พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชื่อของเขากลายเป็นที่สนใจอีกครั้งหลังลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มานั่งเก้าอี้ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พีระพันธุ์ถูกมองเป็นสายตรงของ พล.อ. ประยุทธ์ เมื่อเขาก็ร่างสร้างพรรค ‘รวมไทยสร้างชาติ’ จึงไม่แปลกที่จะถูกมองว่านี่คือพรรคของ พล.อ. ประยุทธ์ พรรคที่ตั้งมาไว้เป็นสำรองกรณีมีอุบัติเหตุทางการเมือง
THE STANDARD คุยกับพีระพันธุ์ในหลากหลายประเด็นที่สังคมสงสัย และกับทุกคำตอบที่เขาบอกว่าเขาจะตอบแบบตรงไปตรงมา
พีระพันธุ์กับเส้นทางการเมือง: เมื่อกฎหมายเป็นหนึ่งในทุกข์ของประชาชน
“คือความจริงผมไม่คิดที่จะเป็นนักการเมืองเลย จนวันนี้ก็ไม่เคยคิด เพราะผมคิดว่าสิ่งที่ผมคิดไม่ได้คิดเรื่องการเมือง ผมคิดเรื่องงาน”
พีระพันธุ์กล่าวถึงนิยามชีวิตของเขาบนเส้นทางการเมืองกว่า 30 ปี เขาบอกว่าไม่เคยไปทะเลาะกับใคร “เพราะผมรู้สึกว่ามันไม่เป็นประโยชน์อะไรกับชาติบ้านเมือง เคารพความคิดของทุกคน”
คือความจริงผมไม่คิดที่จะเป็นนักการเมืองเลย จนวันนี้ก็ไม่เคยคิด เพราะผมคิดว่าสิ่งที่ผมคิดไม่ได้คิดเรื่องการเมือง ผมคิดเรื่องงาน
“สำหรับผมแล้ว ผมจะไม่ไปเสียเวลากับการไปโต้แย้งทางการเมือง หรือว่าทะเลาะเบาะแว้งกันทางการเมือง ไม่ได้ประโยชน์อะไรกับบ้านเมือง เอาเวลาตรงนั้นมานั่งคิดว่าแก้ปัญหาให้กับประชาชนยังไง แก้ปัญหาให้กับสังคม แก้ปัญหาให้กับชาติบ้านเมืองยังไงดีกว่า”
พีระพันธุ์เล่าถึงวัยเด็กของเขาว่าได้มีโอกาสพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าเยอะ ชอบเดินเล่นแถวสะพานควาย ก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกทุกข์ยาก และคนส่วนใหญ่เขาก็ยังลำบาก ต่อมามีโอกาสไปทำงานเป็นผู้พิพากษา ก็เริ่มเห็นปัญหาว่าทุกข์ส่วนหนึ่งของประชาชนมาจากกฎหมาย
“หลักกฎหมายเขาบอกว่า อ้างความไม่รู้กฎหมายไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงมันไม่มีใครรู้กฎหมาย แม้กระทั่งผู้ถือกฎหมายเองยังรู้กฎหมายไม่หมด หรือคนที่รู้กฎหมายเองรู้กฎหมายไม่หมด แล้วนับประสาอะไรกับประชาชน แต่แน่นอนครับ หลักกฎหมายก็เป็นอย่างนั้น”
พีระพันธุ์เป็นผู้พิพากษาอยู่ 7 ปี ก็เริ่มเห็นปัญหาเหล่านี้ เขามีโอกาสพูดคุยกับคนในวงการตุลาการ โดยส่วนใหญ่จะพูดในทิศทางเดียวกันว่า “สิ่งที่คุณพูดไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่ไม่ใช่หน้าที่เรา”
“คือผมมีความคิดว่ามันควรจะปรับปรุงกฎหมายแบบไหน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ควรจะมีกฎหมายตรงไหนใหม่ๆ เพื่อที่เกิดให้บ้านเมืองมีหลักกฎหมายมากขึ้น เพราะให้เราไปเรียนเมืองนอก ไปเรียนเพื่ออะไร เรียนเพื่อให้เรามีความรู้มา ความรู้นั้นที่เราคิดว่าอะไรที่เป็นครูจะมาใช้ประโยชน์กับชาติบ้านเมืองได้ มันก็ควรจะทำ”
หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ภาพการเมืองและนักการเมืองในเวลานั้นทำให้พีระพันธุ์ตัดสินใจลาออกจากการเป็นผู้พิพากษามาเข้าสู่วงการเมืองจนถึงวันนี้
ที่มาของคำว่า ‘รวมไทยสร้างชาติ’
“ผมขอพูดความจริงเลยนะ เพราะว่าผมก็พูดความจริงมาตลอด แต่ว่าสื่อหลายสำนักเขาก็ไปคิดของเขาเอง”
พีระพันธุ์เริ่มเล่าถึงความเป็นมาของคำว่า ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ซึ่งมาจากคำพูดของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งพูดเรื่องเกี่ยวกับชาติบ้านเมือง ว่ารวมไทยสร้างชาติ ในความหมายคือคนไทยควรจะมาร่วมมือกันสร้างชาติบ้านเมืองให้มันมีความเจริญก้าวหน้า
“ผมได้ยินแล้วผมรู้สึกชอบ ผมประทับใจคำนี้ เพราะผมรู้สึกว่ามันใช่ แล้วมันก็หมดเวลาที่เราจะมาถือสี ถืออะไร แล้วก็ตีไม่รู้จักจบสิ้น สุดท้ายความเสียหายก็คือชาติบ้านเมือง”
แต่แล้ววันหนึ่งก็ปรากฏข่าวว่ามีการไปจดทะเบียนตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยใครตอนนั้นก็ไม่ทราบ ส่วนตัวก็ตกใจว่ามีคนเอาคำนี้ไปใช้แล้ว เพราะว่าตามกฎหมาย ถ้าใครไปจดทะเบียนแล้ว เราไปจดอีกไม่ได้
ในเวลาต่อมาก็ทราบว่าคนที่ไปจดจัดตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติคือ ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี
ซึ่งพีระพันธุ์ระบุว่าเขารู้จักสนิทสนมกันอย่างดี จึงทราบว่า ดร.เสกสกล ชอบคำนี้ และ ดร.เสกสกลคิดว่าเขาต้องรีบจดชื่อนี้ก่อนที่คนอื่นจะไปจดทะเบียนตั้งพรรคนี้
ผมขอพูดความจริงเลยนะ เพราะว่าผมก็พูดความจริงมาตลอด แต่ว่าสื่อหลายสำนักเขาก็ไปคิดของเขาเอง
ขอใช้ชื่อ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ จาก ดร.เสกสกล
“หลังจากที่สถานการณ์บ้านเมืองมันพัฒนาไปหลายรูปแบบ ซึ่งผมก็คิดว่าผมเคยมีความคิด คุยกับเพื่อนๆ ในพรรคเดิมว่าเราอยากเห็นพรรคการเมืองเป็นแบบไหน”
พีระพันธุ์บอกว่าเขาได้ชักชวน ขิง-เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ว่ามาร่วมกันทำพรรคการเมืองกัน ทำในแบบที่เราคิดอยากให้มีให้เป็น โดยเชื่อว่าถ้าประชาชนให้โอกาสก็จะได้เห็นรูปแบบพรรคการเมืองแบบใหม่
“หลังจากที่ได้คุยกับเอกนัฏจนตกผลึกแล้วก็เลยคิดว่า ลองทำกันดู ผมก็เลยนึกถึงพรรคนี้ ว่าถ้าตั้งพรรคความหมายอย่างที่เราคุยกัน ผมเลยคุยกับขิงว่าถ้าความหมายหรือเป้าหมายที่เราอยากทำมันเป็นอย่างนี้ พี่ว่าคำว่า รวมไทยสร้างชาติ นี้มันเหมาะ ขิงเขาก็เห็นด้วยนะ”
ต่อมาเลยได้สอบถาม ดร.เสกกล ว่าตกลงพรรครวมไทยสร้างชาติที่ไปจดทะเบียนไว้ คุณยังจะคิดทำอะไรหรือเปล่า
“ถ้าไม่คิดจะทำอะไร ผมขอเอามาใช้ได้ไหม” ดร.เสกสกลบอกว่า เขายังไม่ได้คิดทำอะไร จึงขอชื่อมาใช้
“สำหรับพี่พีระพันธุ์เอาไปได้เลย” ดร.เสกสกลกล่าวกับเขาระหว่างการพูดคุยขอใช้ชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ
ปลายปี 2564 พีระพันธุ์เริ่มชักชวน พูดคุยกับผู้คนเพื่อมาร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยเขาระบุว่า “เดินมาเงียบๆ” เขาไม่อยากเป็นข่าว กระทั่งการเปิดตัวพรรคเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
มีใครคิดว่าทำขึ้นมาเพื่อเป็นสำรองเป็นอะไร ถ้าคิดแค่นั้นอย่าทำดีกว่า
‘รวมไทยสร้างชาติ’ กับข้อครหาพรรคสำรองของ พล.อ. ประยุทธ์
“มีใครคิดว่าทำขึ้นมาเพื่อเป็นสำรองเป็นอะไร ถ้าคิดแค่นั้นอย่าทำดีกว่า”
พีระพันธุ์เปิดด้วยประโยคนี้ทันทีเมื่อถูกถามถึงข้อครหาการเป็นพรรคสำรองของ พล.อ. ประยุทธ์
“ก็ตามสบาย ก็ผมมีเท่านี้ ผมคิดว่าผมสร้างพรรคมาต้องการสร้างพรรคให้มันเป็นที่ผมอยาก อยากเห็น อยากมีอยากเป็น และผมเชื่อว่าแนวทางนี้คือสิ่งที่ประชาชนอยากให้เป็นเท่านั้นเอง และก็จะทำแบบนั้น นักวิเคราะห์เขาก็ต้องโชว์ความเก่งกล้าสามารถ ความรู้เขาที่เขาจะวิเคราะห์ ก็เชิญตามสบาย แต่เรื่องจริงมีเท่านี้”
พีระพันธุ์ระบุถึงช่วงที่เขาเข้าไปในพรรคพลังประชารัฐ จากการรับปาก พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐว่าจะไปช่วยทำงานในหลายเรื่อง โดยเฉพาะโครงสร้างพรรค
“ที่นี้เมื่อถึงวันนั้นผมต้องไปช่วยแล้ว ถ้าไม่เป็นสมาชิก ผมก็ไปทำผมก็ผิดกฎหมาย พรรคก็ผิดใช่ไหม เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ ผมก็ต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรค และผมก็มีความคิดว่าเมื่อผมเข้าไปนี่ ผมจะทำอยู่เท่านั้น เพราะว่าผมรับปากตรงนั้น ไม่ได้คิดจะไปมีบทบาทในพรรคพลังประชารัฐ
“ผมรับปากผู้ใหญ่ไว้ ผมก็ทำแค่นั้น เมื่อผมทำเสร็จผมก็ไปส่งผลงาน เมื่อไม่มีการแก้ไขผมก็ถือว่างานของผมจบ เมื่องานผมจบผมก็ลาออก
“บางคนก็วิเคราะห์ว่า พีระพันธุ์ไปแล้วก็เข้าไม่ได้ อยู่แค่หน้าประตูห้องรับแขก เข้าห้องรับแขกไม่ได้ คนอย่างผมถ้าผมอยากจะเข้า มีเหรอผมจะเข้าไม่ได้ ปัญหาคือผมไม่ได้อยากจะเข้า ที่วิเคราะห์ว่าผมยืนอยู่หน้าประตูห้องรับแขก ก็ผมอยากจะยืนอยู่แค่นั้น”
ความพร้อมของ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ในสนามเลือกตั้ง ไม่สนกติกา-คาดหวังทุกที่นั่ง-ประชาชนคือคนตัดสิน
“พร้อมครับ ถ้าไม่พร้อมก็คงไม่เปิดตัว”
พีระพันธุ์ระบุว่าพรรครวมไทยสร้างชาติตั้งเป้าส่งผู้สมัคร ส.ส. ครบทุกเขต เขาไม่สนใจพรรคอื่น เพราะสุดท้ายอยู่ที่ประชาชน สิ่งที่พรรคจะนำเสนอ คือนำเสนอสิ่งที่จะมาทำงานให้กับประชาชน
“คนอื่นเขาจะเป็นยังไงก็ปล่อยเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา เหมือนกัน พรรคไหนเขาจะเป็นยังไงจะแข่งอะไรยังไงก็เป็นสิทธิของเขา ต่างคนต่างทำงานกันไป แต่ผมมั่นใจว่าแนวทางของผมนี่ ผมตั้งใจมาทำงานให้ประชาชน ถ้าประชาชนให้โอกาส จะเป็นพรรคการเมือง ซึ่งจะไม่เคยเลยพรรคไหนทำงานบ้าได้ขนาดนี้และช่วยคนขนาดนี้”
เขาบอกว่าหากต้องตอบคำถามความหวังที่นั่ง ส.ส. ก็ต้องบอกว่า ตามหลักของพรรคการเมืองทุกพรรค ก็ต้องบอกว่าคาดหวังทุกที่นั่ง แต่ในความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้ เราไม่สามารถตอบได้ แต่จะทำให้ดีที่สุด
ส่วนเรื่องกติกการเลือกตั้ง พีระพันธุ์บอกว่าเขาอยู่ในสนามการเมืองมากว่า 30 ปี ผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้ง การเลือกตั้งคือเลือกตั้ง บัตรกี่ใบมันไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับประชาชน สุดท้ายก็คือ ประชาชนเดินมาจากบ้าน เข้าคูหากาเลือกตั้ง
“ประชาชนเขาไม่ได้กาว่าถ้าบัตร 2 ใบ กาแบบนี้ 1 ใบกาแบบนี้ สุดท้ายประชาชนเขาก็คิดว่าเขาอยากจะเลือกใคร ต่อให้บัตร 3 ใบเขาก็กาแบบนั้น ใบเดียวเขาก็กาแบบนั้น ดังนั้นบัตรกี่ใบก็ไม่สำคัญ”
สุดท้ายประชาชนเขาก็คิดว่าเขาอยากจะเลือกใคร ต่อให้บัตร 3 ใบเขาก็กาแบบนั้น ใบเดียวเขาก็กาแบบนั้น ดังนั้นบัตรกี่ใบก็ไม่สำคัญ
พีระพันธุ์กับตำแหน่งนายกฯ และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ
“ไม่ฝัน ไม่เคยคิด ไม่สนใจ ไม่ต้องไปตรงนั้นหรอก ตำแหน่งหัวหน้าพรรคก็ไม่ได้สนใจ ผมสนใจเรื่องของงานมากกว่า”
พีระพันธุ์ตอบคำถามเมื่อถามถึงความฝันการเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตำแหน่งสูงสุดทางการ เขาบอกต่อว่า ถ้าเป็นใหญ่เป็นโต มีตำแหน่ง แต่ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมือง ไม่รู้ว่าจะเป็นไปทำไม
“ผมขอเพียงว่าให้มีโอกาส ให้พวกผม พรรครวมไทยสร้างชาติ เข้าไปมีสถานะทางการเมือง ผมจะทำงานให้ชาติบ้านเมือง ผมไม่เป็นนายกฯ ผมก็ทำได้ ในสิ่งผมจะทำ เพราะฉะนั้น ผมไม่เคยสนใจตำแหน่งไหนเลย” พีระพันธุ์กล่าว
ส่วนเรื่องแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พีระพันธุ์ระบุว่า “ถ้าถึงวันนั้นผมเป็นหัวหน้าพรรค ผมก็ต้องเป็นเบอร์หนึ่ง มันก็เท่านั้นเอง มันไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดคาดการณ์ไม่ได้”
ถ้าถึงวันนั้นผมเป็นหัวหน้าพรรค ผมก็ต้องเป็นเบอร์หนึ่ง มันก็เท่านั้นเอง มันไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดคาดการณ์ไม่ได้
การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565