×

PwC เผย เกือบครึ่งของดีลส์ในเอเชียแปซิฟิก ‘มูลค่าลดลง’ หลังปิดดีลส์ 24 เดือน หลังต้องเผชิญน่านน้ำธุรกิจที่ซับซ้อนขึ้น

03.11.2022
  • LOADING...

PwC เผยรายงานล่าสุด พบการทำดีลส์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความซับซ้อนมากขึ้น หลังต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงและเป็นอุปสรรคต่อการทำดีลส์ให้ประสบความสำเร็จ อีกทั้งความสามารถในการสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งหลังการควบรวมกิจการ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

ทั้งนี้ รายงาน Delivering Deals in Disruption: Value Creation in Asia Pacific ระบุว่า 41% ของผู้ซื้อ (Buyer) และ 63% ของผู้ขาย (Divestor) มีผลประกอบการต่ำกว่าคู่แข่งในช่วง 24 เดือนหลังการปิดดีลส์ โดยพิจารณาจากผลตอบแทนรวมของผู้ถือหุ้นประจำปี (Total Shareholder Returns: TSR)

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


ในขณะเดียวกันเอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นหนึ่งในภูมิภาคหลักที่ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของโลกด้วยปัจจัยเชิงบวกหลายประการ เช่น การถ่ายโอนความมั่งคั่งระหว่างรุ่นที่กำลังขยายตัว การปรับภาคส่วนต่างๆ ให้มีความทันสมัย กระแสการค้าภายในภูมิภาคที่เติบโตขึ้น และการมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) ซึ่งทั้งหมดล้วนกระตุ้นให้เกิดโอกาสในการสร้างมูลค่า (Value Creation) ผ่านการทำดีลส์

 

รายงานของ PwC ยังระบุว่า ไม่น่าแปลกใจที่กิจกรรมการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 3.5 เท่าในช่วงระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา

 

การเติบโตอย่างมีนัยสำคัญนี้ได้รับแรงหนุนจากกองทุน Private Equity (PE) หรือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ ด้วยเงินรอลงทุนรวมกันมูลค่าถึงกว่า 600 พันล้านดอลลาร์ (2.3 ล้านล้านบาท) ในปี 2564

 

เรย์มอนด์ ชาว ประธาน PwC ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า นักทำดีลส์ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันมากกว่าที่เดิมในการต้องส่งมอบคุณค่าให้กับกิจการท่ามกลางกระแสดิสรัปชัน แต่ด้วยโอกาสที่ยังมีอีกมากในการสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน การเปิดมุมมองใหม่ๆ ในการทำดีลส์ จะช่วยปลดล็อกการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดฝันให้เกิดขึ้นได้ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

ทั้งนี้ ภูมิทัศน์ทางธุรกิจในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการของการจัดทำดีลส์ในรูปแบบใหม่ผ่านการสร้างมูลค่าอย่างทั่วถึง มีระเบียบวินัยที่ต้องฝังอยู่ตลอดวงจรชีวิตของการทำธุรกิจ และต้องเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งนักทำดีลส์ที่เราสำรวจต่างเห็นด้วยกับมุมมองนี้

 

การสำรวจพบว่า มีเพียง 29% ของผู้ซื้อกิจการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเท่านั้นที่กล่าวว่าการสร้างมูลค่าถือเป็นภารกิจสำคัญในวันแรก (วันปิดดีลส์) แม้ว่า 66% กล่าวว่า ที่จริงแล้วควรจะเป็นภารกิจสำคัญตั้งแต่ก่อนและหลังปิดดีลส์ เมื่อมองย้อนกลับไป 94% ของดีลส์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากวิธีการสร้างมูลค่าอย่างเป็นทางการ หรือพิมพ์เขียวการควบรวมกิจการสูญเสียมูลค่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาซื้อ

 

เดวิด บราวน์ หัวหน้าสายงานดีลส์ PwC ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวเสริมว่า เอเชียแปซิฟิกถือเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยตลาดยังเห็นการควบรวมกิจการในระดับที่น้อยกว่า และบริษัทส่วนใหญ่มีความพร้อมน้อยกว่า นี่จึงทำให้ธุรกิจมีโอกาสอีกมากที่จะสร้างมูลค่าให้กับกิจการผ่านการทำดีลส์ทั่วทั้งภูมิภาค

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ นักทำดีลส์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกควรทำอย่างไรต่อไป?

