การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ประจำปี 2022 กำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นเวทีการประชุมที่มีความสำคัญระดับโลก
APEC มีสมาชิกทั้งสิ้น 21 เขตเศรษฐกิจ (19 ประเทศ 2 เขตเศรษฐกิจ) ซึ่งล้วนเป็นประเทศมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งสิ้น อีกทั้งมีมูลค่าการค้ารวมกันสูง คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก มีประชากรรวมกันราว 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท หรือเกินครึ่งหนึ่งของ GDP โลก
การประชุม APEC เริ่มต้นจัดครั้งแรกในปี 1989 มีเจ้าภาพคือ ประเทศออสเตรเลีย จากนั้นก็จัดต่อเนื่องในทุกปี และสลับหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ขณะที่ประเทศไทยเคยได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพมาแล้ว 2 ครั้ง คือในปี 1992 ในรัฐบาลของ อานันท์ ปันยารชุน นับเป็นการประชุมครั้งที่ 4 และอีกครั้งในปี 2003 ในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 15
ในปีนี้ 2022 หรือครั้งที่ 29 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอีกครั้ง ภายใต้แนวคิด Open. Connect. Balance ‘เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล’ ซึ่งอยู่ในช่วงปลายรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
THE STANDARD ชวนผู้อ่านย้อนประวัติศาสตร์ไปในปี 2003 เมื่อ 19 ปีที่แล้ว ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ไปสัมผัสความยิ่งใหญ่ของการจัดประชุมครั้งนั้น ที่มีผลลัพธ์สำคัญจากการประชุมคือ การสนับสนุนให้เกิดความคืบหน้าในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา ภายใต้องค์การการค้าโลก และการต่อต้านการก่อการร้ายที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
APEC 2003 ผู้นำมาครบ
การประชุมปี 2003 ครั้งที่ 15 มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จัดการประชุมในธีม ‘A World of Differences: Partnership for the Future’ หรือ โลกแห่งความแตกต่าง: หุ้นส่วนเพื่ออนาคต’ โดยรัฐบาลเห็นว่า การประชุม APEC จะมีบทบาทมากขึ้นในการที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสมาชิก
การประชุมครั้งนั้น แม้จะเป็นการจัดเวทีใหญ่ระดับนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง และการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส แต่ได้รับการตอบรับจากผู้นำเข้าร่วมการประชุมทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก
- จอห์น โฮเวิร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย
- สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ประมุขแห่งบรูไนดารุสซาลาม
- ฌ็อง เครเตียง นายกรัฐมนตรีแคนาดา
- ริคาร์โด ลากอส ประธานาธิบดีชิลี
- หูจิ่นเทา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน
- ตุง ชีฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฮ่องกง
- เมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย
- จุนอิจิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
- โนห์มูฮยอน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้
- ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
- บิเซนเต ฟ็อกซ์ เคซาดา ประธานาธิบดีเม็กซิโก
- เฮเลน คลาร์ก นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์
- เซอร์ ไมเคิล ที. โซมาเร นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี
- ดร.อเลฮานโดร โตเลโด มันริเก้ ประธานาธิบดีเปรู
- กลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
- วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย
- โก๊ะจ๊กตง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์
- ดร.หยวน ที.ลี ผู้แทนผู้นำเศรษฐกิจไต้หวัน
- จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
- ฟาน วัน ขาย นายกรัฐมนตรีเวียดนาม
การประชุมครั้งนั้นส่งผลให้ประเทศไทยเป็นที่จับตามองในระดับนานาชาติ จากการเป็นประเทศเจ้าภาพ ที่สามารถพาผู้นำประเทศมหาอำนาจ และประเทศเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่มาอยู่บนเวทีประชุมเดียวกันได้สำเร็จ
ทักษิณ ชินวัตร กล่าวในรายการ ‘นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน’ วันที่ 25 ตุลาคม 2546 ตอนหนึ่งว่า “ความสำคัญของการประชุม APEC คือการมีประเทศสมาชิกที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรวมกันกว่า 50% ของโลก หากพูดอะไรออกไปจะมีน้ำหนักและมีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกมาก จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องรักษาฐานตรงนี้ เพราะการส่งออกทำให้เกิดการจ้างงาน เกษตรกรมีรายได้ ทำให้สินค้าไทยขายได้ มีเงินตราต่างประเทศเข้ามา และสามารถใช้หนี้ได้ ท้ายที่สุดผลที่ออกมา ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก APEC ยังทึ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้นในไทย เพราะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกในทางบวกมาก”
พลิกโฉมการประชุม APEC
