของธุรกิจเองด้วย

 

การเปลี่ยนผ่านสู่โลกใหม่ที่ไร้คาร์บอน หรือ Net Zero transition เป็นโจทย์ที่สำคัญและ “หิน” ที่สุดของมนุษยชาติ 

 

มันยากเพราะเราต้องแสวงหา solutions โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกของทุกภาคส่วน โดยโลกยังต้องการเม็ดเงินลงทุนอีกมากในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการลดก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมต่างๆ และเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน ซึ่งเทคโนโลยีจำนวนมากยังอยู่ในระยะเริ่มแรก (early-stage technology) ยังมีต้นทุนและความไม่แน่นอนสูงในเชิงผลตอบแทนการลงทุน ยังไม่สามารถ scale up เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ได้

 

มันยากเพราะว่าเราต้องทำงานแข่งกับเวลาที่มีจำกัด โดยโลกต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากประมาณ 50,000 ล้านตันต่อปีในปัจจุบันให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (Net Zero by 2050) หรืออาจจะช้ากว่านั้นบ้างสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีนและอินโดนีเซียตั้งเป้าให้บรรลุ Net Zero ในปี 2060 ไทยในปี 2065 อินเดียในปี 2070

 

เมื่อพูดถึงปี 2050 ฟังดูอาจทำให้เราชะล่าใจว่า ยังมีเวลาอีกตั้งนาน ร่วม 3 ทศวรรษ แต่ข้อเท็จจริงจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่า ถ้าเราจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 ได้ โลกจะต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 45% ภายในปี 2030 หรืออีกแค่ 8 ปีข้างหน้า (ประเทศไทยตั้งเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ที่ 40% ภายในปี 2030) 

 

ปี 2030 จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในเส้นทางสู่ Net Zero by 2050 หากเราหวังจะวิ่งให้ถึงเส้นชัย Net Zero ได้ทันเวลาในอีก 30 กว่าปีข้างหน้า เราต้องเร่งฝีเท้าเพื่อ sprint ในช่วง 8 ปีข้างหน้า หากพลาดเป้าหมายระยะสั้นในปี 2030 เราจะล้มเหลวในการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ในช่วงกลางศตวรรษ 

 

การกู้วิกฤตโลกร้อนจึงต้องอาศัยม้าตีนต้นที่ต้องออกตัวแรงและเร็วตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ใช่รอเป็นม้าตีนปลาย จะสายเกินแก้

 

สิ่งที่น่ากังวลคือ ปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกยังคงเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลง และ “สัญญา” ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ไว้ในการลดการปล่อยก๊าซ มันยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายตามความตกลงปารีสที่ทั่วโลกยอมรับ

 

เกริ่นถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าภาคการเงินจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero หรือ Net Zero transition ได้อย่างไร

 

ผมต้องเน้นย้ำว่า Net Zero transition จะไม่มีทางสำเร็จได้ หากภาคการเงินไม่ร่วมเข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการระดมจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเศรษฐกิจจริงทั้งระบบ

 

ที่ผ่านมา สถาบันการเงินอาจจะคิดถึงเรื่อง climate ในมิติความเสี่ยงเป็นหลัก กล่าวคือ สถาบันการเงินจะประเมินว่าลูกค้าธุรกิจในพอร์ตสินเชื่อหรือพอร์ตการลงทุนของตน ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะโลกร้อนในระดับไหน ทั้งความเสี่ยงต่อธุรกิจที่เกิดจากภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้น (physical risks) และความเสี่ยงที่เกิดจากนโยบายของรัฐ จากพฤติกรรมของตลาดและผู้บริโภค จากเทคโนโลยีที่จะมารองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero (transition risks) 

 

ที่ผ่านมา สถาบันการเงินอาจจะทำเรื่องการเงินสีเขียว (green finance) หรือ ESG ในลักษณะที่เป็น “อาหารว่าง” หรือ “น้ำจิ้ม” เช่น มีการปล่อยสินเชื่อในโครงการพลังงานสะอาดหรือรถยนต์ EV แต่การดำเนินงานด้านนี้ แม้จะเป็นเรื่องดี แต่มันไม่เพียงพอในการกู้วิกฤตโลกร้อน เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียวเหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ มูลค่าไม่ถึง 10% ของระบบเศรษฐกิจโลกเท่านั้น

 

ภาคการเงินต้องมองบทบาทในเรื่อง climate ให้กว้างกว่าเดิม ไม่จำกัดแค่ green finance หรือ ESG สถาบันการเงินต้องหันมาให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ “สีน้ำตาล” ที่เป็นต้นตอหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และภาคธุรกิจที่การลดก๊าซเรือนกระจกยังทำได้ยากและมีต้นทุนสูง เพราะเทคโนโลยียังไม่ได้รับการพัฒนาและขยายผลเชิงพาณิชย์ได้ในวงกว้าง (hard-to-abate sectors)

 

เราต้องพิจารณาดูว่าเราจะใช้ “พลัง” ของภาคการเงินในการผลักดันขับเคลื่อน Net Zero transition ในภาคเศรษฐกิจได้อย่างไร เพื่อเร่งส่งเสริมการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่โลกไร้คาร์บอนหรือ transition finance เร่งระดมและจัดสรรเงินทุนให้ภาคธุรกิจ ผ่านสินเชื่อ การลงทุน และ solutions ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจนำไปขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

