วานนี้ (25 ตุลาคม) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ระบุเหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นี้ เพื่อใช้เป็นบทบัญญัติในการป้องกันและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรม สร้างความปลอดภัยให้สังคม แก้ไขปัญหาและลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งการตรา พ.ร.บ. นี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
ในหมวดที่ 3 มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด
มาตรา 19 ในคดีที่มีการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 3 ให้พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อป้องกันมิให้กระทำความผิดซ้ำ โดยจะขอรวมกันไปในการฟ้องคดีดังกล่าว หรือก่อนศาลมีคำพิพากษาก็ได้
มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้แก่
- มาตรการทางการแพทย์
- มาตรการอื่นใดตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวงโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ การมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งความรุนแรงของคดี สาเหตุแห่งการกระทำความผิด ประวัติการกระทำความผิด ภาวะแห่งจิต นิสัย และลักษณะส่วนตัวอื่นของผู้กระทำความผิด ความปลอดภัยของผู้เสียหายและสังคม โอกาสในการกระทำความผิดซ้ำ และการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด
ในการไต่สวน ศาลอาจเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณารับฟังคำคัดค้านของผู้กระทำความผิด หรือมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติดำเนินการสืบเสาะ และพินิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุมประพฤติก็ได้ ให้ศาลระบุเหตุผลในการออกคำสั่ง พร้อมทั้งคำสั่งให้ใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดไว้ในคำพิพากษา และให้ระบุคำสั่งไว้ในหมายจำคุกด้วย
ส่วนหมวดที่ 4 มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ระบุไว้ว่า มาตรา 22 เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นักโทษเด็ดขาดซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิดในความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 3 จะกระทำความผิดซ้ำภายหลังพ้นโทษ
ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษตามที่พนักงานอัยการร้องขอ โดยกำหนดมาตรการเดียวหรือหลายมาตรการตามควรแก่กรณีก็ได้ มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ได้แก่
- ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหายจากการกระทำความผิด
- ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด
- ห้ามเข้าเขตกำหนด
- ห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
- ห้ามก่อให้เกิดอันตรายต่อละแวกชุมชนที่ตนพักอาศัย
- ให้พักอาศัยในสถานที่ที่กำหนด
- ให้พักอาศัยในสถานบำบัดที่กำหนด หรือให้ไปอยู่ภายใต้การดูแลในสถานบำบัดภายใต้การดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้รับการรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุขตามที่ศาลเห็นสมควร
- ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน หรือผู้ดูแลสถานที่พักอาศัยหรือสถานบำบัด
- ให้มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ หรือได้รับการเยี่ยมจากพนักงานคุมประพฤติ หรืออาสาสมัครคุมประพฤติ หรือเจ้าหน้าที่อื่นตามระยะเวลาที่กำหนด
- ให้ใช้มาตรการทางการแพทย์ หรือมาพบหรือรับการตรวจรักษาจากแพทย์หรือบุคคลอื่นใดตามที่ศาลหรือพนักงานคุมประพฤติกำหนด
- ให้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูแก้ไข หรือเข้าร่วมกิจกรรมตามที่ศาลหรือพนักงานคุมประพฤติกำหนด
- ให้แจ้งพนักงานคุมประพฤติทราบถึงการเปลี่ยนสถานที่ทำงานหรือการเปลี่ยนงาน
- ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวในการเฝ้าระวัง
ศาลอาจกำหนดระยะเวลาการเฝ้าระวังในแต่ละมาตรการตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันพ้นโทษ
ทั้งนี้ มาตรการทางการแพทย์คือการให้ยากดฮอร์โมนเพศชาย (ฉีดให้ฝ่อ)