การประชุม APEC ในครั้งนั้น นับเป็นการประชุมที่พลิกโฉมการประชุม APEC อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะการเลือกสถานที่ในการประชุมเป็นสถานที่มีความโดดเด่น ที่มีสถาปัตยกรรมและทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทั้งตึกไทยคู่ฟ้าและตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
อีกทั้งยังได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคม ในการจัดประชุมวันสุดท้าย ซึ่งเป็นสถานที่ที่เคยประกอบรัฐพิธีสำคัญตลอดมา ส่วนรูปแบบการประชุม เป็นการจัดประชุมที่นั่งเป็นรูปเกือกม้า ไม่มีโต๊ะ พูดคุยกันในวงโซฟาในรูปแบบการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อสร้างบรรยากาศให้มีความเป็นกันเองมากยิ่งขึ้น
ช่วงค่ำวันที่ 20 ตุลาคม 2546 กองทัพเรือเป็นเจ้าภาพในการจัดเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ โดยเลือกกรมสารวัตรทหารเรือ ซึ่งเป็นสถานที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมมีการพาชมการแสดงแสง สี เสียง การจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค และจัดเตรียมอาหารทุกมื้อเป็นอาหารไทยล้วน
นอกจากนี้ มีการจัดสรรผ้าไทยให้แต่ละผู้นำได้สวมใส่ โดยเฉพาะในการประชุมวันสุดท้ายที่มีการถ่ายรูปหมู่ ผู้นำทั้ง 21 สวมเสื้อผ้าไทย ยืนยิ้มให้กล้องที่มีเบื้องหลังคือพระที่นั่งอนันตสมาคม
ขณะที่การเลี้ยงต้อนรับผู้นำแขกผู้มาเยือน ได้รับความพอใจอย่างมากเช่นเดียวกัน อีกทั้งมีการเตรียมความพร้อมในพิธีต้อนรับและความปลอดภัยอย่างดี
ขณะที่วาระการประชุม จะเน้นในเรื่องของการค้าขายกับตลาดสากล การมีส่วนร่วมเป็นผู้กำหนดราคาข้าวในตลาดโลก เพิ่มอำนาจการต่อรองเศรษฐกิจการค้า และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งหลังจากที่จัดงานประชุมขึ้นในช่วงแรกนั้น ประเทศไทยได้รับผลดีในเรื่องของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
หลังจากการประชุม APEC ได้สิ้นสุดลง ประเทศไทยได้มีข้อตกลงร่วมกับบางเขตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสมาชิก APEC ทันที เช่น ข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศจีน หรือความตกลงสภาอุตสาหกรรมระหว่างไทยและรัสเซีย เป็นต้น
ที่ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นพื้นที่การประชุมในครั้งสุดท้าย ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้แถลงปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนเพื่ออนาคต โดยมีผู้นำเศรษฐกิจอีก 21 เขตร่วมเป็นพยาน
(ด้านหน้า จากซ้าย) ดร.อเลฮานโดร โตเลโด มันริเก้ ประธานาธิบดีเปรู, ฟาน วัน ขาย นายกรัฐมนตรีเวียดนาม, โนห์มูฮยอน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้, ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย, กลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์, ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย, เมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย, เฮเลน คลาร์ก นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์, สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ประมุขแห่งบรูไนดารุสซาลาม, จุนอิจิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น, เซอร์ ไมเคิล ที. โซมาเร นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี
แถวหลัง (จากซ้าย) วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย, หูจิ่นเทา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน, จอห์น โฮเวิร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย, จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา, บิเซนเต ฟ็อกซ์ เคซาดา ประธานาธิบดีเม็กซิโก, โก๊ะจ๊กตง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์, ฌ็อง เครเตียง นายกรัฐมนตรีแคนาดา, ดร.หยวน ที.ลี ผู้แทนผู้นำเศรษฐกิจตัวแทนจากไต้หวัน, ริคาร์โด ลากอส ประธานาธิบดีชิลี และ ตุง ชีฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฮ่องกง
ภาพ: Tomohisa Kato / AFP
AFP รหัส 000_HKG2003102105524
ก่อนการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2546 ที่ท้องสนามหลวง ได้มีการปรับปรุงปลูกหญ้าใหม่ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้นำระดับโลกที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนั้น
ภาพ: Pornchai Kittiwongsakul / AFP
AFP: รหัส 000_HKG2003101397244
ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ระหว่างกล่าวคำปราศรัยเปิดการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของ APEC หรือ ABAC (APEC Business Advisory Council) ในวันที่ 18 ตุลาคม 2546 โดยทักษิณกล่าวสุนทรพจน์ เรียกร้องให้ประชาคมธุรกิจ APEC มีบทบาทในการผลักดันการเปิดเสรีทางการค้า หลังจากการเจรจาการค้าโลกที่ล่มสลาย
ภาพ: Saeed Khan / AFP
AFP รหัส 000_HKG2003101802261
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศขณะนั้น) และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินให้การต้อนรับ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ขณะเดินทางถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2546 ในโอกาสเยือนไทย และเข้าร่วมการประชุม APEC