 

Transition finance for net zero จะต้องกลายเป็น “อาหารจานหลัก” ที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์และการดำเนินงานของสถาบันการเงิน 

 

การเปลี่ยนผ่านสู่โลกยุค Net Zero จะต้องใช้เงินทุนมหาศาล McKinsey ประเมินว่าโลกต้องใช้เม็ดเงินปีละ 9.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero แต่ปัจจุบันยังขาดเม็ดเงินตรงส่วนนี้อยู่ปีละกว่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 35%

 

Transition finance จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ ภาคการเงิน ทั้งระบบธนาคาร ตลาดเงินตลาดทุน จะต้องเร่งสร้างกลไกและระบบนิเวศน์ใหม่ในด้าน transition finance เพื่อกระตุ้นการจัดสรรเงินทุนไปช่วยให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ ไปลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงหรือเป็นศูนย์ ลงทุนในระบบการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโรงงานและอาคารสำนักงาน ลงทุนในการเปลี่ยนผ่านจากโรงไฟฟ้าถ่านหินไปสู่โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด

 

ข่าวดีคือ กระแสโลกกำลังผลักดันและกดดันให้ภาคการเงินเร่งขับเคลื่อน transition finance อย่างเข้มข้น องค์กรและเครือข่ายระหว่างประเทศ อาทิ G20 OECD และ Network for Greening the Financial System (NGFS) กำลังทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง 

 

GFANZ หรือ Glasgow Financial Alliance for Net Zero เป็นองค์กรเครือข่ายสถาบันการเงินระดับโลกที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดในเรื่อง Net Zero โดยสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก GFANZ มากกว่า 550 องค์กรได้ร่วมกัน commit ต่อเป้าหมาย Net Zero by 2050 และในช่วงกลางปีที่ผ่าน GFANZ ได้จัดตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียขึ้นที่สิงคโปร์ เพื่อที่จะขยายฐานสมาชิกและขับเคลื่อนการทำงานด้าน transition finance ในภูมิภาค 

 

GFANZ กำลังเร่งทำงานเพื่อให้สถาบันการเงินสามารถขับเคลื่อน transition finance ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อดึงศักยภาพของภาคการเงินมาช่วยผลักดันให้เกิด impact ในภาคเศรษฐกิจจริง

 

ผมจะเขียนถึงเรื่องนี้ในตอนต่อไป แต่ขอเกริ่นไว้สั้นๆ ว่า ธนาคารจำเป็นต้องขับเคลื่อนงานอย่างน้อย 3 ด้าน 

 

หนึ่ง ตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับ Net Zero โดยอิงกับหลักวิทยาศาสตร์ สอง ธนาคารต้องจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านหรือ “Net Zero transition plan” ของตัวเอง ให้สอดคล้องกับ roadmap การลดก๊าซเรือนกระจกของโลกและประเทศไทย สาม ธนาคารต้องดำเนินกลยุทธ์ client stewardship ทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้า เพื่อให้ธุรกิจแต่ละรายตั้งเป้าหมายการลดก๊าซ จัดทำและขับเคลื่อนแผน Net Zero transition plan ของธุรกิจเอง 

 

บทบาทของภาคการเงินในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจจริงสู่ Net Zero เป็นภารกิจที่ใหญ่หลวง เร่งด่วน และท้าทาย อย่าลืมว่า deadline ของการกู้วิกฤตโลกร้อนไม่ใช่ 2050 แต่คือ 2030 หรืออีกเพียง 8 ปีเท่านั้น โลกร้อนไม่ใช่ปัญหาระยะยาวอีกต่อไป เราไม่มีเวลาที่จะรีรอหรือทำงานแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” ได้ แต่เราต้องคิดว่าวิกฤตโลกร้อนคือปัญหาเร่งด่วน ต้องใช้ mindset เดียวกับตอนที่เราเคยต้องเร่งระดมพลังจากทุกภาคส่วนเพื่อรับมือกับโควิดในเวลาเพียงปีสองปี

 

สิ่งที่โลกต้องการตอนนี้คือ climate leadership จากทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคการเงิน เราต้องการผู้นำที่พร้อมทุ่มสุดตัวหรือ “go all in” ผู้นำที่จะคิดที่จะทำอะไรใหม่ๆ และทำอะไรยากๆ ที่อาจจะดูเกินขอบเขตความรับผิดชอบและเกินขีดความสามารถของตัวเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำเพื่อโลกแล้ว ยังเป็นผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว 

 

ในตอนหน้า เราจะมาดูกันว่า ภาคการเงินจะต้องทำอย่างไร เพื่อปลดปล่อยพลังของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้ภาคเศรษฐกิจจริงเดินหน้าสู่ Net Zero อย่างเต็มรูปแบบ และควรจัดการกับอุปสรรคต่างๆ ในการขับเคลื่อน transition finance ได้อย่างไร

 

*บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล

 

References:

  • GFANZ publications: 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X