บีเจซี (BJC) กางแผนเขย่าค้าปลีก เตรียมขยายสาขาบิ๊กซี พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘Big C PLUS’ มุ่งสู่ Omni-Channel Commerce เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน พร้อมมองหาน่านน้ำใหม่เข้าลงทุนกระจายความเสี่ยงในอนาคต
อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี เปิดเผยว่า ทิศทางในอนาคตบีเจซียังมีแผนเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก ทั้งในด้านการขยายสาขา ควบคู่กับการรีโนเวตสาขาเดิมให้ทันสมัยมากขึ้น ที่สำคัญต้องใช้เงินลงทุนอย่างประหยัดมากขึ้น พร้อมกับการมองหาน่านน้ำใหม่ๆ เพื่อขยายการลงทุน ซึ่งถือเป็นการกระจายความเสี่ยงในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- กางแผน 5 ปีของ ‘BJC-Big C’ เทงบลงทุน 6 หมื่นล้านบาท หวังปั้นยอดขายให้ทะลุ 2.7 แสนล้านบาท
- เดี๋ยว 7-Eleven เหงา! Big C ชิมลาง เปิด ‘Mini Big C สาขาตลาดเดโป’ ร้านสะดวกซื้อสาขาแรกในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
- เจ้าสัวเจริญเล็งแยก ‘Big C’ ออกจาก BJC มาเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง หวังระดมทุน 1.9 หมื่นล้านบาท คาดจะ IPO ปีหน้า
สำหรับแผนการขยายสาขาบิ๊กซีภายในปี 2566 เตรียมเปิดสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มอีก 2-3 สาขา แบ่งเป็นโมเดลซูเปอร์มาร์เก็ตและฟู้ดส์ เพลส รวมถึงมินิบิ๊กซี 200-300 สาขา เน้นเข้าถึงแหล่งชุมชน ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยปัจจุบันมี 1,456 สาขา และพบว่าร้านโมเดลใหญ่มีความถี่ของการเข้ามาใช้บริการ 3 ครั้งต่อเดือนต่อคน ขณะที่ร้านเล็กเข้ามาใช้บริการ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มียอดค่าใช้จ่าย 2,000 บาทต่อบิล
วานนี้ (8 พฤศจิกายน) Bloomberg รายงานโดยอ้างอิงคำพูดของแหล่งข่าวที่ระบุว่า บิ๊กซีซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้บีเจซีของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี กำลังถูกวางแผนแยกออกมาเพื่อกลับสู่ตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง โดยหวังการระดมทุน 500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.9 หมื่นล้านบาท
“ผมขอยังไม่คุยเรื่องนี้ตอนนี้” อัศวิน ผู้เป็นลูกเขยของเจ้าสัวเจริญ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันนี้ (9 พฤศจิกายน) ด้านบีเจซีได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า “ยังไม่มีข้อสรุป ณ ขณะนี้ เมื่อมีความคืบหน้าที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าวจะแจ้งพร้อมรายละเอียดต่อไป”
ขณะเดียวกันธุรกิจค้าปลีกยังมุ่งให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ ล่าสุดได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘Big C PLUS’ เพื่อยกระดับการช้อปปิ้งแบบไร้รอยต่อ ชูจุดแข็งการใช้งานที่สะดวกมากขึ้น โดยเชื่อมระหว่างออฟไลน์มาอยู่บนออนไลน์ มุ่งสู่การเป็น Omni-Channel Commerce อย่างเต็มรูปแบบ โดยภายในปี 2566 ตั้งเป้ายอดดาวน์โหลดไว้ที่ 5 ล้านราย
ด้าน ดร.ปิยะวรรณ ปิยะพงษ์ รองประธานบริหารเจ้าหน้าที่สายธุรกิจดิจิทัล บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ แม้โควิดคลี่คลายลงจะแผ่วลงเล็กน้อย แต่ยังมีอัตราการซื้อต่อเนื่อง
ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาบิ๊กซีได้เริ่มสร้างแอปมาตั้งแต่ปี 2562 แต่ระบบยังไม่เสถียรมากพอ แต่มีฐานสมาชิกกว่าถึง 17 ล้านคน ล่าสุดจึงได้ยกเครื่องพัฒนาแอปโฉมใหม่ มุ่งสู่การเป็น Digital Commerce Platform โดยใช้เวลากว่า 1 ปีเต็ม ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มฟังก์ชันการสั่งซื้อสินค้า และต่อจากนี้วางงบลงทุน 100 ล้านบาทต่อปี เพื่อใช้พัฒนาบริการเสริมที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย โดยสเต็ปถัดไปเตรียมให้บริการด้านการจ่ายบิล ค่าน้ำ ค่าไฟ และเติมเงิน ให้ใช้งานสะดวกและครบวงจร
รวมถึงการเปิดโอกาสให้แบรนด์สินค้ากว่า 60 แบรนด์เข้ามาอยู่ในแอป เชื่อมโยงร้านค้าในบิ๊กซีทั้ง 1,500 สาขา ปัจจุบันกลุ่มสินค้าที่เติบโตสูงสุด ได้แก่ กลุ่มแม่และเด็กยาเวชภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ของใช้ส่วนตัว และอาหาร และภายในปี 2567 มีแผนเพิ่มบริการที่หลากหลายมากขึ้น ด้วยการนำธุรกิจสุขภาพเข้ามาให้บริการในแอป เช่น การเปิดให้คำปรึกษาพร้อมจ่ายยา
ทั้งนี้ ฐานข้อมูลสมาชิกในแอปจะนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำมาทำการตลาด จัดโปรโมชันให้ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล ปัจจุบัน Big C PLUS มียอดดาวน์โหลด 3 ล้านราย โดยปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 5 ล้านราย และจะช่วยผลักดันยอดขายออนไลน์ของบิ๊กซีโตขึ้น จากเดิมที่มีสัดส่วนไม่ถึง 10% ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการเติบโตดับเบิลดิจิต
อย่างไรก็ตาม แอปพลิดังกล่าวจะเริ่มใช้ในบิ๊กซี ประเทศไทย และในปี 2566 เตรียมนำไปใช้ที่บิ๊กซี สปป.ลาว และกัมพูชา คาดว่าจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันดิจิทัลในระยะยาว
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 3/65 BJC ระบุมีรายได้รวม 40,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,361 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีกำไรสุทธิ 932 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 565 ล้านบาท
ส่วนงวด 9 เดือน มีรายได้รวม 121,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,455 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายในกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่น เนื่องจากการกลับมาฟื้นตัวของรายได้ค่าเช่า โดยมีกำไรสุทธิ 3,382 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,180 ล้านบาท