ภาพ: Paul J.Richards / AFP
AFP รหัส 000_WAS2003101817197
จอห์น โฮเวิร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เดินทางไปออกกำลังกายยามเช้าที่สวนลุมพินี โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแล มีประชาชนติดตามดู เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2546 ก่อนเข้าร่วมการประชุม APEC
ภาพ: Pornchai Kittiwongsakul / AFP
AFP รหัส 000_HKG2003101903195
กลุ่มมวลชนเดินขบวนใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อประท้วงการปรากฏตัวของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในการประชุม APEC เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2546 โดยมีตำรวจรักษาความปลอดภัยนำตัวผู้ชุมนุมออกไปจากพื้นที่
ภาพ: Luis Enrique Ascui / Getty Images
หูจิ่นเทา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา พบปะและจับมือกันระหว่างการประชุมทวิภาคี ในวันที่ 19 ตุลาคม 2546 ก่อนเริ่มต้นประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ในวันถัดมา
ภาพ: Paul J.Richards / AFP
AFP รหัส 000_HKG2003101903572
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศขณะนั้น) และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำต้อนรับผู้นำและคู่สมรสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะ ได้แก่ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา, หูจิ่นเทา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย อย่างเป็นทางการ ในโอกาสที่เข้าร่วมการประชุม APEC เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2546 ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
ภาพ: Paul J. Richards / AFP
AFP รหัส 000_HKG2003101903787
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในงานเลี้ยงอาหารค่ำ ต้อนรับการมาเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2546 ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
ภาพ: Paul J. Richards / AFP
AFP รหัส 000_HKG2003101903856
ผู้นำเศรษฐกิจทั้ง 21 ประเทศ เดินทางไปประชุมวันแรกที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล การประชุมสุดยอด APEC ครั้งนี้ ทักษิณเป็นผู้ริเริ่มให้มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อสร้างบรรยากาศให้มีความเป็นกันเองมากยิ่งขึ้น โดยได้รับเสียงชื่นชมจากผู้นำเขตเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
ภาพ: Luis Enrique Ascui / Getty images
ในค่ำคืนวันที่ 20 ตุลาคม 2546 รัฐบาลไทยได้จัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ ที่เป็นราชประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งเดิมทีเป็นธรรมเนียมของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ให้ผู้นำเศรษฐกิจได้รับชม โดยจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคใหญ่ที่ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ
นอกจากนี้ยังมีเรือรูปสัตว์อีก 12 ลำ เรือดั้งและเรือแซงอีก 36 ลำ รวมเรือพระราชพิธี 50 ลำ ความยาวเรือประมาณ 1,200 เมตร ใช้กำลังพลทั้งสิ้น 2,082 คน เวลาในการแล่นแผ่นบริเวณที่รับชม 20-25 นาที โดยในระหว่างการแสดงจะมีข้อมูลต่างๆ ของประเภทเรือ และมีคำบรรยายในภาษาต่างๆ พร้อมทั้งการแสดงแสง สี เสียงอย่างเต็มรูปแบบ
ภาพ: Luis Enrique Ascui / Getty Images
ที่ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นพื้นที่การประชุมในครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2546 ผู้นำเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขต ได้สวมใส่ผ้าไทย และร่วมถ่ายรูปหมู่ ยิ้มให้กล้อง ปิดฉากการประชุม APEC 2003
ภาพ: STR / AFP
AFP รหัส 000_HKG2003102105143
ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังอ่านคำปราศรัย และ วลาดิเมียร์ ปูติน กระซิบด้านข้างให้รอการแปล ระหว่างการแถลงข่าว เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2546
ภาพ: Mladen Antonov / AFP
AFP รหัส 000_PAR2003102105708
ตัวอย่างอาหารที่ วิชิต มุกุระ เชฟชาวไทย ได้โชว์ผลงานการสร้างสรรค์ของเขาที่จะเสิร์ฟในงานกาล่าดินเนอร์แก่สื่อมวลชน เพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้นำเศรษฐกิจทั้ง 21 เขต
ภาพ: Toshifumi Kitamura / AFP
AFP รหัส 000_HKG2003101600603
หน่วยคอมมานโดพิเศษ นั่งเฮลิคอปเตอร์คุ้มกันขบวนรถ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ หลังสิ้นสุดการประชุมสุดยอด APEC ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2546 ขณะที่ผู้นำสหรัฐฯ ออกเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ หลังจากมีกลุ่มมวลชนแสดงพลังสนับสนุนสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และแนวทางแก้ไขวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
ภาพ: Pornchai Kittiwongsakul / AFP