บมจ.พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น หรือ PCC เข้าซื้อขายวันแรกวันนี้ (21ตุลาคม) และได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ราคาเปิดการซื้อขายวันแรกขยับ 0.50% ขณะที่บริษัทวางเป้าหมายรายได้ปีนี้ 4 พันล้านบาท และจะรักษาแบ็กล็อกไว้ที่ระดับ 2.4 พันล้านบาท พร้อมเดินหน้าขยายกำลังการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มอีก 3 เท่าภายใน 2 ปี ด้านนักวิเคราะห์ชี้กำไรโตต่อเนื่องอีก 3 ปีข้างหน้า พร้อมประเมินราคาเป้าหมายปี 2566 ไว้ที่ 4.70 บาท
หุ้น บมจ.พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น หรือ PCC เข้าซื้อขายวันนี้เป็นวันแรก และได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนพอสมควร โดยเปิดการซื้อขายที่ราคา 4.02 บาท เพิ่มขึ้น 0.02 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.50% จากราคา IPO ที่ระดับ 4.00 บาท ขณะที่ตลาดหุ้นไทยโดยรวมอยู่ในแดนบวกตั้งแต่ช่วงเปิดตลาด จากนั้นดัชนีค่อยๆ หักหัวลงสู่แดนลบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดรายชื่อ ‘10 บลจ. ของไทย’ ควักเงินจองซื้อหุ้น IPO ‘เบทาโกร’ หรือ BTG วงเงินรวมกันกว่า 3.63 พันล้านบาท
- อัปเดต 7 หุ้น พอร์ต เซียนฮง สถาพร งามเรืองพงศ์ มูลค่า 6.14 พันล้านบาท
- 10 หุ้น ขึ้น XD จ่ายเงินปันผลสูงสุดในรอบเดือน ก.ย. 65
ส่วนหุ้น PCC หลังจากเข้าซื้อขาย 30 นาทีแรก ราคาหุ้นก็ปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาจอง โดย ณ เวลา 12.07 น. ราคาหุ้นซื้อขายอยู่ที่ 3.98 บาท ลดลง 0.02 บาท หรือ 0.50%
ทั้งนี้ PCC ดำเนินธุรกิจโดยการถือหุ้นบริษัทอื่น (Holding Company) ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก คือ 1. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ในระบบจ่ายไฟฟ้า 2. ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง รวมถึงผลิตและติดตั้งระบบควบคุม และ 3. ลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน
PCC มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วหลัง IPO 1,226.62 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 919.62 ล้านหุ้น และหุ้น IPO จำนวน 307 ล้านหุ้น โดยเสนอขายในราคาหุ้นละ 4.00 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1,228 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 4,906.48 ล้านบาท
กิตติ สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น หรือ PCC เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ารายได้ในปี 2564 จะสามารถทำได้ในระดับ 4,000 ล้านบาท หลังจากในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 มีรายได้รวมแล้วประมาณ 1,727 ล้านบาท และปัจจุบันนี้บริษัทมียอดขายสินค้าอุปกรณ์ Smart Grid และงานรับเหมารวมกันประมาณ 2,400 ล้านบาท
ในช่วงครึ่งหลังของปีจะเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ Smart Grid และงานรับเหมาในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยจะสามารถรับรู้รายได้จากงานในมือประมาณ 1,200 ล้านบาท จากที่มีอยู่กว่า 2,400 ล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนในอนาคตที่จะเข้าประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาระดับงานในมือไว้ที่ประมาณ 2,400 ล้านบาท
นอกจากนี้ PCC อยู่ระหว่างเพิ่มกำลังการผลิตของหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายอีก 3 เท่า หรือคิดเป็นกำลังการผลิตรวมประมาณ 1,080 MVA ต่อปี ภายในปี 2567 และเพิ่มกำลังการผลิตตัวถังหม้อแปลงไฟฟ้า จากกำลังการผลิตประมาณ 2,000 ถังต่อปี เพิ่มเป็นประมาณ 7,500 ถังต่อปี
รวมถึงเพิ่มกำลังการผลิตตู้โลหะสำหรับตู้สวิตช์เกียร์ และตู้สวิตช์บอร์ด อุปกรณ์ควบคุม จากกำลังการผลิตประมาณ 2,000 ตู้ต่อปี เพิ่มเป็นประมาณ 3,200 ตู้ต่อปี ส่วนโครงการโรงงานผลิตในประเทศกัมพูชา คาดว่าเริ่มผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ได้ในต้นปี 2566
อีกทั้งบริษัทยังมีศักยภาพการเติบโตในอนาคตได้อีกมาก จากการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยของการไฟฟ้า ซึ่งมีกรอบระยะเวลาการลงทุนกว่า 10-17 ปี โดยมีแผนการลงทุน (2558-2579) ประมาณ 2 แสนล้านบาท
นักวิเคราะห์คาดกำไรสุทธิโตเฉลี่ย 28% ในรอบ 3 ปี
บล.กสิกรไทย ระบุว่า กำไรสุทธิของ PCC จะเติบโตขึ้น 38%, 38%, และ 10% ภายในปี 2565, 2566, 2567 ตามลำดับ หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 28% โดยกำไรที่เติบโตแข็งแกร่งในปี 2565 จะมีแรงขับเคลื่อนหลักจากฐานที่ต่ำเพราะวิกฤตโควิดเมื่อปีที่แล้ว
ในขณะที่รายได้และอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) และสัดส่วนค่าใช้จ่าย SG&A ที่ลดลงจากการประหยัดต่อขนาดที่ดีขึ้น จะช่วยผลักดันการเติบโตของกำไรในปี 2566-2567 ซึ่งทำให้ราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ 4.70 บาทต่อหุ้น หรือสะท้อนเป้า Market Cap ที่ 5.8 พันล้านบาท