×

เหล่าแรงงานต่างต้องการให้ฟุตบอลโลก 2022 เกิดขึ้น เรื่องราวอีกมุมจากกุนซือทีมชาติอังกฤษ

02.11.2022
  • LOADING...
ฟุตบอลโลก 2022

ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งกำลังจะเริ่มต้นในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาก่อสร้างทุกสิ่งทุกอย่างในดินแดนทะเลทรายแห่งนี้ เพื่อรองรับแฟนฟุตบอลจากทั่วทุกมุมโลก

 

The Guardian สำนักข่าวดังจากอังกฤษ รายงานข่าวพิเศษเกี่ยวกับการเสียชีวิตของแรงงานมากถึง 6,500 คนในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานับจากที่กาตาร์ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเมื่อปี 2010 ซึ่งยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ค่าแรงที่ต่ำเกินที่ควรจะเป็น สภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อแรงงาน ไปจนถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ทำให้แรงงานเหมือนติดอยู่ในกับดัก และมีจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับค่าจ้างเลย

 

ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่หลายประเทศไม่สามารถยอมรับได้ และมีจุดยืนต่อต้านการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กาตาร์มาโดยตลอด แม้ว่าทางด้านเจ้าภาพจะปฏิเสธรายงานทั้งหมดว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดก็ตาม

 

เมื่อฟุตบอลโลกเข้ามาใกล้ เรื่องนี้ก็กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เรื่องราวอีกมุมที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะออกจากปากของหนึ่งในบุคคลที่มีเสียงอันทรงพลังที่สุดในวงการฟุตบอลเวลานี้อย่าง แกเร็ธ เซาธ์เกต ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ หนึ่งในทีมชาติที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก

 

เซาธ์เกตที่จะนำทีมลงสนามในศึกฟุตบอลโลกเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน หลังสร้างเซอร์ไพรส์พาทีมทะลุเข้าถึงรอบรองชนะเลิศในฟุตบอลโลกเมื่อ 4 ปีที่แล้วที่ประเทศรัสเซีย และเกือบสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้จัดการทีมอังกฤษคนแรกที่พาทีมคว้าแชมป์ระดับเมเจอร์ได้นับจาก เซอร์อัลฟ์ แรมซีย์ ที่พาทีมคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกบนแผ่นดินเกิดเมื่อปี 1966 ได้บอกเล่าเรื่องราวของแรงงานในกาตาร์จากสิ่งที่ได้สัมผัสมาด้วยตัวเอง

 

และมันแตกต่างจากภาพที่องค์กรสิทธิมนุษยชนวาดไว้

 

“ผมไปกาตาร์มาหลายครั้ง” เซาธ์เกตเปิดเผยในบทสัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNN “ผมได้เจอกับแรงงานมาเป็นจำนวนมากที่นั่น และพวกเขาก็เป็นหนึ่งเดียวกันในการที่อยากจะเห็นทัวร์นาเมนต์นี้เกิดขึ้น พวกเขาต้องการให้มันเป็นเช่นนั้น เพราะพวกเขารักฟุตบอล พวกเขาอยากให้ฟุตบอลมาที่กาตาร์”

 

เซาธ์เกตยังยืนยันว่า ในฐานะตัวแทนของสมาคมฟุตบอล (อังกฤษ) ได้มีการพูดคุยกับองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาต้องการจะเห็น และพยายามสนับสนุนแนวทางเรื่องของการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ครอบครัวของแรงงานผู้สูญเสีย 

 

“ในอีกหลายปีข้างหน้า ผมรู้ว่าผมจะมองกลับมาในเรื่องนี้ และคิดว่ามันเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ยอดเยี่ยมและเป็นสิ่งที่วิเศษที่ได้ผ่านช่วงเวลาที่นี่ ผมหมายถึงที่สุดแล้วฟุตบอลก็คือทุกสิ่งทุกอย่าง นี่คือเหตุผลที่พวกเรามาอยู่ที่นี่ มันคือสิ่งที่นำพวกเรามา”

 

อย่างไรก็ดี คำพูดนี้ของนายใหญ่ทีมสิงโตคำรามทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรงทันทีจากกลุ่มและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมากมาย 

 

มิงกี วอร์เดน ผู้อำนวยการองค์กร Human Rights Watch ตอบโต้ทันที “อย่างแรก แรงงานอพยพที่กาตาร์ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีอิสระเพราะเรื่องของความปลอดภัย และสมาคมฟุตบอล (อังกฤษ) ควรรับทราบในจุดนี้

 

“อย่างที่สอง แกเร็ธ เซาแธ์เกต และสมาคมฟุตบอล เคยติดต่อแรงงานและครอบครัวจากเนปาล อินเดีย เคนยา หรือที่อื่นที่เสียชีวิตหรือไม่? ทุกครอบครัวที่ต้องรอรับการกลับมาของคนที่หาเลี้ยงครอบครัวที่อยู่ในโลงศพ โดยไม่ได้รับเงินเยียวยาจากฟีฟ่า และกาตาร์คงไม่สามารถมีความสุขกับการเปิดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้หรอก”

 

วอร์เดนยังระบุอีกด้วยว่า การออกมาพูดของเซาธ์เกตในครั้งนี้ ตัวเขาเองไม่มีความเสี่ยงใดที่ต้องเผชิญ แต่ทางด้านแรงงานเหล่านั้นต้องเผชิญความเสี่ยงในการพูดคุยกับเขา ซึ่งรวมถึงการสูญเสียงานหรือการโดนเนรเทศได้ หากพวกเขาพูดในสิ่งที่ทางการกาตาร์คิดว่าผิด

 

ขณะที่ฟีฟ่ายังไม่มีการออกมาให้ความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องของการเยียวยาครอบครัวแรงงานผู้สูญเสียเสาหลักอันเป็นที่รักแต่อย่างใด

 

ทั้งๆ ที่เหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 สัปดาห์แล้วที่ฟุตบอลโลกที่ตะวันออกกลาง บนแผ่นดินทะเลทรายจะเริ่มขึ้น

 

ราวกับลมยังพัด ทรายยังฟุ้ง ไม่อาจมองเห็นภาพใดที่ชัดเจน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X