ในช่วงที่ผ่านมามีการทำดีลส์เกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการควบรวมกิจการเพื่อสร้างขนาด การตัดขายหน่วยธุรกิจบางส่วนออก ซึ่งบริษัทแม่ขายส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยของบริษัทลูกให้กับนักลงทุนภายนอก การควบรวมเพื่อใช้เป็นตัวเร่งสู่การเปลี่ยนแปลงและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และการขายหุ้นหรือทรัพย์สินบางส่วนของกิจการผ่าน Trade Sales เพื่อเป็นทุนให้กับการขยายตลาดเชิงกลยุทธ์ หรือการทำดีลส์เพื่อขจัดปัญหาทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ และข้อจำกัดเรื่องซัพพลายเชน เป็นต้น

 

ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวได้แนะนำ 6 ข้อควรปฏิบัติ เพื่อให้นักทำดีลส์ได้ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการสร้างมูลค่า ที่ตอบโจทย์ความแตกต่างหลากหลายของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไว้ ดังต่อไปนี้ 

 

  1. จัดลำดับความสำคัญของการสร้างมูลค่า โดยเชื่อมโยงเข้ากับกลยุทธ์และฝังพิมพ์เขียวการควบรวมกิจการที่มีระเบียบวินัย เพื่อส่งเสริมการวางแผนที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

 

  1. เน้นใช้จุดแข็งและความสามารถที่แตกต่าง

 

  1. ทุ่มเทเวลาและความพยายามในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม ธุรกิจ และแนวปฏิบัติของตลาดที่มีความแตกต่างกันไป เพื่อกำหนดกลยุทธ์ด้านบุคลากร

 

  1. ค้นหาคุณค่าจากข้อมูลอย่างต่อเนื่องและควรดำเนินการตั้งแต่เนิ่นๆ

 

  1. ปรับแก้เรื่อง ESG เพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจ 

 

  1. ให้ความสำคัญกับการเตรียมการควบรวม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะไม่ได้มูลค่าเพิ่มที่คาดหวังจากการควบรวม

 

ฉันทนุช โชติกพนิช หุ้นส่วนและหัวหน้าสายงานดีลส์ บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันเราเห็นหลายบริษัทเน้นความสำคัญของการสร้างมูลค่าตั้งแต่วันปิดดีลส์มากขึ้น ซึ่งไม่แตกต่างจากแนวโน้มของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยทีมพัฒนาธุรกิจและทีมกลยุทธ์ขององค์กรได้ผนึกกำลังในการทำงานร่วมกันมากขึ้น เพื่อสร้าง Synergy และเข้ามามีส่วนร่วมในการทำดีลส์ตั้งแต่ต้น

 

รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมก่อนทำการปิดดีลส์แต่ละดีลส์ และมีการติดตามผลหลังจากปิดดีลส์ไปแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ซื้อและผู้ขายจะได้รับสิ่งที่แต่ละฝ่ายคาดหวังหรือตั้งเป้าหมายไว้

 

“ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันนักลงทุนรวมถึงสถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อของไทยยังให้ความสนใจนำแนวคิดด้าน ESG มาใช้ประกอบการพิจารณาการทำดีลส์มากขึ้น แต่การสูญเสียพนักงานที่มีทักษะความสามารถสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการปิดดีลส์ไปแล้ว ยังคงเป็นความท้าทายหลักที่เราเจอเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค”

 

ฉันทนุชกล่าวด้วยว่า ก่อนที่จะทำการปิดดีลส์ ผู้ซื้อและผู้ขายควรมีการเตรียมการเพื่อบูรณาการระบบงานของกิจการภายหลังการควบรวม (Post-Merger Integration) ให้ครอบคลุม ซึ่งหมายรวมถึงการมีแผนการสื่อสารที่ชัดเจนกับผู้มีส่วนได้เสียของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้รับทราบถึงผลกระทบและทิศทางในอนาคตขององค์กรภายหลังการควบรวมกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising