มาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดจนส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับลดลง กำลังทำให้เศรษฐกิจจีนเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืด
Bloomberg ประเมินว่าดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของจีนในเดือนตุลาคมจะปรับลดลง 1.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากขยายตัวได้ 0.9% ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตหรือเงินเฟ้อของจีนในเดือนตุลาคมจะขยายตัวที่ 2.4% ลดลงจากระดับ 2.8% ในเดือนก่อนหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ผู้ซื้อบ้านชาวจีนกลับลำ เร่งชำระคืนเงินกู้ที่อยู่อาศัยล่วงหน้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
- ‘จีน’ ผนึก ‘รัสเซีย’ ดันสกุลเงินกลุ่ม BRICS เป็นทางเลือกชำระเงิน หวังคานอำนาจดอลลาร์สหรัฐ
- 10 กองทุนหุ้นจีน ผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือน แกร่งสุด
ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงอุปสงค์ในประเทศของจีนที่อ่อนแอลงจากการเดินหน้าใช้มาตรการ Zero-COVID รวมถึงการส่งออกสินค้าและภาคการก่อสร้างที่ขยายตัวได้ลดลง แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะมีการออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในสินค้าบางประเภท เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม
“เศรษฐกิจจีนกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืด อุปสงค์ในประเทศของจีนกำลังอ่อนแอเป็นอย่างมาก สะท้อนจากต้นทุนการผลิตและเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวลดลง” Raymond Yeung หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Australia & New Zealand Banking Group กล่าว
Julian Evans-Pritchard นักเศรษฐศาสตร์ของ Capital Economics กล่าวว่า ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกบางประเภท เช่น ซีเมนต์ เหล็กเส้น และทองแดงที่ร่วงลงต่อเนื่องในเดือนตุลาคม เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตจีนปรับตัวลดลง โดยมีความเป็นไปได้ที่ PPI ของจีนจะติดลบไปจนถึงปี 2023
การยึดมั่นกับมาตรการ Zero-COVID ของจีนกำลังส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศและเศรษฐกิจชะลอตัวลง อีกทั้งยังทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำซึ่งสวนทางกับสถานการณ์ในหลายประเทศทั่วโลก
“หากพิจารณาจากอุปสงค์ในประเทศที่ย่ำแย่ การที่จีนจะต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืด หรือการมีเงินเฟ้อติดลบก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ กำลังซื้อที่อ่อนแอประกอบกับราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง จะนำไปสู่ภาวะเงินฝืดในที่สุด” Louis Kuijs หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ S&P Global Ratings ระบุ
อ้างอิง: